NIA โชว์ 2 นวัตกรรม “S.N.A.P - Recovery” หนุนเชียงใหม่สู่ “เมืองนวัตกรรม” ต้อนรับเทศกาลท่องเที่ยวสุดเซฟตี้
จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพและความพร้อมต่อการเติบโตของนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว การอยู่อาศัย การแพทย์ การเกษตร ฯลฯ อีกทั้งยังพร้อมต่อการรองรับกลุ่มดิจิทัลโนแมดและสตาร์ทอัพจากทั่วโลก NIA จึงเดินหน้าทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันเชียงใหม่ให้น่าอยู่ น่าลงทุน จึงได้สนับสนุน 2 นวัตกรรม ตอบโจทย์เทศกาลท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ “S.N.A.P Platform” ระบบรวบรวมและวิเคราะห์ภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) ด้วย AI อัตโนมัติ สำหรับเฝ้าระวังอาชญากรรมและอุบัติเหตุ และ “Recovery Platform” นวัตกรรมที่ช่วยออกแบบ ประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวเฉพาะรายบุคคลและเฉพาะโรค รองรับการขยายตัวของสังคมสูงวัย
S.N.A.P Platform คิดค้นโดยบริษัท อินฟีนิตี้ เจ็น จำกัด เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถเชื่อมต่อกล้องวงจรปิดยี่ห้อต่าง ๆ จากหลายหน่วยงานให้สามารถเชื่อมต่อและแสดงผลบนแพลตฟอร์มเดียวกันได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งกล้องใหม่ และนำ AI วิเคราะห์ภาพ เช่น พฤติกรรมการเคลื่อนไหว อัตลักษณ์การแต่งกาย ประเภทและความหนาแน่นของยานพาหนะ และเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเชิงวิเคราะห์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ช่วยยกระดับการบริการประชาชนด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและอุบัติเหตุให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดงบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดใหม่เบื้องต้นลงได้มากถึง 10 เท่า ปัจจุบันนวัตกรรมนี้อยู่ในพื้นที่เขตการดูแลของตำรวจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ กลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงมีทั้งกลุ่มตำรวจท่องเที่ยว เทศบาลนครเชียงใหม่ ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว
นอกจากนวัตกรรมท่องเที่ยวปลอดภัยแล้ว NIA ยังเห็นศักยภาพความพร้อมของเชียงใหม่ในด้านการแพทย์และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย รวมถึงประเด็นท้าทายอย่างสังคมสูงวัย จึงได้สนับสนุนบริษัท ชีวาแคร์ จำกัด
ChivaCare ชีวาแคร์ ในการพัฒนา “Recovery Platform” ซึ่งถือเป็นหนึ่งผลสำเร็จของ
ย่านนวัตกรรมการแพทย์ SMID: Suandok Medical Innovation District เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานของแพลตฟอร์มนี้จะใช้หลักการ “Patient-centric and Holistic Approach” ร่วมกัน ช่วยให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถประเมิน วางแผน และติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวผ่านระบบที่ถูกออกแบบมาเฉพาะบุคคลและเฉพาะโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต ภาวะหลังการผ่าตัดกระดูกและข้อ โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ปัจจุบันบริษัทมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยและการรักษาที่เกี่ยวข้องไปแล้วมากกว่า 20,000 เคส มีผู้ป่วยที่เคยใช้บริการแบบ Remote Online Tracking and Monitoring ไปแล้วกว่า 1,000 ราย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน และเพิ่มความสะดวกสบาย สามารถรักษาฟื้นฟูที่บ้านได้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย