สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมไทยไม่หยุดแค่ในประเทศ เปิดกลไก New “G” ขยายผลแนวคิด Groom - Grant – Growth – Global

19 กันยายน 2567 655

นวัตกรรมไทยไม่หยุดแค่ในประเทศ เปิดกลไก New “G” ขยายผลแนวคิด Groom - Grant – Growth – Global


🗺 ในยุคที่พรมแดนของโลกแคบลง ผลงานดี ๆ ของคนไทย ควรมีโอกาสเข้าถึงตลาดโลก

📈 ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่งผลให้ธุรกิจสร้างข้อได้เปรียบเชิงการค้าระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น การขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่น ๆ ก่อให้เกิดผลดีทั้งในมุมของผู้ประกอบการไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง NIA ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของนวัตกรรมฝีมือคนไทย รวมถึงเชื่อมั่นว่า “นวัตกรรมไทยสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้”

🚩 จึงเป็นที่มาของกลไกการสนับสนุนใหม่ “NEW G” ที่ต่อยอดจากแนวคิด Groom - Grant – Growth เดิม โดยได้เพิ่มความเข้นข้นการสนับสนุนไปสู่ตลาด Global เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนวัตกรรมไทย ได้ขยายผลการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างเครือข่ายนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็น “ชาตินวัตกรรม” 

👉 แม้จะมีการเพิ่ม Global เข้ามาเป็นกลไกใหม่ แต่ที่ผ่านมา NIA ก็ได้มีการทำงานสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการไทย 
ให้มีความพร้อมและเติบโตออกไปสู่ตลาดระดับสากล ภายใต้แนวคิด Groom Grant Growth มาโดยตลอด ซึ่งแต่ละรูปแบบจะเป็นการทำงานแบบใดกันบ้าง ไปติดตามกันได้เลย !



✍ การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมไทยไปสู่ Global รากฐานสำคัญคือ “องค์ความรู้”

💻 NIA มีช่องทางในการสนับสนุนเพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้นวัตกรรม ผ่าน “NIA Academy” หรือสถาบันวิทยาการนวัตกรรมที่พัฒนาขีดความสามารถและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ผ่าน 16 หลักสูตรสร้างนวัตกร ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยฐานคิดนวัตกรรม ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่กลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ SMEs ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยวางรากฐานองค์ความรู้ด้านสตรีมศึกษา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ บูรณาการทั้งศาสตร์และศิลป์ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน “STEAM4INNOVATOR” ตั้งแต่กลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Based Enterprise: IBE) ซึ่งหลังจากปรับบทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมหรือ “Focal Conductor” ก็ได้เพิ่มความเข้มข้นโดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมไทย-จีน เอ็กแลป ดิจิทัล จำกัด องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ฯลฯ ในการจัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะและออกแบบหลักสูตรร่วมกัน โดยปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมอบรมบ่มเพาะในรูปแบบ Online ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตนเอง NIA Academy MOOCs กว่า 70,000 ราย และ Onsite กว่า 1,000 ราย

🌱🌎 ยกตัวอย่างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อขานรับเทรนด์โลกอย่าง ‘ESG’ ซึ่งได้ร่วมมือกับธนาคารออมสินออกแบบหลักสูตร “การสร้างกรอบแนวคิดธุรกิจใหม่และการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development, ESG and Business Model Development Programme” เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญในการทำธุรกิจให้มีรายได้ ควบคู่ไปกับกับการใส่ใจผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การสนับสนุนระบบนิเวศนวัตกรรม NIA ยังมีการวางรากฐานสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ หรือ Startup Thailand League ที่มีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยกว่า 48 แห่งทั่วประเทศ ในรูปแบบของการแข่งขันประกวดโมเดลธุรกิจ  ซึ่งความสำเร็จของโครงการสามารถผลักดันจากไอเดียนวัตกรรมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง สะท้อนผ่านจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนถึง 80 แห่ง และสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจกว่า 100 ล้านบาท



🪙บทบาทสำคัญที่ NIA มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการและขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรม ก็คือกลไกการสนับสนุนทางการเงิน หรือ “การให้ทุน” 

📈โดยในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา NIA มีการพัฒนากลไกการสนับสนุนเงินทุนรูปแบบใหม่ เพื่อเติมเต็มและตอบโจทย์การขยายผลธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตและออกสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงขยายสู่ตลาดต่างประเทศด้วย ผ่าน 7 กลไกหลัก ได้แก่ 1. กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validate) 2. กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) 3. กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND) 4. กลไกการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจนวัตกรรม (Standard Testing) 5. กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) 6. กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Matching Interest for Working Capital)  และ 7. กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding) 

