สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ปรับโฉมกลไกการเงิน 300 ล้าน เปิดทางเอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ – วิสาหกิจเพื่อสังคม – วิสาหกิจชุมชน เข้าถึงแหล่งทุน

News 15 ตุลาคม 2566 2,912

NIA ปรับโฉมกลไกการเงิน 300 ล้าน เปิดทางเอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ – วิสาหกิจเพื่อสังคม – วิสาหกิจชุมชน
เข้าถึงแหล่งทุน ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม 3,000 ล้าน 

สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เร่งเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP และการสร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ปรับโฉมการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และวิสาหกิจชุมชนผ่านกลไกการเงินภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท โดยมุ่งต่อยอดพัฒนาด้านการตลาด การนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน และสามารถดำเนินธุรกิจได้ในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวกลไกทุนสนับสนุนรูปแบบใหม่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม NIA จึงเร่งสร้างบริษัทนวัตกรรมทั้งในกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และผลักดันให้โครงสร้างธุรกิจมีความแข็งแกร่ง โดยมี “แหล่งเงินทุน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงได้ง่ายและได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึง ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากนวัตกรรมแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศก้าวไปสู่ 30 อันดับแรกของประเทศชั้นนำที่มีนวัตกรรมที่ดีที่สุดในโลกภายในปี 2570 อีกด้วย

 

“การจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตด้านการวิจัยและพัฒนาในธุรกิจนวัตกรรม ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญอย่างมากกับบทบาทการเพิ่มสัดส่วนการลงทุน – ผู้กำหนดกลไกกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการใช้จ่ายและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ NIA เข้าใจดีว่ายังมีเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพบางส่วนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนเนื่องด้วยอุปสรรคหลากหลายประเด็น เช่น การเขียนแผนธุรกิจ วัตถุประสงค์การขอรับเงินทุนหรือสินเชื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี ความเป็นไปได้ด้านตลาด ฯลฯ ดังนั้น NIA จึงมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนกลไกการสนับสนุนให้สอดรับกับความต้องการของเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจนวัตกรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปิดช่องว่างและเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรมมีความแข็งแรงตั้งแต่ก่อนขอรับทุนด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้คำปรึกษาตั้งแต่การเขียนข้อเสนอโครงการจนถึงการทำให้นวัตกรรมมีความสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบสำคัญทั้งด้านความพร้อมของเทคโนโลยี การตลาด รวมถึงการต่อยอดในอนาคต ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการกลไกใหม่นี้ทั้งในกลุ่มนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและกลุ่มนวัตกรรมเพื่อสังคม ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในทุกเครือข่าย”

 

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA มีเป้าหมายในการเป็นผู้กำหนดทิศทางและอำนวยความสะดวกทางการเงินนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและตอบสนองความต้องการของสังคม สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านกลไกสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่และเชื่อมต่อกับพันธมิตรด้านการเงินนวัตกรรม การลงทุน และตลาดนวัตกรรม เพื่อการเติบโตของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้มีการปรับโฉมกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชนไทยผ่านแพคเกจใหม่ โดยปรับเพิ่มการพัฒนาด้านการตลาดให้มากขึ้น ทั้งการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน การทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะมีผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เงินทุนสนับสนุนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมของ NIA นอกจากจะได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว อีกส่วนหนึ่งได้มาจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในฐานะ Program Management Unit (PMU) สำหรับดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สนับสนุนเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการผลิตและสร้างต้นแบบนวัตกรรมเพื่อทดสอบหรือนำร่องเป็นหลัก 

 

ด้าน ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่ากลไกการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของ NIA ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เอื้ออำนวยให้ผู้รับทุนมีความสามารถและศักยภาพพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเป็นหลัก (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการสนับสนุนร้อยละ 95 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) โดยมีผู้รับทุนสนับสนุนในด้านการขยายผลนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้ผู้รับทุนส่วนหนึ่งมักประสบปัญหาที่ไม่สามารถขยายผลโครงการระดับเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กอปรกับการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นผู้บริหารและจัดสรรกองทุน ววน. ได้มองเห็นศักยภาพและความสามารถของ NIA ในการทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมอบหมายให้ NIA สนับสนุนการทำงานในด้านการผลักดันนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชยฺ์ที่จะนำมาซึ่งรายได้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม NIA จึงพัฒนากลไกการสนับสนุนของสำนักงานฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ในรูปแบบใหม่เพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม 

สำหรับกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนใหม่นี้ จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขยายตลาดใหม่ และเติบโตอย่างก้าวกระโดด อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และจะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของชุมชุน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

 

ดร.สุรอรรถ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ได้ออกแบบและพัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงินทั้งสิ้น 7 กลไก โดยจะเพิ่มการสนับสนุนที่ช่วยให้สามารถนำนวัตกรรมไปสู่ตลาดให้มากขึ้น ทั้งการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด การตรวจสอบมาตรฐาน การทดลองตลาด และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เพื่อทำให้นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาสามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกได้จริง ได้แก่ 

 

1) กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม ให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์และฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 

 

2) กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายมากขึ้น การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุน 

 

3) กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Managing Innovation Development: MIND) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ 

 

4) กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง (Standard Testing) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ สำหรับจ้างที่ปรึกษา การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร การวิเคราะห์ทดสอบ การทวนสอบและประเมินผล เพื่อขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์หรือขอรับรองมาตรฐานที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ 

 

5) กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) เพื่อทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 100 ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานภาครัฐ และสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ในหน่วยงานเอกชน หรือไม่เกิน 2,000,000 บาท ต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับขยายธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์ของธุรกิจฐานนวัตกรรมในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายพร้อมกับการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ 

 

6) กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Working Capital Interest) ทุนอุดหนุนสมทบไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด หรือไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี สำหรับเพิ่มสภาพคล่องเพื่อการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรม 

 

7) กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding) การสนับสนุนในรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สัดส่วนร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน หรือไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อโครงการ ร่วมกับแหล่งทุนภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการรับรอง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การเพิ่มกำลังการผลิต การขยายทีม และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา 

โดยในปีงบประมาณ 2567 จะนำร่องทดลองนำกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนใหม่นี้ไปใช้ในการดำเนินงานของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจก่อน และในปีงบประมาณต่อไปจะนำมาใช้เป็นกลไกการให้ทุนเพื่อดำเนินงานตามโปรแกรมการให้ทุนของ NIA ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

 

#NIA #Innovation #InnovationforEconomy #Socialinnovation #นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ #นวัตกรรมเพื่อสังคม #ทุนNIA