สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ปีแห่งการร่วมสร้างหุ้นส่วนนวัตกรรมเพื่อนำไทยสู่ชาตินวัตกรรม "Innovation Partnership - Together We Grow" เพราะการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมภาคการผลิตหรือภาคบริการ ให้มีโอกาสได้พัฒนาเป็น Innovation-based Enterprise นั้นถือเป็นพันธกิจหลักที่สำนักงานได้ดำเนินการตลอดมา ที่ผ่านมาสำนักงานได้ทำหน้าที่ทั้ง “บูรณากรเชิงระบบ” (System Integrator) เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนภายใต้ระบบนวัตกรรม จนกระทั่งปรับบทบาทสู่ “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม” (Focal Facilitator) โดยทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ผสานและนำทางให้เกิดความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อทำให้นวัตกรรมเป็นเรื่องที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้และมีส่วนร่วมที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศได้ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนนวัตกรรม”
ปีแห่งการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเมืองหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน แม้ว่าทุกประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่ทุกประเทศไม่สามารถที่จะหยุดเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเมืองหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งการเปิดเมืองจะเป็นการเชื่อมโลกและประเทศไทยกลับมาด้วยกัน เพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยมีเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ซึ่งมีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมจากทั่วโลกเพื่อฟื้นฟูให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ต่อไป
รายงานประจำปี 2564 ปีแห่งการยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก...ด้วยนวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคต หรือ “Deep Tech Rising…The Next Frontier of Innovation” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) จึงกลายเป็น “คำตอบ” ของการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับแต่ละประเทศในระยะยาวเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยและสร้างภูมิคุ้มกันในการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกในอนาคตได้
รายงานประจำปี 2563 ปีแห่งนวัตกรรมในภาวะวิกฤต หรือ Innovation in Time of Crisis ปีที่ “นวัตกรรม” พาเราก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศ ได้ดำเนินการตามแนวทางการฟื้นฟูและบรรเทาวิกฤต โดยนำงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ระบบการติดตาม ระบบสุขภาพทางไกล การเว้นระยะห่างทางสังคม และการบริหารจัดการอุปทาน ตามนโยบายในการจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงด้วยนวัตกรรมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
รายงานประจำปี 2562 (ปีแห่งนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation) นวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation สามารถนำไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ช่วยให้การใช้ชีวิตในสังคมเมืองมีความสุขขึ้น รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของเมือง โดยแนวคิด Social Innovation in the City เพื่อสื่อถึงการเกิดขึ้นของสังคมเมืองในปัจจุบันและการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมามากมาย ซึ่งได้นำเสนอนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสังคมต่างๆ ที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง…ใจกลางกรุงเทพฯ แสดงถึงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่มีความหลากหลายมากที่สุดที่รวบรวมผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมในงานเดียว ตั้งแต่เด็ก วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส
สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2561 ปีแห่งการทูตนวัตกรรม หรือ Innovation Diplomacy ถือได้ว่าเป็น กลไกสร้างความตระหนักและการรับรู้ต่อศักยภาพทางนวัตกรรมของระบบนวัตกรรมไทย ที่เน้นย้ำต่อ อัตลักษณ์ใหม่ ของนวัตกรรมไทย การทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ในประเทศกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างสะพานเชื่อมระบบนวัตกรรมโลก เป็นการเปิดโอกาสให้วิสาหกิจไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันเพื่อพัฒนาตลาดทุนทางนวัตกรรมของกลุ่มทุนไทย
สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2560 “ปีแห่ง...นวัตกรรม 360 องศา (Innovation 360)” โดย สนช. ได้มีการขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมการพัฒนานวัตกรรมในหลากหลายด้านเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อบริบทที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงอย่างในปัจจุบัน โดยเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม 2. การพัฒนาบริษัทนวัตกรรม 3. การลดความเหลื่อมล้ำ 4. การสร้างการรับรู้ด้านนวัตกรรม สร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประชาสังคม และ 5. การพัฒนาความรู้และฐานข้อมูล ตีพิมพ์เมื่อ : มิถุนายน 2561
ตีพิมพ์เมื่อ : ตุลาคม 2559 สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559 “ปีแห่ง...การส่งเสริมสตาร์ทอัพ” เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการสร้างสตาร์ทอัพในระดับนานาชาติ โดยเป็นการระดมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของประเทศให้มาเป็นแนวร่วมในการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มสตาร์ทอัพขึ้นในประเทศไทย และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มพัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 98 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 141,848,360 บาท อันก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 854,525,615 บาท
ตีพิมพ์เมื่อ : พฤษภาคม 2559 สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2558 “ปีแห่ง...การวิศวนวัตกรรม (Innovationeering)” เพื่อปรับโครงสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน บนความร่วมมือในทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มพัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 75 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 107,637,404 บาท อันก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,503,399,244 บาท
ตีพิมพ์เมื่อ : กรกฎาคม 2558 สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2557 “ปีแห่งการเผยแพร่...นวัตกรรมสู่สากล” เพื่อนำเสนอคุณค่านวัตกรรมของประเทศไทยให้ประจักษ์ในระดับสากล ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนในการนำผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยผู้ประกอบการไทยไปนำเสนอและเข้าร่วมประกวดรางวัลระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มพัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 90 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 80,489,637 บาท อันก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,106,745,802 บาท
ตีพิมพ์เมื่อ : มีนาคม 2557 สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2556 “ปีแห่งการสร้าง...ธุรกิจนวัตกรรมสู่ AEC” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยยังคงความสามารถของการเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มพัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 84 โครงการ โดยมีวงเงินสนับสนุนรวม 82,945,152 บาท อันก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,043,720,027 บาท
ตีพิมพ์เมื่อ : มีนาคม 2556 สรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2555 “ปีแห่งการก้าวสู่...เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยการใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มพัฒนาและให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรม จำนวน 261 โครงการ ด้วยวงเงินสนับสนุนรวม 120,245,422 บาท อันก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 2,278,063,488 บาท