สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับ SAAB บริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติสวีเดน เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ณ ราชอาณาจักรสวีเดน

News 25 พฤศจิกายน 2567 16

NIA ร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับ SAAB บริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติสวีเดน เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ณ ราชอาณาจักรสวีเดน


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม และคณะเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับ Mr. Jonas Hjelm, Head of Saab Group Government Affairs, Mr. Wille Birksten, Senior Public Affairs Advisor, Mr Petteri Alinikula, CTO Saab Finland Oy และคณะของ SAAB เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ระหว่างไทย-สวีเดน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน

SAAB เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติสวีเดนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1937 เพื่อสนับสนุนกองทัพสวีเดนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบัน SAAB มียอดขายกว่า 52 พันล้านโครนาสวีเดน (SEK) หรือประมาณ 165 พันล้านบาทต่อปี และมีการลงทุนใน R&D ถึง 17% ของยอดขาย บริษัทมีพนักงานอยู่ทั่วโลกกว่า 21,600 คน โดยในจำนวนนี้กว่า 11,000 คน ทำงานด้าน R&D และ SAAB ยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตสินค้านวัตกรรมในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนี้
1. การป้องกันประเทศ – ผลิตเครื่องบินรบ Gripen, เรือดำน้ำ, ระบบเรดาร์, ระบบเซ็นเซอร์ และระบบอาวุธ
2. การบินและอวกาศ – ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบิน
3. ความปลอดภัย – พัฒนาระบบเฝ้าระวังและควบคุมสำหรับหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชน

SAAB มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกในการทำแผนยุทธศาสตร์งานวิจัยและเทคโนโลยีร่วมกัน เช่น Swedish Defense University, Aalto University, Chalmers, KTH Vetenskap Och Konst, Lund University, Purdue University, University of Surrey, Imperial College, MIT เป็นต้น โดยที่ผ่านมา SAAB สนับสนุนเงินทุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องปัญหาของภาคอุตสาหกรรมให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อกำหนดโจทย์งานวิจัยร่วมกัน

ในการหารือครั้งนี้ NIA ได้หารือกับ SAAB เรื่องการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ผ่าน Incubators และ Accelerators เพื่อแสวงหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดย SAAB ยินดีและพร้อมเปิดโอกาสในการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ (Proof of Concept) โดยโฟกัสที่รายสาขา DeepTech, SpaceTech, AgTech-Forestry, FoodTech, Cyber Technologies และ Green Energy ตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่ SAAB เคยร่วมทำงานด้วย ได้แก่  IQM-Quantum Computing, ICEYE, Small-satellite SAR-Radars, Kelluu - remotely operated airship เป็นต้น

NIA พร้อมผลักดันความร่วมมือครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนวัตกรรมของประเทศไทยและสร้างความก้าวหน้าในระดับสากล

#NIA #SAAB #Innovation #SpaceTech #Startup #Industry #Universities #DeepTech #Thailand #Sweden