✅โดยกลไกทุนที่ช่วยสนับสนุนผู้ให้ประกอบการไปสู่ระดับ Global มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ‘Standard Testing’ กลไกการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจนวัตกรรม ที่เล็งเห็นว่าการขยายตลาดไปต่างประเทศ ต้องผ่านด่านการขอใบรับรอง การประเมินมาตรฐาน ทุนนี้จึงเกิดขึ้นให้ธุรกิจนำไปใช้จ้างที่ปรึกษา เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้พร้อมรับการตรวจสอบ ที่ต้องใช้สำหรับการขอขึ้นทะเบียนและประเมินการรับรองมาตรฐาน 

📑 หรืออีกกลไกในการขยายธุรกิจนวัตกรรม ‘Market Expansion’ ที่มีไว้รองรับการทดสอบผลงานนวัตกรรมในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ซึ่งจะสามารถใช้ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ และยังมี ‘MIND’ กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำหรับจ้างที่ปรึกษาเพื่อการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน รวมไปถึงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการขยายผลธุรกิจเข้าสู่ตลาดสากล

🤝 ทั้งนี้ ยังมีกลไกใหม่ที่จะมาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของสตาร์ทอัพและนักลงทุน นั้นก็คือ Corporate Co-funding 
การร่วมมือจากแหล่งทุนของภาครัฐและเอกชนทั้ง VC, CVC, University holding ในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยกลไกนี้จะช่วยให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงเม็ดเงินลงทุนที่มากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุน จากเม็ดเงินจำนวนหนึ่งของภาครัฐในการระดมทุนร่วมกัน ซึ่ง NIA ได้ร่วมกับ BOI และ FTI ในการสนับสนุนธุรกิจ ขับเคลื่อนสตาร์ทอัพให้เข้าสู่ Growth Stage และสามารถขยายการเติบโตไปสู่ระดับ Global ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 



🧑‍💻 เมื่อมี “องค์ความรู้” และ “เงินทุน” แล้ว...กลไกต่อมาที่ NIA ให้การสนับสนุนคือ เร่งสร้างการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่าน ‘Accelerator Program’ ใน 4 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีอาหารหรือ FoodTech ภายใต้โครงการ SPACE-F สำหรับบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลก ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 5 เทคโนโลยีเกษตรหรือ AgTech ภายใต้โครงการ AGrowth บ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมเกษตรระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั่วโลกในการส่งผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งจะขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกต่ออนาคตอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย เทคโนโลยีด้านสุขภาพภายใต้โครงการ Health Tech Acceleration program และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้โครงการ Climate Tech Acceleration program ซึ่งเป็น 2 โครงการใหม่ที่เริ่มดำเนินการในปีนี้ และ

🦄 นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมระดับภูมิภาคผ่านโครงการ ‘นิลมังกร 10X’  ที่มุ่งสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี โดยการดำเนินงานก็จะมีการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ การบริหารจัดการการเงิน การวางแผนธุรกิจ และการตลาด ที่จะช่วยในการผลักดันให้เข้าสู่ตลาดทุนได้สำเร็จ 



🌍 ก้าวต่อไปของนวัตกรรมไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยโตไกลระดับโลก!!

✈ ในความมุ่งมั่นที่จะผลักดันผู้ประกอบไทยสู่ตลาดสากล NIA จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับสากลผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับหน่วยงานระดับประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนองค์ความรู้ เงินทุน และสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพของทั้งสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างชาติ

เชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดสากลให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านโปรแกรม “Investment Link” ที่ผู้ประกอบการจะได้เข้าร่วมงานแสดงผลงานนวัตกรรมระดับโลก เพื่อขยายตลาดและแสดงศักยภาพของนวัตกรรมไทยสู่สากล และยังมี “Global Startup Hub” ซึ่งเป็น Community ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ให้กับสตาร์ทอัพต่างชาติ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา กิจกรรมขยายเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมโยงกับนักลงทุนหรือบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่าง Capital Gain Tax และการรับรอง Smart Visa  

พร้อมกับการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching, Business Networking และเวที Pitching เพื่อให้สตาร์ทอัพได้พบปะกับนักลงทุน รวมถึงมีโปรแกรม Landing Pad ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายตลาดในประเทศเครือข่ายที่เรามีความร่วมมือ เช่น  Vienna Startup Package, The Scaleup Impact! Thailand - Sweden Global Startup Acceleration Program

การเพิ่มกลไก Global นี้ นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดสู่ตลาดสากลแล้วยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://smes.academy/blog/post/กลยุทธ์ในการเข้าสู่ธุรกิจระหว่างประเทศ 
https://mgronline.com/science/detail/9670000060277 
https://moocs.nia.or.th/gsb2024 
https://www.nia.or.th/new-financial-support-grant-mechanism-2023 
https://www.nia.or.th/Mandatory-Innovation 
https://techsauce.co/tech-and-biz/get-to-know-accelerator-program 
https://www.facebook.com/NIAThailand/videos/436261296128769