สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ "วันอาหารโลก"

15 ตุลาคม 2565 1,812

5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ "วันอาหารโลก"

วันอาหารโลก

 

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า 16 ตุลาคมของทุกปีตรงกับ “วันอาหารโลก หรือ World Food Day” ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations; FAO) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก และเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ สำหรับปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม "Leave NO ONE Behind" เพื่อสื่อถึงคนส่วนมากบนโลกซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังท่ามกลางโลกที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำในสังคม และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงถึงอาหารคุณภาพที่มีสารอาหารมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น


เราลองมาดูกันว่า ยังมีมุมอะไรที่คุณอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของปัญหาอาหารและกิจกรรมเนื่องในวันอาหารโลกที่คุณเองก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ หรือสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fao.org/world-food-day 

 

การบริหารจัดการอาหารในปัจจุบัน

อาหารที่ถูกผลิตออกมาแต่ละปีมีปริมาณเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรทุกคนบนโลกนี้ แต่ทว่าประชากรกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 9 ของประชากรโลก ยังประสบกับปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่ คนเหล่านี้มักจัดอยูในกลุ่มคนที่ไม่มีพื้นที่ให้เพาะปลูก หรือไม่มีเงินซื้ออาหาร และ 98% ของปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยอยู่ในทวีปเอเชียกว่า 500 ล้านคน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการบริหารจัดการอาหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอต่อการให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอาหาร จะได้ได้จากการที่ทุกวันนี้ยังคงมีอาหารเหลือทิ้ง 1.3 พันล้านตันต่อปีอ้างอิงจากข้อมูล UNEP

 

ตัวช่วยยุคใหม่ในการบริหารจัดการอาหาร

ทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพและโครงการมุ่งเป้าสำหรับแก้ไขปัญหาอาหารโลก เช่น

  1. Food Cloud ซึ่งมุ่งเน้นในการจัดระบบบริหารจัดการอาหารเหลือทิ้งเพื่อจับคู่กับมูลนิธิต่าง ๆ
  2. Shelf Engine ระบบอัตโนมัติในการคำนวนและคาดการณ์จำนวนวัตถุดิบและอาหารเพื่อช่วยร้านอาหารในการบริหารรายการสินค้าและประหยัดค่าใช้จ่ายร้านอาหาร
  3. แอปพลิเคชัน Dalili (ประเทศเลบานอน) สำหรับสำรวจราคาสินค้าในร้านค้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการกับโครงการอาหารโลก (World Food Program, WFP) ทำให้ผู้ลี้ภัยสงครามในประเทศเลบานอนสามารถบริหารค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เยาวชนกับกิจกรรมวันอาหารโลก

การประกวดโปสเตอร์วันอาหารโลกประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำหรับเด็กที่อายุ 5-19 ปี โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการออกแบบโปสเตอร์ที่สื่อถึงโลกที่ “Leave NO ONE Behind” ซึ่งเป็นโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 และจะประกาศผลในช่วงเดือนธันวาคม 2565

 

เปิดเวทีกิจกรรมสัมมนาออนไลน์

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้จัดสัมมนาผ่านเว็บ (Webinar) ในหัวข้อ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave NO ONE Behind)” วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. (ตามเวลากรุงเทพฯ) โดยเน้นย้ำนโยบายเพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะบางทางสังคม รวมถึงบทบาทของสตรีและเยาวชนในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารทางการเกษตรให้ตอบสนองต่อการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ซึ่งในโอกาสนี้จะมีปาฐกถาพิเศษจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนายคู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ 

 

ขับเคลื่อนกรุงเทพสู่ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์

ในส่วนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อสังคมด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารที่ถือว่าเป็นจุดแข็งหนึ่งของประเทศไทย จึงนำร่องจับมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจัดโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารระดับนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “SPACE-F” ซึ่งดำเนินการมาเป็นรุ่นที่ 3 โดยแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ Incubator (สำหรับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น) และ Accelerator (สำหรับสตาร์ทอัพที่มีสินค้าและมียอดขายเล็กน้อย) เพื่อเข้ารับการพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมสำหรับผู้เข้าร่วม สตาร์ทอัพที่สนใจและบุคคลทั่วไปสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.space-f.co/ ซึ่งคุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอาหารระดับโลกได้

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.worldhunger.org/world-hunger-and-poverty-facts-and-statistics/#hunger-number
  2. https://www.nia.or.th/วันอาหารโลก (World Food Day) เกิดขึ้นในปี 2539
  3. https://www.fao.org/world-food-day/en
  4. https://www.space-f.co/blog/an-insight-into-food-waste-management

 

บทความโดย
ศิวกร ลิ้มวัฒนะกูร (ไปป์)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