สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

วันอาหารโลก (World Food Day) เกิดขึ้นในปี 2539

บทความ 24 ตุลาคม 2561 17,495

วันอาหารโลก

วันอาหารโลก (World Food Day) เกิดขึ้นในปี 2539 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations, FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคม (ซี่งตรงกับวันก่อตั้งองค์การ) ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก และเกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ
เนื่องในโอกาสวันอาหารโลก เรามารู้จักกับปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการนี้กันเถอะ

ความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ 

  1. อาหารที่ถูกผลิตออกมาในแต่ละปีมีปริมาณเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรทุกคนบนโลกนี้
  2. ประชากรกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 9 ของประชากรโลก ยังคงประสบกับปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่
  3. คนเหล่านี้มักจัดอยูในกลุ่มคนที่ไม่มีพื้นที่ให้เพาะปลูก หรือไม่ก็ไม่มีเงินซื้ออาหาร
  4. 98% ของปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยอยู่ในทวีปเอเชียกว่า 500 ล้านคน

ปัญหา

ปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการมีความสำคัญอย่างไร?

  1. ปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักของการตายในเด็ก ในปี 2010 มีเด็กตายกว่า 7.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 20,000 คนต่อวัน ในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากสาเหตุทางด้านโภชนาการ เด็ก 1 ใน 15 คน ในประเทศกำลังพัฒนาที่ตายก่อนอายุครบ 5 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทางด้านโภชนาการ
  2. การได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งส่งผลตลอดช่วงชีวิตของคนๆ นั้น
  3. ปัญหานี้ทำให้คนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความยากจนและอดอยาก เป็นวังวนไม่รู้จบ
  4. ปัญหานี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียม

อะไรคือสาเหตุของปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ?

  1. กับดักความความยากจน – ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และซึ่งเป็นต้นตอของความยากจน
  2. การขาดการลงทุนในภาคการเกษตร เช่น ขาดโครงสร้างพื้นฐานหรือการจัดการทางการเกษตรที่ดี – ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ และขาดความมั่นคงทางอาหาร
  3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) – ทำให้ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย
  4. ความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ – ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เกิดทั้งการอพยพ และสถาวะขาดแคลนอาหาร
  5. ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร – ทำให้คนบางกลุ่มเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ยากในบางช่วงที่สินค้าราคาแพง

ที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง? และผลเป็นอย่างไร?

ที่ผ่านมาทั่วโลกต่างทุ่มเทและพยายามเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหานี้ โดยได้ร่วมกันกำหนดให้การขจัดปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการเป็น 1 ใน 8 ของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals, MDGs) ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 15 ปี (ปี 2543-2558) โดยตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่ประสบปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชาการลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2558 ซึ่งถึงแม้จะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สำหรับเป้าหมายถัดไป คือ การขจัดปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการให้หายไปอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2573 โดยเป้าหมายนี้ถูกกำหนดเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 15 ปี (ปี 2558-2573) อีกด้วย

นวัตกรรมมีส่วนช่วยขจัดปัญหาความความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการได้อย่างไร?

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างจากโครงการอาหารโลก (World Food Programme, WFP) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร และจัดการปัญหาความหิวโหยทั่วโลก

  1. โครงการ H2Grow (ที่ประเทศแอลจีเรีย) ปี 2559
    ชุดไฮโดรโพนิกส์ในร่มแบบ DIY สำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีอาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีนมและโปรตีนเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพตลอดทั้งปี
  1. โครงการ Groasis (ที่ประเทศโคลัมเบีย) ปี 2560
    ชุดกักเก็บและให้น้ำราคาประหยัดสำหรับเลี้ยงไม้ยืนต้นระยะ 1 ปีแรก สามารถปลูกในพื้นที่ร้อนและแห้งแล้ง โดยมีอัตรารอดสูงถึง 90% ในขณะเดียวกันก็สามารถเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก รวมถึงไม้พุ่มพร้อมกันได้ด้วย ประหยัดน้ำมากถึง 90% เมื่อเทียบกับวิธีน้ำหยด
  1. โครงการ ColdHubs (ที่ปรเทศแทนซาเนีย) ปี 2560
    ตู้เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ให้เช่าราคาประหยัดสำหรับแหล่งเพาะปลูกและแหล่งค้าขายในชุมชน ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรเนื่องจากการเน่าเสียซึ่งมีมากถึง 1 ใน 4 ของผลผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ยังช่วยใหเกษตรกรมีรายได้มากขึ้นอีกด้วย  
  1. โครงการ Dalili (ที่ประเทศเลบานอน) ปี 2560
    แอพพลิเคชั่นสำรวจราคาสินค้าในร้านค้าประชารัฐที่ร่วมโครงการกับ WFP ทำให้ผู้ลี้ภัยสงครามในประเทศเลบานอนสามารถบริหารค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  1. โครงการ AgriUp (ประเทศกัวเตมาลา) ปี 2559
    แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนพยากรณ์อากาศ ให้คำแนะนำทางการเกษตร และเคล็ดลับเกี่ยวกับการให้ปุ๋ย โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง ทำให้สามารถลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อีกด้วย
  1. โครงการ Tech for Food (ที่ประเทศเลบานอนและอิรัก) ปี 2559

โครงการส่งเสริมความสามารถทางด้านดิจิทัล และช่วยหางานให้ผู้ลี้ภัยผ่านเครือข่ายของ WFP โดยมีการจัดการเรียนการสอนความรู้และทักษะในการใช้โปรแกรม เช่น Microsoft Office และ Adobe Photoshop เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับผู้ลี้ภัย

บทบาทของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

บทบาทของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติต่อการขจัดปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ในฐานะองค์กรภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการสร้าง พัฒนา และการนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงสังคมอย่างเป็นระบบ ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร เช่น โครงการรูปแบบบริหารการจัดการนาข้าวปลอดสารเคมีแบบแม่นยำสูงและครบวงจร โครงการ SMART THINK ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน โครงการ iBot Sense: เซนเซอร์ควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนเพาะเห็ดแบบอัตโนมัติ โครงการเลี้ยงปลากระพงขาวระบบปิดอัจฉริยะ โครงการโซระ: อากาศยานไร้คนขับเพื่อการสำรวจและติดตามการเจริญเติบโตของพืช โครงการสารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดชีวมวลเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สุดท้ายนี้

ปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยกำลังของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง

ในโอกาสวันอาหารโลกนี้ปีนี้ สนช. ขอแสดงจุดยืนในการเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่จะนำโลกนี้ไปสู่การไร้ซึ่งความอดอยาก หิวโหย และทุพโภชนาการ และขอเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวไทยทุกคน มาร่วมแสดงพลังในการทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้นไปด้วยกัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.worldhunger.org/world-hunger-and-poverty-facts-and-statistics/#hunger-number
  2. https://www.wfp.org/stories/what-causes-hunger
  3. https://www.dosomething.org/facts/11-facts-about-world-hunger
  4. https://innovation.wfp.org/projects