สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Taylor Swift Productions บริษัทตัวแม่ที่เดินเกมการตลาด เขย่าอุตสาหกรรมดนตรีด้วยนวัตกรรม

12 มิถุนายน 2567 1,924

Taylor Swift Productions บริษัทตัวแม่ที่เดินเกมการตลาด เขย่าอุตสาหกรรมดนตรีด้วยนวัตกรรม



👱‍♀️ ศิลปินหญิงผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของวงการเพลง ณ เวลานี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “Taylor Swift” 

💃 จากสาวคันทรีเสียงหวาน กลายมาเป็นตัวแม่ที่ไม่ว่าจะกลับมากี่ครั้ง ก็เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ได้เสมอ นอกจากผลงานในเชิงศิลป์ที่ทำให้ Taylor Swift ถูกยกขึ้นหิ้งเป็นเหมือนกวีในปัจจุบัน ศิลปินคนนี้ยังมีมุมการเป็นนักธุรกิจที่คิดนอกกรอบ จนทำให้ Taylor Swift Production ติดอันดับที่ 15 ของโลก ในการเป็นบริษัทที่นำนวัตกรรมมาพลิกโฉม เขย่าอุตสาหกรรมดนตรี คอนเสิร์ต และความบันเทิงให้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะที่เธอต้องการ

👉 ซึ่งจะน่าสนใจสักแค่ไหนนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาถอดกลยุทธ์ธุรกิจของ Taylor Swift ผ่านบทบาทนักธุรกิจที่คิดหา Solution ใหม่ๆ ในแบบที่ไม่มีใครเคยทำ ทั้งยังเป็นผู้นำที่ช่วยสร้างบรรทัดฐานให้กับศิลปิน ให้กล้าสู้เพื่อผลงานสร้างสรรค์ พ่วงด้วยการเป็นนักวางแผนการตลาดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลง


🎵 การกระทำครั้งสำคัญ คือการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนเห็นคุณค่าของผลงานเพลง

📱 ย้อนกลับในยุคที่ Music Streaming เริ่มเข้ามาใหม่ๆ แพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Apple Music ก็มีกลยุทธ์ซื้อใจด้วยการเปิดให้ทดลองใช้ฟรี จนกลายเป็นที่มาของความเห็นที่ไม่ตรงกัน เพราะ Apple Music เลือกที่จะไม่จ่ายเงินให้ศิลปินในระหว่างนั้น จน Taylor Swift ต้องออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึก และดึงผลงานเพลงในอัลบั้ม 1989 ที่มีกระแสออกจากแพลตฟอร์ม เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ให้เจ้าของผลงาน จึงทำให้ Music Streaming ต้องมีการปรับเงื่อนไขให้ศิลปินได้รับส่วนแบ่ง แม้จะอยู่ในช่วงทดลองใช้งานก็ตาม

📄 ประเด็นเกี่ยวกับ Music Streaming ไม่ได้มีเฉพาะกับ Apple Music แต่ก่อนหน้านั้น Taylor Swift ก็เคยนำเพลงในอัลบั้มต่างๆ ออกจาก Spotify ด้วย เนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ได้ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ซึ่งการกระทำนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปกป้องทั้งสิทธิ์ของตัวเองและศิลปินตัวเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก และยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของงานสร้างสรรค์ ที่ต้องแลกมาด้วยค่าตอบแทนที่คุ้มค่าอีกด้วย



🎤 พูดถึงความสำเร็จในฐานะศิลปิน จะไม่มีเรื่องการ Re-record ก็คงจะไม่ได้

📊 จากปัญหาเกี่ยวกับสิทธิ์ในการครองส่วนแบ่งรายได้จากค่ายเพลงเก่า Taylor Swift ก็ได้ตัดสินใจที่จะบันทึกเพลงใหม่ จาก 6 อัลบั้ม เพื่อให้ตัวเองได้กลายเป็นเจ้าของในผลงานที่ตัวเองสร้างโดยการใช้ชื่อที่ห้อยท้ายว่า Taylor’s Version แต่ถึงอย่างนั้น นี่ก็เป็นการตัดสินใจที่มีความท้าทาย เพราะไม่มีอะไรการันตีได้ว่า เพลงที่บันทึกมาใหม่จะได้รับผลตอบรับเช่นเดิม 

✏️ ในการโปรโมตอัลบั้ม จึงมีแผนการตลาดซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ โดยเริ่มปูสตอรี่ให้แฟนเพลงทั่วโลก ตั้งตารอคอยว่านี่จะเป็นการบันทึกเพลงในเนื้อหาเดิม ด้วยประสบการณ์ใหม่ของ Taylor จากมุมมองที่เติบโตขึ้น ทั้งในแง่ของประสบการณ์ชีวิต เทคนิคเสียงร้อง รวมถึงองค์ประกอบของดนตรีที่ถูกปรุงแต่งให้มีความร่วมสมัย ทั้งยังมีการสปอยไว้ว่าจะนำเอาเพลงที่ยังไม่เคยปล่อยที่ไหน มาทำการบันทึก และใส่ลงไปในอัลบั้มที่มีการ Re-record อีกด้วย

