สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
Perfect Synergy 3 ประโยชน์ชวนคิดเมื่อ "Business x University"
อะไรจะเกิดขึ้น! เมื่อ “Business” x “University” คิดไกลเรื่องนวัตกรรม
ในยุคที่ธุรกิจเดินหน้าจับมือกันตลอดเวลา จนเกิดเป็นเทรนด์ “Collaboration” ที่สองแบรนด์ผสานรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตมากกว่าที่เคยเป็นอยู่ แต่จะมีอะไรที่สร้างผลกระทบทั้งในทางสังคมหรือในเชิงเศรษฐกิจมากกว่านี้ไหม และเป็นปัจจัยในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
“Business x University” เป็นอีกโจทย์ที่อยากชวนทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษามาขบคิดกันว่า เราจะสร้างประโยชน์จากความร่วมมือนี้กันได้ยังไงบ้าง และความร่วมมือนี้มีประโยชน์ยังไง ถึงได้กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ NIA ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด
ปัดฝุ่นงานวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่า
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะเป็นพื้นที่ที่ผลิตทั้งผลงานวิชาการ งานวิจัย ต่างๆ มากมายหลายด้าน คงน่าเสียดายไม่น้อย ถ้างานวิจัยส่วนใหญ่อยู่แต่บนหิ้งหรือไม่ถูกนำมาใช้เลย เพราะองค์ความรู้ทุกสาขาวิชาที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่า เพราะมีทั้งหลักคิดและทฤษฎีรองรับ ผ่านการทดลองอย่างเป็นระบบ มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ขาดเพียงกลไกในเชิงธุรกิจที่เป็นการขยายผลให้กลายเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่า
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก็เป็นสะพานหนึ่งในการเชื่อมโยงทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ภาคธุรกิจและนักลงทุน ให้เกิดความร่วมมือกันมาโดยตลอดในหลายโครงการ และเน้นต่อยอดงานวิจัยที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสร้างคุณค่าทางสังคมต่อไป
เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนานวัตกรรม
เมื่อนำงานวิจัยมาผนวกกับกลไกด้านธุรกิจที่มีทั้งองค์ความรู้และวิธีการแบบรอบด้านในสนามการค้า ตั้งแต่ การคิดแผนธุรกิจ การเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงความเข้าใจในการเห็นทิศทางของตลาด ภาคธุรกิจจึงมีส่วนสำคัญในการสานต่องานวิจัยให้มาเป็นนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง และเกิดการบริโภคในที่สุด หรือมากกว่านั้นคือการทำให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาจากงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย เช่น สตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า Easy Rice Tech ก็มีไอเดียนวัตกรรมช่วงศึกษาในระดับปริญญาโท ได้รับโจทย์ในการหาแนวทางแก้ปัญหาการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่เดิมทีใช้แรงงานคนแล้วเกิดความผิดพลาด ทำให้ข้าวขายไม่ได้ราคา จึงได้เกิด “เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวอัตโนมัติ” ขึ้น ซึ่งทำงานด้วย AI และ Deep Learning
แต่ไม่จบที่งานวิจัย เขาเดินหน้าต่อด้วยการปั้นสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดเป็นสตาร์ทอัพที่มุ่งแก้ไขปัญหาเกษตรกรทั่วไทย ทุกคนเชื่อไหมว่าไอเดียนี้ได้เงินลงทุนจากนักลงทุนมากถึง 12 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ยังไม่ผลิตออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ ธุรกิจไหนที่มองเห็นโอกาสและนักศึกษาคนไหนที่มีไอเดีย ไม่อยากให้เก็บไว้ นำมันมาสร้างเป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันดีกว่า
ปั้น Talent สร้างคนให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม
การสร้าง “คน” ปัจจุบันไม่ใช่แค่หน้าที่ของสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เพราะภาคธุรกิจก็มีบทบาทในการร่วมสร้างคนให้ตอบโจทย์กับยุคสมัย ปั้น Talent ให้ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรม ในระยะหลังเราจึงได้เห็นบริษัทจำนวนไม่น้อยร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น ตั้งแต่ในด้านหลักสูตร เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดินหน้ารับกระแสคริปโตฯ จับมือกับ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในการสอนนักศึกษาเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นกระแสใหม่ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน
หรือจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในด้านการฝึกงาน NIA ก็มีโครงการ “Founder Apprentice (FA)” เป็นโครงการที่ให้นักศึกษามาฝึกงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่อยู่ในเครือข่าย เพื่อให้เห็นการทำงานจริง และเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาได้มีงานทำในเส้นทางสตาร์ทอัพ โดยโครงการนี้จะมีการจัดขึ้นในทุกปี หนึ่งในความสำเร็จของโครงการคือ ผู้ร่วมก่อตั้ง Agnos Health สตาร์ทอัพที่พัฒนาแอปพลิเคชันช่วยวิเคราะห์โรคและอาการเบื้องต้นด้วย AI ก็เคยผ่านโครงการนี้มาก่อน ซึ่งในตอนนั้นได้เคยร่วมฝึกงานกับบริษัท Tofusan
นอกจากนี้ NIA ก็มีการส่งเสริมและพัฒนาในการศึกษาด้านนวัตกรรมผ่านหน่วยงานที่มีชื่อว่า สถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมในหลากหลายระดับ ตั้งแต่เยาวชน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงผู้ผู้บริหารด้านธุรกิจนวัตกรรม ผ่านโครงการและหลักสูตรต่างๆ มากมาย ถ้าคุณสนใจสามารถศึกษาต่อได้ที่ https://academy.nia.or.th/
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://www.nia.or.th/EasyRiceAI
https://www.nia.or.th/public/AgnosHealth
https://www.prachachat.net/education/news-837314