สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ประเทศเดินเกม! เสริมพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดโครงการเรือธง ผลักดัน Soft Power

21 มิถุนายน 2567 2,665

ประเทศเดินเกม! เสริมพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดโครงการเรือธง ผลักดัน Soft Power


👂 Soft Power คำศัพท์เท่ๆ สุดแสนคุ้นหู ที่ใครๆ ต่างก็พากันพูดถึงเมื่อเห็นอะไรที่มีความไวรัล

🤳 แต่สิ่งที่ฮิตติดกระแส หรือสิ่งที่ได้รับความนิยม อาจไม่ถือว่าเป็น Soft Power เสมอไป เพราะตามนิยามของศาสตราจารย์ Joseph S. Nye ได้อธิบายไว้ว่า Soft Power หมายถึงความสามารถในการชักจูงใจให้ผู้อื่นเกิดการยอมรับ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด ตามสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ โดยไม่ต้องบังคับหรือสร้างข้อแลกเปลี่ยน

📈 และศาสตราจารย์ยังกล่าวถึงแหล่งที่มาของ Soft Power ว่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ วัฒนธรรมที่โน้มน้าวผู้อื่นได้ ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ โดยถ้าประเทศใดประเทศหนึ่ง มีวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมและนโยบายที่ดำเนินการ ก็จะยิ่งเสริมให้พลังขุมทรัพย์ของ Soft Power มีความแข็งแกร่งขึ้นมาก หรือในทางกลับกันหากวัฒนธรรมขัดแย้งกับนโยบายทางการเมือง ก็อาจส่งผลให้ Soft Power ของประเทศลดลงได้

👨‍❤️‍👨 ยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้น จากความสำเร็จเกี่ยวกับ “ซีรีส์วาย” ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยมีความเห็นอกเห็นใจ เป็นสยามเมืองยิ้มที่ไม่ว่าชาติใดก็รู้จัก เมื่อผนวกเข้ากับค่านิยมของสังคมที่เปิดกว้าง และมีการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจัง จึงทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำ สร้างรายได้จากการผลิตซีรีส์วายจากตลาดผู้ชมทั้งในและต่างประเทศได้

💬 โดย Soft Power ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่หลายประเทศสื่อสารออกไปให้ทั่วโลกยอมรับ เพราะผลลัพธ์ที่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่า จะเป็นประตูไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทยในตอนนี้ที่มีเป้าหมายและแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง หากอยากรู้ว่าหลังจากนี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปยังทิศทางไหน มาดูไปด้วยกัน !


📊 จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2024 โดย Brand Finance ปีนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 จาก 193 ประเทศ ซึ่งการจัดอันดับของ Brand Finance จะใช้ตัวชี้วัด 3 ด้าน คือ ความคุ้นเคย (Familiarity) ชื่อเสียงและปัจจัยดึงดูด (Reputation) และอิทธิพลที่มีต่อประเทศอื่น (Influence) ร่วมกับการวิเคราะห์ผ่าน 8 เสาหลักของ Soft Power ได้แก่ ธุรกิจและการค้า (Business & Trade) การปกครอง (Governance) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) วัฒนธรรมและมรดก (Cultural & Heritage) สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication) การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) ประชาชนและค่านิยม (People & Values) และอนาคตอันยั่งยืน (Sustainable Future) 

หากมองเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยจัดว่าอยู่ในอันดับที่ 3 ซึ่งเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทยก็คือ ความคุ้นเคย (Familiarity) ชื่อเสียงและปัจจัยดึงดูด (Reputation) วัฒนธรรมและมรดก (Culture & Heritage) และผู้คนและค่านิยม (People & Values) 

🔎 ถึงตัวชี้วัดเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนสูง แต่ก็ยังมีจุดที่จะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก เช่น ตัวชี้วัดด้าน Culture & Heritage ที่ประเทศไทยมีต้นทุนดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร สถานที่ วิถีชีวิตที่ดึงดูด หรือมรดกทางวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การนำสิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ใจของผู้คน โดยการใช้นวัตกรรมเข้าไปปรับรูปแบบการนำเสนอให้ผู้คนจับต้องง่าย เข้าถึงกลุ่มคนทั่วโลก เพื่อดึงดูดความสนใจให้ชาวต่างชาติอยากมาท่องเที่ยวเมืองไทย มาลิ้มรสอาหารไทย และสนใจเสพศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

🎓 นอกจากนั้น ตัวชี้วัดในด้าน การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) สื่อและการสื่อสาร (Media & Communication) และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ยังเป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนา โดยเฉพาะการปรับปรุงด้านการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีคะแนนต่ำสุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ 

อ่านข้อมูลการวิเคระห์จุดแข็งและประเด็นปรับปรุงของแต่ละประเทศได้จากรายงาน MAY THE SOFT POWER BE WITH YOU ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ที่ https://www.cea.or.th/th/single-research/soft-power-be-with-you


