สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ล้วงลึกศักยภาพประเทศ! จุดแข็ง และ จุดอ่อน ของ "ไทย" ที่น่าจับตามองจากดัชนีนวัตกรรมโลก

1 พฤศจิกายน 2565 2,391

ล้วงลึกศักยภาพประเทศ! จุดแข็ง และ จุดอ่อน ของ "ไทย" ที่น่าจับตามองจากดัชนีนวัตกรรมโลก

เผยทุกมุม! “ประเทศไทย” มีศักยภาพมากแค่ไหนจากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก

หลังจากที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) หน่วยงานผู้จัดอันดับศักยภาพประเทศด้านนวัตกรรม ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2022 นี้ ก็ทำให้เราได้รู้ว่าใครคือผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก ซึ่งก็ไม่หลุดโผเกินไปนัก เพราะสามอันดับแรกยังคงเป็นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และสวีเดน ที่นับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น การเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน การมีระบบนิเวศสตาร์ทอัพและนวัตกรรมที่แข็งแรง รวมถึงการมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในหลายมิติ

โดยปีนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ที่อันดับ 43 จากทั้งหมด 132 ประเทศ และครองอันดับ 3 ในอาเซียน เป็นรองแค่สิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีจุดแข็งด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจอยู่มาก ซึ่งจะนำไปสู่การเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” และในขณะเดียวกันการจัดอันดับนี้ก็เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนที่เราจะต้องนำไปพัฒนาต่อในอนาคต ซึ่งสามารถสรุปมาเป็นข้อมูลได้ ดังนี้

จุดแข็งที่โดดเด่น : “ภาคเอกชนยืนหนึ่ง อุตสาหกรรมหลากหลาย พร้อมวิจัยและพัฒนา”

• อันดับ 1 : ค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยภาคเอกชนหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ (GERD financed by business)
• อันดับ 1 : การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (Creative goods exports)
• อันดับ 8 : การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech exports)
• อันดับ 10 : การมีผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยในธุรกิจต่างๆ (Research Talent)
• อันดับ 14 : เงินทุนสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นและการขยายตัวของธุรกิจ (Finance for Startup and Scaleup)

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จุดแข็งของประเทศไทยเรามีภาคเอกชนที่พร้อมลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนา มีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยอุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ในด้านผลิตภัณฑ์ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ผลงานศิลปะ งานออกแบบ รวมถึงงานหัตถกรรมต่างๆ ที่มีความโดดเด่นจากทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของการผลักดันในเรื่อง “Innovation for Crafted Living” ของ NIA ในปีนี้และอนาคต อีกอุตสาหกรรมคือการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งหลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าประเทศไทยเราเป็นฐานการผลิตหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนเป็นหลัก จึงทำให้ไม่แปลกเลยที่เครดิตภายในประเทศที่มีต่อภาคเอกชนดีตามไปด้วย

จุดอ่อนที่ท้าทาย : “ประเทศขาดแรงดึงดูดด้านการจ้างงานและเงินลงทุนจากต่างประเทศ บางอุตสาหกรรมต้องเร่งพัฒนา”

• อันดับ 126 : การส่งออกบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Services Exports)
• อันดับ 105 : เงินสุทธิจากการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Net Inflows)
• อันดับ 103 : สัดส่วนการส่งออกบริการด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Services Exports)
• อันดับที่ 90 : การจ้างงานในบริการและธุรกิจที่ใช้ความรู้เข้มข้น (Knowledge-intensive Employment)
• อันดับ 87 : ธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่ได้รับการลงทุน (Venture Capital Recipients, Deals)

สำหรับจุดอ่อนที่เราต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้ ก็คือ ประเทศไทยยังไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากพอ เพราะกฎระเบียบบางส่วนประกอบกับกลไกการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และในบางอุตสาหกรรม เช่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงบริการด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ เพลง เกม การสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่างๆ ฯลฯ ที่เราเคยคิดว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นจนสามารถสร้าง Soft Power ได้ เราอาจต้องกลับมาคิดทบทวนกันใหม่ โดย NIA ได้วางกรอบกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมให้กับประเทศ พร้อมทั้งก้าวข้ามจุดอ่อนที่ท้าทายและพัฒนาจุดแข็งให้เติบโตขึ้นไป เพื่อก้าวสู่อันดับที่ 35 ภายในปี พ.ศ.2570

ผ่านกลยุทธ์และแนวทางที่หลากหลายครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น รัฐคือ Sandbox และ Accelerator ของนวัตกรรม การเร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรมเชื่อมกับการใช้ประโยชน์ทางการวิจัย กระตุ้นกิจกรรมและการสร้างฐานข้อมูลตลาดการเงินนวัตกรรมและตลาดทุนเทคโนโลยี เพิ่มจำนวนวิสาหกิจฐานนวัตกรรม กระตุ้นการจดทะเบียนและใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และเพิ่มจำนวนนวัตกรรมฐานความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของ NIA จะมีความเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน!

โดยข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนจากหนังสือ “Global Innovation Index ดัชนีนวัตกรรมระดับโลกกับพัฒนาการด้านนวัตกรรมของประเทศไทย” เท่านั้น สามารถศึกษาข้อมูลฉบับเต็มเพิ่มเติมต่อได้ที่นี่  https://www.nia.or.th/bookshelf/view/230