สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากใยกล้วย” ต่อยอดภูมิปัญญาเดิม เพิ่มเติมด้วยนวัตกรรม

7 มีนาคม 2567 3,596

“กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากใยกล้วย” ต่อยอดภูมิปัญญาเดิม เพิ่มเติมด้วยนวัตกรรม

Thai-fiber-paper-innovation

“กระดาษสา” คือกระดาษทำมือชนิดหนึ่งที่ทำมาจากเยื่อปอสา หนึ่งในสินค้าที่ผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีผิวสัมผัสเป็นเอกลักษณ์ สามารถทำลวดลายและสีสันได้มากมาย มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีความหมายทั้งเชิงสัญลักษณ์ และมีคุณค่าทางจิตใจของชาวอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แต่พวกเขาไม่เคยหยุดพัฒนา จนวันนี้พวกเขาสามารถพัฒนากระดาษทางเลือกใหม่ ที่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น นั่นคือ “กระดาษจากเส้นใยกล้วย” และ “กระดาษจากเปลือกข้าวโพด”

 

“กระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ คือทางเลือกในปัจจุบัน แต่คือทางรอดในอนาคต”

คุณโกสินทร์ มหาวิไลย์ (คุณเต๋า) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ใจเหนือ บิซ คอนซัลท์ จำกัด นักธุรกิจที่เกิดและเติบโตในสันกำแพง พาเรามาดูแหล่งผลิตกระดาษสาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือที่อำเภอสันกำแพง ถึงบรรยากาศจะเงียบไปสักหน่อย ไม่คึกคักเท่าไร แต่ก็ยังมีร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีต โดยเมื่ออดีต นักท่องเที่ยวมักจะมาแวะที่อำเภอนี้ และต้องแวะซื้อ “ร่มบ่อสร้าง” กลับไปเป็นของที่ระลึกถึงการมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ... ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบยอดนิยมในการทำร่มนั้น คือ “กระดาษสา” ... ในระหว่างการเดินทางไปดูแหล่งผลิต พี่เต๋าเล่าให้เราฟังว่า “พี่ทันยุคที่กระดาษสารุ่งเรืองด้วยนะ เมื่อก่อนแถวนี้ร่มกระดาษสาหลายสีแขวนเรียงกันเลย สดใสมาก นักท่องเที่ยวแน่นมาก แล้วก็มีของกระจุกกระจิกจากกระดาษสามากมายนับไม่ถ้วน ชาวบ้านแถวนี้นอกจากจะออกไปทำการเกษตรแล้ว ก็มีการทำกระดาษสากันที่บ้านเป็นอาชีพเสริม แต่ละบ้านจะมีเทคนิคเคล็ดลับการทำสีที่ไม่เหมือนกัน ต้องเป็นลูกหลานถึงจะบอกสูตรกัน” พี่เต๋าเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจในฐานะคนท้องถิ่นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกระดาษสา

เมื่อขับเลยเข้าไปยังถนนสันกำแพงเส้นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน พี่เต๋าพาเราแวะเอาของและแวะทักทายเจ้าของร้านขายส่งกระดาษสาอย่างเป็นกันเอง สร้างความรู้สึกเหมือนการลงพื้นที่ติดตามโครงการพร้อมได้รับการนำเที่ยวโดยไกด์ท้องถิ่น ซึ่งทำให้เราสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกของคนในพื้นที่ ที่ยังเห็นความสำคัญของกระดาษสา และพยายามอนุรักษ์ไว้อย่างสุดฝีมือ เพราะคุณป้าร้านขายกระดาษสา รายใหญ่เล่าให้เราฟังว่า กระดาษสาเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตชุมชนและงานพิธีทางพุทธศาสนามากมาย เช่น การทำตุง การทำโคมของชาวเหนือ หรือแม้กระทั่งการทำดอกไม้จันทน์ ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้กระดาษสาเป็นจำนวนมาก แต่วัตถุดิบดั้งเดิมยิ่งนานวันยิ่งหายาก และนี่จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการพัฒนากระดาษจากวัตถุดิบทดแทนของพี่เต๋า “พี่ไม่อยากให้สิ่งนี้หายไป เรารู้ว่าการทำกระดาษมันยังไปได้ ต่างประเทศยังคงให้ความสนใจกระดาษประเภทนี้อยู่ เราเลยอยากจะสร้างรายได้เสริมให้ชุมชนบ้านเกิด ด้วยการรับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้าน ทั้งกล้วย ทั้งเปลือกข้าวโพด เพื่อนำมาพัฒนากระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ ทดแทนวัตถุดิบปอสา และส่งต่องานการพับขึ้นรูปกล่องกระดาษให้ชุมชนด้วย”

วัตถุดิบจากธรรมชาติเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ... พี่เต๋าเล่าต่อว่า “สภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้กระดาษสาที่ทำมาจากเปลือกของต้นปอสา หายากขึ้นทุกวัน บางทีก็ต้องถึงขั้นตัดโค่นต้นไม้ “ ต่างจากเส้นใยกล้วยหรือเปลือกข้าวโพด ซึ่งมีฟังก์ชันทุกอย่างเหมือนกระดาษสา สามารถทำลวดลายหรือสีสันได้หลากหลายเหมือนกัน และที่สำคัญ “กล้วย” นั้นหาได้ง่าย ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน คุณสมบัติเส้นใยของกล้วยมีทั้งความยาวและความเหนียว หรือแม้แต่ “เปลือกข้าวโพด” ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้ง แทบไม่มีราคา และสร้างความลำบากให้เกษตรกรในการทำลาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเผา จนนำไปสู่สาเหตุของการเกิด PM 2.5” ... “เราอยู่ในธุรกิจนี้ทุกวัน เรารู้ว่าวัตถุดิบปอสานี้ ไม่ค่อยยั่งยืนแล้ว หายาก มีราคาแพง ซึ่งไม่เหมือนเมื่อก่อน เราเลยคิดจะลองนำเปลือกข้าวโพดหรือกล้วยมาทำสิ่งที่เราถนัด โดยเริ่มจากกล้วยก่อน เพราะหาง่ายแถวนี้ จึงเริ่มทดลองทำก่อน และต่อมาก็ได้เริ่มนำเปลือกข้าวโพดมาทำด้วย แต่แค่เปลี่ยนวัตถุก็อาจจะธรรมดาไป จึงคิดว่า... ทำไมเราไม่ลดจุดด้อยของกระดาษ ด้วยการเพิ่มคุณสมบัติกันการลามไฟเข้าไป” ... และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการขอรับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในโครงการ “บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากเส้นใยกล้วย”

เมื่อเราถามพี่เต๋าว่า แนวโน้มปริมาณการใช้กระดาษ น่าจะต้องลดลงเนื่องจากหลาย ๆ กิจกรรมถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลมากมายในชีวิตประจำวัน จากกระดาษธรรมดาที่เหมือนคนใช้น้อยลงทุกวันแล้ว และเมื่อเป็นกระดาษจากใยกล้วยแบบนี้ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่ากระดาษทั่วไปประมาณ 10% จะขายได้จริงหรือ ... พี่เต๋าได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า "พี่เชื่อว่า กระดาษไม่มีวันหายไป โดยเฉพาะกระดาษที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่มีวิถีการผลิตแบบ Circular Economy ซึ่งตอนนี้ยังเป็น Blue Ocean โดยระหว่างทำโครงการเรามีการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ มีร้านค้าปลีกรายใหญ่หลายรายเริ่มให้ความสนใจ ถึงแม้คำสั่งซื้อในไทยอาจจะเข้ามายังไม่มาก เพราะต้องให้เวลากับการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน แต่ชาวต่างชาติให้ความนิยมสูงมากและมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะกระดาษพวกนี้ทำมือทั้งหมด แต่ละแผ่นแตกต่างกัน มีความเป็น Limited มาก สามารถสั่งทำลวดลายเฉพาะ หรือติดแบรนด์เองได้ จึงสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเขาได้"