🤝 นอกจากนั้น Taylor Swift ยังมีกลยุทธ์ให้อัลบั้มนี้ถูกพูดถึง ด้วยการร่วมมือกับ Google สร้างเกมปริศนาเพื่อจะเฉลยชื่อเพลงใหม่ โดยให้เหล่าแฟนคลับเข้ามาร่วมสนุกด้วย ซึ่งผลตอบรับของเกมนี้ยังทำให้ชื่อของ Taylor Swift ติดอันดับการค้นหาบน Google ไปในตัว ส่วนยอดขายในเชิงออฟไลน์ Taylor Swift ก็ยังมีการนำเสนอให้หลากหลาย ทั้งการใส่ Bonus Track หรือการออกสินค้าในแบบที่เป็น Limited Edition ซึ่งช่วยกระตุ้นให้แฟนคลับรู้สึกต้องรีบไปซื้อมาเพื่อจะได้เป็นเจ้าของ



🗺️ ส่วนสุดท้ายที่ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของ Taylor Swift ก็คือ The Eras Tour ที่กระแสโด่งดังไปทั่วโลกจนเกิดการบัญญัติศัพท์จากนักเศรษฐศาสตร์ว่า Swiftonomics (สวิฟโตโนมิกส์) เนื่องจากเป็นทัวร์คอนเสิร์ตแรกในประวัติศาสตร์ที่มียอดขายบัตรเข้าชมทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

🌟 นอกจากความคิดถึงของแฟนคลับที่ล้นหลาม ความสำเร็จของคอนเสิร์ตนี้ยังอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีดึงดูดให้ผู้ชมยอมจ่ายเงินเพื่อมาซื้อประสบการณ์ มนต์สะกดของ The Eras Tour ด้วยการออกแบบบรรยากาศ ที่จะพาแฟนคลับย้อนกลับไปสัมผัสตัวตนของ Taylor Swift ในหลากหลายเวอร์ชัน และยังใช้เทคโนโลยีมาเนรมิตเวทีเรียกเสียงฮือฮา ไม่ว่าจะเป็นแบบที่สามารถยกตัวขึ้นมาด้วยระบบไฮดรอลิก หรือเวทีทางเดินที่เป็นจอ LED ซึ่งจะมีการขึ้นกราฟิกเพิ่มลูกเล่นต่างๆ อีกทั้งยังมีกำไลข้อมือสำหรับบัตรชมทุกที่นั่ง ที่จะมีการเปลี่ยนสี เล่นแสง หรือกะพริบไปตามจังหวะ เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับแฟนๆ ได้ ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมง

📹 ความสำเร็จของ The Eras Tour ยังถูกต่อยอดไปสู่ช่องทางใหม่ นั่นก็คือการบันทึกการแสดงมาฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งการฉายคอนเสิร์ต Taylor Swift ก็ยังมีกลยุทธ์ที่แตกต่างจากคนอื่น นั่นก็คือเลือกทำข้อตกลงโดยตรงกับ AMC Theaters โดยจะไม่ผ่านสตูดิโอที่เป็นคนกลาง กลยุทธ์นี้ทำให้ Taylor Swift สามารถกำหนดแนวทางการตลาดได้เองทั้งหมด ตั้งแต่กำหนดตารางฉาย ซึ่งทำให้ The Eras Tour ได้ฉายลงสู่จอในช่วงเวลาที่รวดเร็วและเข้าฉายได้ในระยะเวลาที่นานกว่าแบบแผนการตลาดแบบเดิมๆ  ในอีกแง่ก็เพื่อจะเป็นทางเลือกให้กับแฟนคลับที่พลาดโอกาสในรอบการแสดงสด

จากจุดเริ่มต้นของการจับไมค์และสะพายกีตาร์ มาสู่การเป็นนักธุรกิจที่ถูกยกให้เป็นเศรษฐินีพันล้าน จะเห็นว่า Taylor Swift ไม่เพียงแต่โดดเด่นแค่ในภาพของศิลปินเท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรที่กล้าฉีกกรอบ กล้าทดลองสิ่งใหม่ ที่สำคัญยังเห็นแนวทางในการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ศิลปินต้องเจอในการทำผลงาน และนี่คือวิธีคิดในแบบฉบับของศิลปินและนักธุรกิจหญิงผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค “Taylor Swift” 

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.fastcompany.com/91037594/taylor-swift-productions-most-innovative-companies-2024 
https://www.beartai.com/tech/it-news/51773 
https://gqthailand.com/views/article/taylor-swift-shakes-off-spotif 
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1004198 
https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/100759 
https://www.thepeople.co/culture/music/52396 
https://www.dtn.go.th/th/file/get/file/1.20240328ea5f9cdc1b51a87c16e6956259335cfc140205.pdf 
https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/103452 
https://medium.com/@mstoriale/how-taylor-swifts-tour-inspired-a-new-mantra-for-our-innovation-team-96e4bbcd432d 
https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/taylor-swift-eras-tour-box-office-lessons-mistakes-1235619851/   
https://www.gqthailand.com/exclusive/gq-hype/article/gq-hype-vol-198