สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

#การสร้าง Soft Power เปรียบได้กับ การสร้างแบรนด์ให้ประเทศ

26 กันยายน 2565 1,516

#การสร้าง Soft Power เปรียบได้กับ การสร้างแบรนด์ให้ประเทศ

#การสร้าง Soft Power เปรียบได้กับ การสร้างแบรนด์ให้ประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คำว่า “Soft Power” กลายเป็นคำฮิตที่คนมักหยิบขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ นั่นก็เพราะเกิดหลายปรากฏการณ์ที่ผู้คนได้รับอิทธิพลมาจากการเสพสื่อบันเทิงจนเปลี่ยนสู่กำลังซื้อที่มหาศาล เช่น เทรนด์จากซีรีส์เรื่อง Squid Game เทรนด์ลูกชิ้นยืนกินที่ขายดิบขายดีจนต้องต่อคิวยาวเพราะเป็นเมนูอาหารจานโปรดของ ลิซ่า สมาชิกวง BLACKPINK หรือจะเป็นมิลลิ แร็ปเปอร์สาวสุดปังที่ขนข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินที่เวที Coachella จนทำให้แม่ค้าขายแทบไม่ทัน

แม้เทรนด์ที่เล่ามาจะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันพิสูจน์ได้ว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถเป็นตัวพลิกเกมในเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้หันมาจับตาและให้ความสำคัญกับการสร้าง “Soft Power” ด้วยวิธีส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะเปรียบได้กับการสร้างแบรนด์ให้ประเทศ เมื่อทุกคนบนโลกรู้จักวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเราแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะขับเคลื่อนแล้วเติบโตขึ้นตามไปด้วย

รายการ #NIAnatomy Episode ที่ 11 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีซั่นนี้ที่ “คุณลี่ กวนลี่ พันธุ์” นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม  ผู้ดูแลนวัตกรรมรายสาขาอย่าง นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ MARTech โดยเฉพาะ จะมาบอกเล่าถึงมิติการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบจัดเต็ม! ตั้งแต่การถอดบทเรียนความสำเร็จอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศไทย ไปจนถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม

🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่ https://soundcloud.com/niathailand/ep11-nianatomy-podcast

 

"ความสำเร็จด้านอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแผนฟื้นฟูประเทศ จากวิกฤติ IMF ที่ใช้เวลาเพียง 10 ปี เท่านั้น"

ก่อนอื่นเราขอพาไปถอดความสำเร็จด้านอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้กันสักหน่อย เพราะนับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งทุกคนทราบไหมว่ากว่าเกาหลีใต้จะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน เกาหลีใต้และทั่วเอเชียเกิด “วิกฤติการเงิน IMF” หรือที่คนไทยเราจะรู้จักกันในชื่อ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ทำให้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ หลายบริษัทแห่ปิดตัว คนไม่มีงานทำ เหมือนกับที่ซีรีส์เกาหลีชื่อดังอย่างเรื่อง Twenty Five, Twenty One เคยฉายภาพให้เห็นในหลายส่วนของเรื่อง

เพื่อฟื้นฟูวิกฤติ เกาหลีใต้จึงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีกลุ่มธุรกิจ Samsung, Hyundai, LG ฯลฯ เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน จากนโยบาย “Hallyu Industry Support Development” ซึ่งเป็นการนำอัตลักษณ์ทุกอย่างของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ฯลฯ เข้ามาสอดแทรกในอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ

แถมยังมีหน่วยงานที่ชื่อว่า “Korea Creative Content Agency” หรือ KOCCA คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในหลายสาขา ทั้งในเรื่องเงินทุน การเชื่อมโยงเครือข่าย ไปจนถึงสถานที่ถ่ายทำ จึงไม่แปลกเลยที่อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้จะสร้างอิทธิพลไปยังทั่วโลกได้ โดยใช้เวลาเพียง 10 ปี เพื่อกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศกลุ่มรายได้สูง

“ไทยก็มีหน่วยงานที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เช่นกัน นั่นก็คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA โดยมีมูลค่าการเติบโตมากถึง 1.12 ล้านล้านบาทต่อปี”