🚩 เมื่อรับรู้ถึงจุดเด่นที่ต้องเพิ่มพลัง และจุดเปราะบางที่ต้องเร่งการพัฒนา ประเทศไทยจึงเริ่มต้นในการผลักดัน Soft Power และสร้างอิทธิพลอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม 

👉 นโยบายในการผลักดันที่เกิดขึ้น ก็คือการจัดตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ THACCA-Thailand Creative Culture Agency ที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีโอกาสเติบโตทั้ง 11 สาขา ซึ่งประกอบไปด้วย 
1.    ด้านหนังสือ
2.    ด้านเฟสติวัล (เทศกาล)
3.    ด้านอาหาร
4.    ด้านการท่องเที่ยว
5.    ด้านดนตรี
6.    ด้านเกม
7.    ด้านกีฬา
8.    ด้านศิลปะ
9.    ด้านการออกแบบ
10.    ด้านภาพยนตร์ ละครและซีรีส์
11.    ด้านแฟชั่น

👤 บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการนั้น จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนการทำงาน สนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนด้านการเงินผ่านการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม สนับสนุนองค์ความรู้ โดยรวบรวมข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ 

ที่สำคัญคือ การสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน คุ้มครองลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา รับรองมาตรฐานอาชีพ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ และกำหนดมาตรการส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม และTHACCA จะเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้เอกชนสามารถติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แบบครบ จบ ในที่เดียว!



🏟 สิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ การนำเสนอทิศทางในการขับเคลื่อนเรื่อง Soft Power ให้ปรากฏสู่สายตาประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้ร่วมกัน 

🗺 เตรียมปักหมุดประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านงาน THACCA SPLASH – Soft Power Forum 2024 ครั้งแรกของประเทศไทยกับฟอรัมซอฟต์พาวเวอร์ระดับนานาชาติที่จะมาระเบิดพลังวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยให้ดังไปทั่ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ทำความเข้าใจเรื่อง Soft Power  พร้อมกับฉายทิศทางนโยบาย แผนการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งกิจกรรมในงานจะมีทั้งหมด 4 ส่วน 

👉 เริ่มจากส่วนที่ 1 คือ SPLASH Visionary Zone พื้นที่สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์จากภาครัฐ เปิดเวทีสัมมนา และฟังกรณีศึกษาความสำเร็จจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการแสดงความสามารถของคนรุ่นใหม่ในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีเวที ‘SPLASH Pod’ สัมภาษณ์ผู้นำในรูปแบบของรายการ Podcast เพื่อเจาะลึกองค์ความรู้หรือกระบวนการคิดระดับโลกให้ทุกคนได้ฟังกันวันงาน

👉 ส่วนที่ 2 คือ SPLASH Creative Culture Pavilion ซึ่งโซนนี้จะมีทั้งนิทรรศการจาก THACCA ที่จะบอกเล่าเป้าหมายและนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย Soft Power และนิทรรศการจาก 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจศักยภาพด้าน Soft Power ของประเทศไทยมากขึ้นและ International Pavilion - นิทรรศการจากนานาชาติที่จะนำเสนอโอกาสและความสำเร็จของนโยบายด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์

👉 ส่วนที่ 3 คือ SPLASH Master Class พื้นที่สำหรับการ Upskill และ Reskill ให้สำหรับทุกคนที่สนใจ โดยจะมีห้องเรียนจากหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยังมีการจัดกิจกรรม Hackathon ที่จะถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแข่งขันเฟ้นหาไอเดียสร้างสรรค์ในการส่งเสริม Soft Power ของประเทศ

👉 ส่วนสุดท้าย ส่วนที่ 4 ก็คือ SPLASH Activation Lounge พื้นที่สำหรับการพูดคุย สร้างความร่วมมือ สร้างเครือข่ายในการสร้างสรรค์ผลงาน และการจับคู่ค้าทางธุรกิจ (Business Matching) 

📅 สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการหาไอเดียในการพัฒนา Soft Power ของประเทศไทย พร้อมรับฟังทิศทางการผลักดันในอนาคตต่อไปจากทั้งภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ มาเจอกันได้ที่งาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 ในวันที่ 28 - 30 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฟอรัมซอฟต์พาวเวอร์ระดับนานาชาติครั้งแรกที่ไทยจะจัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power ออกสู่ตลาดโลก 

📨 ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้แล้วที่ https://general.icv-allservice.com รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB Page: THACCA-Thailand Creative Culture Agency 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://thacca.go.th/ 
https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/209692 
https://library.parliament.go.th/en/radioscript/rr2565-may7 
https://www.ryt9.com/s/prg/3274043 
https://static.brandirectory.com/reports/brand-finance-soft-power-index-2024-digital.pdf 
https://www.brandage.com/article/37326 
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/266901 
https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2024/4/25/media_Soft_Power_Report_Final_25-4-67.pdf 
https://www.voicetv.co.th/read/LgD1Lv69E 
https://rocketmedialab.co/soft-power/ 
https://www.nia.or.th/THACCA-SPLASH-Press-Conference