สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ยกระดับสินค้าสร้างสรรค์สไตล์ไทย ผ่านเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ให้ชาวต่างชาติรู้จัก !
#GIISeries เพราะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไม่ได้อาศัยแค่ความสามารถของศิลปิน แต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงและสมบูรณ์ จึงจะทำให้เกิดผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Output) ที่ขับเคลื่อนผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output Sub-Index) ได้
🇹🇭 หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในการจัดอันดับ “ดัชนีนวัตกรรม (Global Innovation Index)” หรือ “ดัชนี GII” ของประเทศไทย หนึ่งตัวชี้วัดที่ไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร ก็คือ “การส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ (Creative Goods & Exports)” ซึ่งปี 2024 ไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 7 ของโลกจาก 132 ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการนำนวัตกรรมเข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ จนเป็นที่ต้องการในระดับโลก
🎭 ปัจจัยสัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ (Creative Goods Exports, % Total Trade) แสดงถึงสัดส่วนของการส่งออกสินค้าครีเอทีฟ (สินค้าที่เกิดจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์) เมื่อเทียบกับการค้ารวมทั้งหมดของประเทศ สินค้าครีเอทีฟที่รวมอยู่ในกลุ่มนี้มักจะประกอบด้วย ศิลปะและการออกแบบ (เช่น งานศิลปะ, หัตถกรรม) ผลิตภัณฑ์ดนตรีและความบันเทิง (เช่น เครื่องดนตรี, การบันทึกเสียง) แฟชั่นและสิ่งทอ (เช่น เสื้อผ้า, เครื่องประดับ) หนังสือ, ภาพยนตร์, และผลิตภัณฑ์สื่อ รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งตัวชี้วัดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกิจกรรมการค้ารวมของประเทศ
หากสัดส่วนสูงหมายความว่าประเทศนั้นมีบทบาทในการส่งออกสินค้าครีเอทีฟที่สำคัญเมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการผลิตทางวัฒนธรรม เกี่ยวเนื่องไปถึงเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ภายในประเทศ ภายใต้องค์ประกอบที่สำคัญทุกด้าน ทั้งในเชิงการสร้างมูลค่าเพิ่ม การประยุกต์ใช้เครื่องหมายการค้า การออกแบบ รวมถึงการเผยแพร่ผ่านวิธีต่างๆ โดยหากพูดถึงสินค้าในเชิงสร้างสรรค์ ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะไม่ว่าจะมองไปยังจังหวัดหรืออำเภอไหนก็ล้วนแต่มีเรื่องเล่าท้องถิ่นที่น่าสนใจมากมาย สิ่งสำคัญคือการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ
📄 จากรายงานประจำปีของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (Creative Economy Agency) ได้มองไปในทิศทางเดียวกันว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งในหนึ่งฉากทัศน์สำคัญที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนี้คือ ‘Cultural Value Added’ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรม
🔎 ภาพในอนาคตของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural Value Added) จะช่วยให้เห็นถึงมูลค่าที่สร้างขึ้นโดยกิจกรรมทางวัฒนธรรมภายในเศรษฐกิจและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจในชุมชนซึ่งจะให้คุณค่าและการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการต่อยอดลงในสินค้าและบริการ การผลิตผลงานที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ความแตกต่างเรื่องเพศ จนมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์บ่งบอกถึงตัวตนที่แตกต่าง มีการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างศิลปิน นักออกแบบร่วมกับผู้ที่มีภูมิหลัง เพื่อผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม และสุดท้ายคือการออกแบบที่มองเห็นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับแรกในการสร้างผลผลิต
📈 เมื่อเห็นอย่างนี้หลายคนอาจคิดว่าการผลักดัน Creative Economy เป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาศิลปินเป็นส่วนสำคัญ แต่หากดูจากโมเดลความสำเร็จของหลายประเทศชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ จะเห็นว่าการจะยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้น โครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมด
🤝 ที่ผ่านมา NIA มีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในหลากหลายมิติด้วยกัน ตั้งแต่ภาพใหญ่อย่าง การเป็นส่วนหนึ่งในงานระดับประเทศอย่าง “THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024” ซึ่งทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Soft Power การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และเป็นสะพานเชื่อมโยงการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ให้เติบโตมีศักยภาพในระดับสากล
🗾 ทั้งนี้ ในการส่งเสริมจะขาดการผลักดันเชิงพื้นที่ไม่ได้ เพราะปัญหาสำคัญที่พบในปัจจุบัน คือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด อีกทั้งยังขาดการบูรณาการเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นในการยกระดับจึงต้องมีการพัฒนาทั้งในมุมของการเพิ่มความรู้ การพัฒนาทักษะความชำนาญ และส่วนสุดท้ายคือการสร้างแรงจูงใจ ที่จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ
🎇 ซึ่ง NIA ได้มีการส่งเสริมในเชิงพื้นที่ด้วยการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนในท้องถิ่น อย่างเช่น ‘UBON ART FEST 2024’ เทศกาลแสดงงานศิลปะเมืองอุบลฯ ด้วยแนวคิดนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน Soft Power ของจังหวัด และชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นแดนอีสานผ่านสื่อที่สอดรับกับสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งได้
💵 ความสำเร็จในการจัดงาน UBON ART FEST ในปี 2024 สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้คนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง มาเข้าร่วมงานได้เป็นจำนวนมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เกิดการจ้างงานและการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ในการนำเสนอ Soft Power ด้วยนวัตกรรม และในอนาคตก็ยังสามารถนำไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อนอัตลักษณ์ของภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาได้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.wipo.int/gii-ranking/en/thailand
หนังสือดัชนีนวัตกรรมระดับโลกกับพัฒนาการด้านนวัตกรรมของประเทศไทย:
https://nia.or.th/frontend/bookshelf/ORrZSAwRPuyUt/635a58327dbae.pdf
https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2024/4/7/media_Thailand_Creative_Industries_Movement_Report_2023.pdf
https://nia.or.th/THACCA-SPLASH-Press-Conference
https://elib.life.ac.th/wp-content/uploads/2022/08/1-บทบาทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ.pdf
https://www.ubu.ac.th/news.php?id=24985
https://www.nia.or.th/event/detail/17770
https://www.facebook.com/NIAThailand/videos/549877350943391