และอีกเหตุผลคือการที่เราไม่หยุดพัฒนาสินค้าของเรา โดยเพิ่มนวัตกรรมเรื่องฟังก์ชัน “การไม่ลามไฟ” โดยการเคลือบสารป้องกันการลามไฟทับกระดาษจากเส้นใยกล้วยอีกครั้ง ซึ่งเป็นสูตรสิขสิทธิ์เฉพาะของเรา ด้วยคุณสมบัติความเป็น “ใยกล้วย” ทำให้ผิววัสดุมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในขณะที่ คุณสมบัติการไม่ลามไฟ ช่วยให้เราสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นในตลาด กลายเป็นทางเลือกใหม่ของบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่มีในตลาด (คุณสมบัติ “การไม่ลามไฟ” คือ จุดไฟติด แต่ไฟไม่ลามไปยังสิ่งของบรรจุ จึงทำให้ลดความเสียหายของบรรจุภัณฑ์ภายใน) ซึ่งนอกจากจะขายในหมวดสินค้าทั่วไป เช่น นำไปทำกล่องใส่อาหารสำเร็จรูป หรือซองจดหมายแล้ว เรายังสามารถสร้างตลาดไปเติบโตในกลุ่มของตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ และกลุ่มเครื่องสำอางที่ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ไม่ลามไฟ เพราะเครื่องสำอางบางชนิดมีส่วนประกอบของสารเคมีที่ติดไฟง่าย ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้พร้อมซื้อเนื่องจาก Margin ค่อนข้างสูง ส่วนเรื่องต้นทุนเราก็ไม่กังวล เพราะวันนี้เราเปิดตลาดก่อนเราได้เปรียบ ลูกค้ารู้จักเราแล้ว อย่างน้อยเราลดต้นทุนการตลาดก่อนเจ้าอื่น ส่วนในอนาคตจะมีการนำนวัตกรรมอื่นเข้ามาใช้เพิ่ม ก็ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้อีก

สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต พี่เต๋าเล่าให้ฟังว่า “เมื่อเราเริ่มทำกล่องได้ เราก็คิดต่อไปยังฟังก์ชันการไม่ซึมน้ำ ทำให้สามารถนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร เช่น เปลือกข้าวโพด หรือกากใยกล้วยมาทำเป็นของแต่งบ้านจำพวก จานรองแก้ว แผ่นกรองกันฝุ่น และอีกมากมาย ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดระดับ Mass เร็ว ๆ นี้ได้”

จากการสัมภาษณ์วันนี้ สามารถสรุปได้ 3 คำ ซึ่งเป็น Key Success ของพี่เต๋าได้ว่า “เริ่มต้นจากสิ่งที่เราทำได้ดี” “นำมาพัฒนาต่อยอดด้วยแนวคิดนวัตกรรม” และ “ลงมือทำเพื่อตอบสนองทิศทางตลาดในอนาคต” ... เราเชื่ออย่างที่พี่เต๋าบอก เรื่องกระดาษจากเส้นใยธรรมชาติที่วันนี้ยังเป็นทางเลือก แต่วันหน้าจะกลายเป็นทางรอด ... มาร่วมเป็นกำลังใจให้ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจกระบวนการผลิตและรักษ์โลก เพื่อเพิ่มทางรอดในสภาวะโลกเดือดของพวกเรากันนะคะ

 

 

ช่องทางติดตามผลงาน สั่งซื้อกระดาษ และเข้าร่วมกิจกรรมศูนย์เรียนรู้กระดาษทำมือ

 

ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก
คุณโกสินทร์ มหาวิไลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ใจเหนือ บิซ คอนซัลท์ จำกัด
โครงการ “บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากเส้นใยกล้วย”


บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)