สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Soft Power : พลังหนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

บทความ 3 กุมภาพันธ์ 2565 7,627

Soft Power : พลังหนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

จากกระแสความชื่นชม MV ของศิลปินลิซ่า ที่มีการสอดแทรกงานหัตถศิลป์ และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมียอดผู้ชมกว่า 100 ล้านวิว เชื่อว่านี้คือตัวอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มุ่งหวังสร้างอำนาจอ่อน หรือ Soft power ให้กับประเทศ โดยอาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวคนไทยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในวงกว้าง สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมด้านดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการ (Music, Art & Recreation)

MAR Tech คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ มาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมนันทนาการ โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ (Hardware) แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม หรือระบบดิจิทัล (Software) ควบคู่กัน และอาจรวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, เทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจริง AR,VR และเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล (Block chain) เป็นต้น โดยมีตัวอย่างกิจกรรมในแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  • ดนตรี (Music) : การใช้เสียงที่มีแบบแผนเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้สึกไปยังผู้ฟัง
  • ศิลปะ (Art) : สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อแสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ แบ่งเป็นงานศิลปะและงานสื่อสาร เช่น ศิลปะการแสดง, สถาปัตยกรรม, แฟชั่น, ภาพยนตร์, การโฆษณา เป็นต้น
  • กิจกรรมนันทนาการ (Recreation) : งานอดิเรก เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี โดยมีกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยว เกมส์ หรือกีฬา เป็นต้น

ตัวอย่าง MAR Tech

สำหรับตัวอย่างเทคโนโลยีที่ช่วยเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานที่มอบประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภค และการพัฒนางานสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่

  • การนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การแต่งเพลง การเขียนหนังสือ การเรียนรู้ความสนใจของผู้บริโภคเพื่อจัดส่งเนื้อหาให้กับผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการออกแบบเสื้อผ้า เป็นต้น 

Amadeus Code ตัวอย่างแอปฯ ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการแต่งเพลง

 

  • AR/VR เทคโนโลยีการสร้างโลกเสมือนจริงที่สร้างประสบการณ์สามมิติเสมือนผู้ชมสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงผ่านอุปกรณ์ที่จะส่งผลต่อการเล่าเรื่องและการสื่อสาร ซึ่งทำให้ผู้รับสารมีความรู้สึกร่วมกับผลงานมากยิ่งขึ้น เช่น การเล่นเกมวีดีโอ การชมคอนเสิร์ต การเล่นกีฬา หรืองานออกแบบต่างๆ

 

  • Blockchain จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ผลงานหรือการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ โดยขจัดตัวกลางระหว่างศิลปินและผู้บริโภค เช่น การทำสัญญาและการดูแลสิทธิประโยชน์ของศิลปินง่ายขึ้น ผู้สร้างผลงานมีอิสระในการกำหนดราคาให้มีความเหมาะสมกับเนื้อหาในแต่ละช่วงเวลาโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามการใช้ผลงานสร้างสรรค์ในช่องทางต่าง ๆ ได้ แม้จะถูกนำไปใช้ในบริบทเล็กๆ ก็ตาม

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้าน MARTech และการพัฒนานวัตกรรมด้านเนื้อหารูปแบบใหม่ให้สามารถสร้างสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้จัดประชุม Town hall เพื่อร่วมกันจัดทำสมุดปกขาวการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นด้าน MARTech ขึ้น ซึ่งได้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับโอกาสการร่วมมือในการผลักดัน MAR Tech startup ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นจากเดิม 4.43% (มูลค่า 1.12 ล้านล้านบาท) เป็น 6.43% (มูลค่า1.53 ล้านล้านบาท) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมุดปกขาวโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยี ด้านดนตรี ศิลปะและกิจกรรมนันทนาการ

 

ปัญหาและอุปสรรคในการสร้าง Soft power และส่งเสริมอุตสาหกรรม MAR Tech

ทั้งนี้ พบว่าประเด็นปัญหาและอุปสรรค สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 

  1. ปัญหาในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยังขาดการศึกษาข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละสาขา การวิเคราะห์สถานการณ์ กระแสต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการผลิตสินค้า คอนเทนต์ และบริการให้ตรงความต้องการผู้บริโภค รวมถึงการรับรองมาตรฐานวิชาชีพในอุตสาหกรรม MAR Tech ที่ยังไม่ชัดเจนจึงทำให้ขาดแคลนบุคลากรและผู้เชียวชาญ 
  2. ปัญหาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น เช่น เทคโนโลยีเชิงลึก ที่อุปกรณ์และเครื่องมือมีราคาสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูง ผู้ประกอบการจึงไม่กล้าลงทุน ซึ่งหากหน่วยงานรัฐหรือมหาวิทยาลัยมีพื้นที่หรือเครื่องมือสำหรับการพัฒนาและทดลองระบบสร้างต้นแบบ ควรเปิดให้บุคลากรภายนอกเข้าใช้บริการ ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้เกิดบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และ 
  3. ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐยังมีจำกัดแม้ว่าจะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้ที่เดียว เพื่อความง่ายในการค้นหาและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่ยังขาดความครบถ้วนและอัพเดตให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงการผูกขาดทางการค้าโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มักจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม เกิดการผูกขาดทางการค้า และขัดขวางการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเพราะอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจเดิมของตน

 

ดังนั้น การสร้าง Soft power และส่งเสริมอุตสาหกรรม MAR Tech ให้ขับเคลื่อนเศรฐกิจไปได้ไกลกว่านี้ NIA จึงได้เดินหน้าทำกิจกรรม พร้อมทั้งจัดหาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการเติบโต MAR Tech startup รวมถึงการมองหาพันธมิตรและสร้างเครือข่ายที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรม MAR Tech ไปด้วยกัน 

 

อ้างอิงข้อมูล

https://www.fungjaizine.com/quick_read/snacks/ai-make-songs 

 

บทความโดย 

กวนลี่ พันธุ์ นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