สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เจาะกลไกทุนใหม่ เปิดทางนวัตกรรมไทยเข้าสู่ตลาด ภายใต้ Mandatory Innovation Business Platform

16 พฤศจิกายน 2566 2,392

เจาะกลไกทุนใหม่ เปิดทางนวัตกรรมไทยเข้าสู่ตลาด ภายใต้ Mandatory Innovation Business Platform


📝 โจทย์ใหม่ ท้าทายกว่าเดิม! เมื่อ NIA ตั้งเป้าหมายจะสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม 10,000 ราย ให้มีธุรกิจอยู่ใน Growth Stage หรือทำเงินได้จริงจำนวน 1,000  ราย ผ่านกลไกการเงินรูปแบบใหม่เพื่อร่วมกันสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2570

จากเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ NIA ได้อัปเกรดกลไกการเงินสนับสนุนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เน้นทุนสนับสนุนให้เกิด Prototype หรือ R&D ก็ได้ขยายผลไปยังทุนสำหรับธุรกิจในช่วงเข้าสู่ตลาด ซึ่งมีขั้นตอนในการทำงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านการวางแผนกลยุทธ์ การทดสอบคุณภาพ หรือการหาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้จากนวัตกรรมที่มีศักยภาพ  

📊 ครั้งนี้จะพาไปดู 7 กลไกที่อยู่ภายใต้ Mandatory Innovation Business Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเร่งการเติบโตของนวัตกรรมที่ถือเป็น Game Changer ในการนำพาประเทศไทยเติบโตเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ซึ่งจะมีกลไกในรูปแบบอย่างไรบ้าง ไปดูกัน!


🏭 เริ่มจากกลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ ยิ่งในปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานโดยเฉพาะในด้านเงินทุน 

สำหรับ Thematic Innovation จะเป็นกลไกเพื่อใช้ในปรับปรุงและผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบระดับอุตสาหกรรมให้สามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ ทดสอบกับกลุ่มลูกค้าจริง ทดสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม นำไปสู่การสร้างรายได้จริงเมื่อสิ้นสุดโครงการ จึงเหมาะสำหรับวิสาหกิจฐานนวัตกรรมที่มีผลงานนวัตกรรมหรือมีผลิตภัณฑ์หรือบริการต้นแบบอยู่แล้วต้องการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการบางส่วน หรือทดสอบมาตรฐานตามข้อกำหนดต่างๆ หรือต้องการทดสอบตลาดก่อนการออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยจะเป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

📑 โดยจะเปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก, นวัตกรรมด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ, พลังงานสะอาด, ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง 



👩‍💼 บนเส้นทางสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการ ยังมีขั้นตอนอีกหลากหลายนอกเหนือจากการพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะด้านการวางแผนกลยุทธ์ หรือการนำผลงานเข้าสู่ระบบสิทธิบัตร ผู้ประกอบการจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา 

กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND) จึงกลับมาอีกครั้งสำหรับสนับสนุนการจ้างที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรการวางแผนตลาด ทรัพย์สินทางปัญญา การบัญชี การเงินและการลงทุน รวมไปถึงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาดสากล เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

📑 โดยจะเปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก, นวัตกรรมด้านพืชและสัตว์เศรษฐกิจ, และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง 


🔎 การ Scale Up ส่งออกนวัตกรรม ผู้ประกอบการต้องพิจารณาไปถึงมาตรฐานที่มีการกำหนดในแต่ละประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนในการขอใบรับรองหรือประเมินมาตรฐานหลายอย่าง เช่น ใบรับรองทางด้านความปลอดภัยและมาตรฐานของสินค้า, ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการดำเนินงาน

จึงเป็นที่มาของกลไกการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจนวัตกรรม (Standard Testing) เพื่อจ้างที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กร ให้พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อขอขึ้นทะเบียนและประเมินขอรับรองมาตรฐานที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงมาตรฐานที่แต่ละประเทศต้องการ โดยเป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

📑 โดยจะเปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมทั้งหมด 2 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง 


👥 การที่สินค้านวัตกรรมจะสร้างผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องได้ ต้องมีกลยุทธ์ในการขยายตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ 

