สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
โอกาสทองของข้าวไทย! สู้ศึกตลาดที่ผันผวนด้วยการนวัตกรรมล้ำสมัย
🌾 “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สุภาษิตชูโรงเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนขวานทองของประเทศไทยเรา ที่ไม่ว่าจะเพาะปลูกพืชผลอะไรก็เจริญงอกงาม
🍚 โดยเฉพาะ “ข้าว” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากจะใช้บริโภคภายในประเทศแล้ว ไทยยังส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่อินเดียเท่านั้น ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียเผชิญกับสถานการณ์ความท้าทายทางการ เกษตร ทั้งสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว (ยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ) เพื่อบริหารจัดการข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค และป้องกันราคาข้าวภายในประเทศไม่ให้กระโดดสูงขึ้น
แต่พอถึงช่วงเดือนตุลาคม ตลาดส่งออกข้าวก็เริ่มเกิดความสั่นไหวอีกครั้ง เพราะอินเดียเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกข้าว ทำให้หลายประเทศต้องติดตามทิศทางของตลาดอย่างต่อเนื่องเกี่ยว เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ต้องมองถึงโอกาสในระยะยาวในการเร่งศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาข้อจำกัดทางด้านต้นทุนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อกำไรที่ไม่คุ้มค่า และยังต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่แข่งขันได้ในตลาดด้วย นวัตกรรม
🎖️ NIA ในฐานะ Focal Conductor ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย จึงร่วมมือกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวด “นวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2567 หรือ Rice Innovation Awards 2024” เพื่อคัดเลือกนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวไทย รวมถึงกระบวนการผลิต นวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับข้าวไทยที่มีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคม การประกวดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และยกระดับภาค เกษตร ให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
👩🔬 ซึ่งนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์เยลลี่จากข้าวให้ความชุ่มชื้นในช่องปาก ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย โดยนำส่วนผสมของสารสกัดจากข้าวอินทรีย์ ที่มี Anthocyanin หลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบ และสมานแผลในช่องปาก โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเพื่อให้ได้สารที่มีความคงตัว เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ที่มีอาการปากแห้ง หรือภาวะแทรกซ้อนในช่องปาก
🧑🌾 ไม่ใช่แค่การจัดงานประกวด แต่ NIA ยังมีการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวผ่านโครงการ “ต้นแบบการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank (ADB)
☢️ โครงการนี้ได้เชื่อมโยงเครือข่ายสตาร์ทอัพกับกลุ่มเกษตรกรไทย เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการยกระดับอุตสาหกรรมข้าว ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ไปจนถึงกระบวนการขายและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จนออกมาเป็น 5 ผลงานนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพไทยที่ช่วยแก้ปัญหาและยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยไปพร้อมๆ กัน ดังนี้
♻️ เริ่มที่ผลงานนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจาก บริษัท ไบโอม จำกัด ที่พัฒนา จุลินทรีย์คึกคัก By ALIZ ที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์แบบเฉพาะเจาะจงให้สามารถย่อยสลายสารเคมีตกค้างในดิน พร้อมกับเพิ่มผลผลิตจากการปรับปรุงดินให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีต่อเนื่อง ส่งเสริมการงอกของเมล็ดพืช และกระตุ้นอัตราการเจริญเติบโตของราก และยังมี เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ จาก บริษัท ลิสเซิลฟิลด์ จำกัด ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวางแผนใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินด้วย AI ติดตามคุณภาพการเพาะปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยที่เกษตรกรสามารถติดตามข้อมูลในแปลงปลูกได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปพลิเคชัน
✅ เมื่อดินพร้อมแล้วก็ถึงเวลาของการหว่าน ซึ่งปกติแล้วการประเมินคุณภาพข้าวโดยโรงสีเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการที่ผู้ซื้ออาจได้ข้าวคุณภาพไม่ตรงกับผลการประเมิน บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด จึงเข้ามาช่วยจัดการปัญหานี้ได้อย่างตรงจุดด้วยการใช้ AI เข้ามาตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์และคุณภาพข้าว วิเคราะห์อัตลักษณ์ข้าวเปลือก และแยกแยะสายพันธุ์ข้าวเปลือกที่ต้องการออกจากสายพันธุ์อื่นที่เจือปนมาได้ ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
🤳 ในส่วนปลายน้ำอย่างการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าโดย บริษัท วาริชธ์ฟู้ดส์ จำกัด ได้พัฒนา แพลตฟอร์ม "จากใจ" แปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและประมง พร้อมกับการสร้างช่องทางการขายให้เกษตรกรเห็นแนวทางในการต่อยอดรายได้ในรูปแบบอื่น และอีกหนึ่งแพลตฟอร์มตลาดสินค้าออนไลน์ สำหรับสินค้าจากชุมชนไทยที่มีเอกลักษณ์จาก บอร์นไทยแลนด์ แหล่งรวมสินค้าชุมชนเอกลักษณ์ท้องถิ่นทั่วไทย ผู้ที่เข้าใจ Pain Point ของกลุ่มเกษตรที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือการตลาดออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงช่วยเปิดช่องทางการขาย ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแบบ One Stop Service จนสามารถพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้มาตรฐาน และส่งออกได้ ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี
🤝 ในโครงการนี้เป็นการพิสูจน์ให้กลุ่มเกษตรกร เข้าถึงแนวทางในการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มด้วย นวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกข้าวมีผลผลิตที่มีคุณภาพ มีรายได้เพิ่มขึ้น เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง NIA จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านกลไก “Groom-Grant-Growth-Global” เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมการ เกษตร ให้มีความแข็งแกร่ง ยกระดับข้าวไทยให้กลับมาเป็นผู้นำของโลกอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.ryt9.com/s/iq41/3443284
https://www.thaipbs.or.th/news/content/344955
https://www.thaipbs.or.th/news/content/336816
https://thairice.org/?p=16307
https://drive.google.com/file/d/13-VRbPqFJ8AWW_wysaPaC81nUTt-50lT/view
https://thaipublica.org/2022/09/eic-analysis-on-india-rice-export-restriction-16-09-2565/
https://www.kasetsanjorn.com/การทำเกษตรแม่นยำ/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341012
https://www.smethailandclub.com/tech/9475.html