สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

แนวโน้มและโอกาสการเติบโตของ “อุตสาหกรรมอวกาศ”

11 เมษายน 2566 2,950

แนวโน้มและโอกาสการเติบโตของ “อุตสาหกรรมอวกาศ”

แนวโน้มและโอกาสการเติบโตของ “อุตสาหกรรมอวกาศ”

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบัน ธุรกิจอุตสาหกรรมทางอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านดาวเทียม การท่องเที่ยวอวกาศ การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมหรือการจัดการข้อมูลนั้น เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกจับตามองว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการเติบโตขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับทศวรรศที่ผ่านมาและยังคงเติบโตต่อเนื่องขึ้นจากปี 2022 ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศนั้นมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบมีนัยสำคัญ และได้มีการคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานว่าจะสามารถเติบโตไปถึง 1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในปี 2040

 

หากมองย้อนกลับไปช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 นั้น จะเห็นว่าเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชลอตัว แต่ในปี 2020 ยังคงมีนักลงทุนจำนวนมากลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศกว่า 9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ ที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางอวกาศแก่องค์กรขนาดใหญ่อย่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ในขณะที่บางส่วนให้ความสนใจมุ่งไปในการส่งจรวจขึ้นอวกาศหรือการท่องเที่ยวในอวกาศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มต้นด้วยพื้นฐานทางเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเทคโนโลยีเชิงลึก และมีแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีเชิงลึกในอุตสาหกรรมอวกาศที่น่าจับตามองซึ่งมีผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมในโลกในอนาคตเป็นอย่างมาก โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมอวกาศที่น่าจับตามองดังนี้

 

ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก (Small Satellites) เนื่องจากดาวเทียมขนาดเล็กเป็นดาวเทียมมีที่คุณสมบัติโดดเด่นในด้านการสื่อสารแบบไร้สาย การสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์ การติดตามการเคลื่อนที่อย่างระบบจีพีเอส จึงทำให้มีกลุ่มนักลงทุนและบริษัทมากมายสนใจในการผลิตและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้นพร้อมกับการลดต้นทุนการผลิต จึงทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญในธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยาน

 

ระบบการจัดการบนอวกาศไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic) และ การจัดการขยะอวกาศ (Debris Management) เนื่องจากวัตถุต่างๆ ที่ถูกส่งขึ้นยังชั้นอวกาศไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO Satellite) จรวดขับดัน (Rocket Thruster) ดาวเทียมร้าง (Derelict Satellite) ที่ถูกผลิตและส่งขึ้นไปยังอวกาศในอดีตและหมดสภาพการใช้งานนั้น จะกลายเป็นขยะอวกาศในที่สุด จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการบนอวกาศเพื่อลดปัญหาการชนกันและเกิดความเสียหายของวัตถุอวกาศที่ยังใช้งานได้ รวมถึงรบบการจัดการเพื่อการท่องเที่ยวในอวกาศในอนาคตอีกด้วย

 

อุปกรณ์สื่อสารขั้นสูง ซึ่งโดยปกติขั้นตอนการสื่อสารสำหรับอวกาศจะขึ้นอยู่กับสองสิ่งหลักคือ ตัวแปลงและตัวรับสัญญาณ (Transmitter and Receiver) ตัวแปลงสัญญาณจะมีหน้าที่ในการแปลงโค้ดต่างๆ เป็นสัญญาณคลื่นแม่เหล็กและส่งมาสู่ตัวรับสัญญาณ ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบการสื่อสารขั้นสูงจากเดิมที่ขึ้นกับตัวแปลงและตัวรับสัญญาณ เป็นเสาอากาศความจุสูง (High-capacity Antennae) ตัวรับสัญญาณภาคพื้นด้วย รวมถึงดาวเทียมในชั้น LEO (Low Earth Orbit) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณให้มีความรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

 

ดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit, LEO Satellite เป็นดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรที่ใกล้โลก หรือสูงขึ้นเหนือจากโลกประมาณ 160 - 1,000 กม. และโดยปกติดาวเทียมในชั้น LEO นั้นจะไม่ได้เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งรอบโลกเสมอไป ซึ่งหมายความว่าจะมีเส้นทางมากขึ้นสำหรับดาวเทียมในระดับ LEO จึงทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการหรือเทคนิคต่างๆ ในการจัดการความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมในวงโคจรในชั้น LEO รวมถึงระบบการสื่อสารและการจัดการข้อมูล

 

ข้อมูลทางอวกาศ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลทางอวกาศเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศเพราะข้อมูลที่ได้นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะใช้เชิงของธุรกิจทางด้านความมั่นคง ภาคการเกษตร หรือสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน การพัฒนาการเก็บรวมรวบและวิเคราะห์ข้อมูลทางอวกาศจึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศไม่ว่าจะการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน การใช้ประโยชน์ของ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) ระบบโครงข่ายในการเก็บข้อมูลออนไลน์ (Blockchain), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet Of Things, IoT) ซึ่งจะช่วยในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศและนำไปต่อยอดในงานในทุกอุตสาหกรรมต่อไป

 

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและมีแนวโน้มใกล้ตัวเรามากขึ้นในทุกวัน รวมถึงยังช่วยให้ชีวิตของมวลมนุษย์สามารถมีความเป็นอยู่ที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้เล็งเห็นโอกาสและความสำคัญของธุรกิจอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานจึงได้มีการดำเนินการจัดโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน (Space Economy Lifting Off) ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อบ่มเพาะ พัฒนา และส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกโดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานโดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันนี้ - 15 พฤษภาคม 2566 ผ่าน https://nia.or.th/spaceeconomy โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมให้ความรู้เชิงธุรกิจ กิจกรรมการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษารวมถึงกิจกรรมสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการเข้ากับกลุ่มนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ในธุรกิจอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานอีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

 

บทความโดย
ดร.ณัฐกาญจน์ พรหมศิริ (อุ๊)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)