เพื่อเตรียมรองรับการทดสอบใช้งานผลงานนวัตกรรมในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ จึงต้องมีกลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion) เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับผลงานที่ทดสอบการใช้งานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยสนับสนุนในสัดส่วนร้อยละ 100 กับกลุ่มลูกค้าภาครัฐ และสนับสนุนในสัดส่วนร้อยละ 50 กับกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 2,000,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

📑 โดยจะเปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมในสาขาธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) ซึ่งมี 4  สาขาย่อยที่เปิดรับ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจดิจิทัลด้านการแพทย์และสุขภาพ ธุรกิจดิจิทัลด้านอีคอมเมิร์ซและค้าปลีก ธุรกิจดิจิทัลด้านการศึกษา ธุรกิจดิจิทัลด้านเกษตรและอาหาร


💸 แน่นอนว่าการทำธุรกิจแต่ละครั้งต้องมีการกู้ยืมเงิน ซึ่งพ่วงมาด้วยดอกเบี้ยที่อาจส่งผลให้การเงินภายในองค์กรขาดสภาพคล่อง 

จึงต้องมีกลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Matching Interest for Working Capital) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรม บริหารสภาพคล่องทางการเงินภายในองค์กร โดยการลดดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง ซึ่งจะสนับสนุนทั้งดอกเบี้ยสินเชื่อทุกประเภท ค่าธรรมเนียมค้ำประกันจาก บสย. และดอกเบี้ยที่เกิดจากการระดมทุนคราวด์ฟันดิ้ง ในกลไกนี้จะเป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

📑 โดยจะเปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ สาขาธุรกิจนวัตกรรมที่สนับสนุนนวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก, เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ, พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง


🤝 เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง จึงต้องมีกลไก Corporate Co-funding มาช่วยปิดช่องโหว่ 

กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate Co-funding) สำหรับธุรกิจนวัตกรรมที่ต่อยอดจากผลงานวิจัย หรือธุรกิจที่ต้องการสร้างโอกาสเติบโตจากแหล่งเงินทุนที่ร่วมกันของภาครัฐและ VC, CVC, PE Trust ในการพัฒนาการดำเนินการต่างๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มกำลังการผลิต การขยายทีม พร้อมกับการประเมินมูลค่าธุรกิจและผลการดำเนินธุรกิจผ่านรายงานทางบัญชี เป็นกลไกที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนและในขณะเดียวกันก็เข้ามาลดความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับ

ซึ่งเป็นทุนอุดหนุนสมทบกำหนดเงื่อนไขการส่งคืนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ (Recoverable Grant) แก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะเริ่มต้นจนถึงระยะเติบโต (Seed to Growth Stage) คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดย NIA ร่วมกับ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) พัฒนากลไกการเงินในรูปแบบใหม่นี้ร่วมกันในปีงบประมาณ 2567  

📑 โดยจะเปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมใน 2 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก และธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive (ARI Tech) 


💰 ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาใหญ่ของการขยายธุรกิจคือเรื่องของ “เงินทุน” ดังนั้นเพื่อลดปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน  จึงเกิดเป็นกลไกนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย สำหรับการขยายผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่เชิงพาณิชย์ของธุรกิจฐานนวัตกรรมที่ต้องการลงทุนเพิ่มผ่านกลไกสินเชื่อธนาคารเพื่อการเติบโตของธุรกิจ 

NIA จึงร่วมกับ สถาบันการเงินชั้นนำจำนวน 5 แห่ง ซึ่งจะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อในโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นทุนอุดหนุน (Grant) ในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 100 ของมูลค่าดอกเบี้ย คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

📑 เปิดรับสำหรับธุรกิจนวัตกรรมใน 4 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก, เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ, พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง

🔎 ดูรายละเอียดเพิ่มเติม กลไกส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory Innovation Grant) ได้ที่ https://mandatory.nia.or.th

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.nia.or.th/new-financial-support-grant-mechanism-2023
https://www.prachachat.net/ict/news-1419976 
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1094358