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าประเทศไทยก็มีหน่วยงานที่คล้ายๆ กับเกาหลีใต้เหมือนกัน นั่นก็คือ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA” ซึ่งเป็นหน่วยงานแยกตัวออกมาจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 หรือราวๆ 4 ปีที่แล้ว โดยมีหน้าที่ยกระดับเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลายสาขาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ การออกแบบ แฟชั่น ภาพยนตร์ โฆษณา เพลง เกม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ฯลฯ และยังเป็นผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

ปัจจุบันเรามีการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น โดย CEA ยังเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญให้กับเราอีกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – 2560 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย มีมูลค่าการเติบโตเฉลี่ย 4.43% ต่อปี หรือถ้าคิดเป็นมูลค่าเงินก็ราวๆ 1.12 ล้านล้านบาทต่อปี และจากการศึกษาวิจัยถ้าเรานำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ ก็จะสามารถเติบโตได้ถึง 6.43% ต่อปี ถ้าคิดเป็นมูลค่าเงินก็จะสูงได้ถึงปีละ 1.53 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมาก

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยที่กำลังเติบโตได้ดีก็คืองานทัศนศิลป์ งานโฆษณา เพลง และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นการนำวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนมานำเสนอให้มีมูลค่า แต่เราก็ต้องค่อยๆ พัฒนากันต่อไป เพราะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องใช้เวลา ขนาดเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในวันนี้เขายังต้องใช้เวลานับ 10 ปี ถึงจะสามารถสร้างอิทธิพลไปทั้งโลกได้

"NIA เองมีเป้าหมายที่จะเพิ่มและพัฒนา ผู้ประกอบการนวัตกรรมด้าน MARTech ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมนี้ให้เข้มแข็งด้วยเช่นกัน”

ในฐานะที่ NIA เป็นผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม หรือ Focal Facilitator เราเองก็มีส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน ทั้งในเรื่องการส่งเสริมสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมด้าน “MARTech” ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง MARTech ที่ว่านี้ไม่ใช่ Marketing แต่มันคือนวัตกรรมสร้างสรรค์ ที่มาจากคำในกลุ่มงานสร้างสรรค์ทั้ง 3 สาขา ได้แก่ “ดนตรี (Music) ศิลปะ (Art) และกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ (Recreation)” รวมถึงสร้างระบบนิเวศในกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ได้นำเสนอไอเดียดีๆ ผ่านหลากหลายโครงการดังนี้

“Bangkok Music City” งานเทศกาลและการประชุมระดับนานาชาติด้านธุรกิจบันเทิงและดนตรี ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น TCEB, CEA, Fungjai และ NYLON เพื่อสร้างเทศกาลดนตรีที่มีเป้าหมายเหมือนกับ South by Southwest (SXSW) เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นงานที่เน้นเชื่อมผู้คนในสาย Tech, Culture, Music มาไว้รวมกัน จนทำให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ ที่ศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ รวมถึงสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีพื้นที่ในการแสดงออก ได้รับแรงบันดาลใจ และได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้งานประสบความสำเร็จในทุกครั้ง

อีกหนึ่งโครงการที่อยากแนะนำให้รู้จักก็คือ “Thailand Content Lab” เป็นโครงการที่เน้นการสนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีไอเดียและอยากจะได้เงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาหรือสร้างผลงานต่อไป ผ่านการประกวดไอเดียและ Pitching ในวัน Demo Day โดยในปี พ.ศ. 2565 นี้ถือว่าพิเศษมาก เพราะเป็นปีที่มีการสนับสนุนหลายสาขา ตั้งแต่ สาขาภาพยนตร์และซีรีส์ (Movie and Series) สาขาโครงการเพลง (Music Project) สาขาการแพร่ภาพกระจายเสียง และรายการวาไรตี้ออนไลน์ (Broadcasting) และสาขาเกม (Game) เรียกได้ว่าครอบคลุมอุตสาหกรรมบันเทิงในกระแสหลักได้ทั้งหมด และเราก็ได้ผู้ชนะไปเรียบร้อยแล้ว ใครที่สนใจโครงการนี้ก็สามารถติดตามที่เพจ “Thailand Content Lab” ได้เลย