สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จากงานวิจัยวิศวกรไฟแรง สู่นวัตกรรมแก้ปัญหา "การค้าข้าวไม่เป็นธรรม"

บทความ 25 กรกฎาคม 2563 4,924

จากงานวิจัยวิศวกรไฟแรง สู่นวัตกรรมแก้ปัญหา "การค้าข้าวไม่เป็นธรรม"


เกิดอะไรขึ้นกับชาวนาไทย ทำไมยิ่งทำ ยิ่งจน?


คำถามคาใจที่ “คุณรีฟ – ภูวินทร์ คงสวัสดิ์” ซีอีโอ Easy Rice Tech ต้องใช้เวลาหาคำตอบนานถึง 2 ปี ก่อนจะพบถึงต้นตอของปัญหา และจุดประกายให้เขาพัฒนานวัตกรรม “เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวอัตโนมัติ” จากเทคโนโลยีประมวลผลภาพ (Image Processing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตัวแรกของประเทศ จนเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทยและระดมทุนไปแล้วถึง 12 ล้านบาท ตั้งแต่ยังไม่ออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ


คุณรีฟเล่าให้กับ NIA ฟังว่า ไอเดียนวัตกรรมเกิดขึ้นตอนที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม โดยตนได้รับโจทย์จากผู้ส่งออกข้าวรายหนึ่ง ให้ช่วยทำการวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา “การตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน” เพราะยังใช้แรงงาน ‘คน’ ทำให้มีผลการตรวจวัดมีโอกาสผิดพลาด ใช้เวลานาน แถมยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบคุณภาพให้ตรงตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้


โดยปกติแล้วทุกการซื้อขายข้าว 1 ตัน ผู้รับซื้อข้าวจะต้องสุ่มตรวจตัวอย่างข้าว 25 กรัม (ประมาณ 1,200 เมล็ด) และลองจินตนาการดูว่าหากโรงสีต้องการรับซื้อข้าว 100 ตัน จะต้องใช้คนนั่งตรวจสอบข้าวด้วยสายตาทีละเมล็ด มากถึง 120,000 เมล็ด และใช้เวลาอย่างน้อย 100 ชั่วโมง แต่เรื่องที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือปัญหาลูกโซ่ที่แอบซ่อนอยู่ เพราะกระบวนการตรวจสอบสุดยุ่งยากนี้ ทำให้ผู้รับซื้อข้าวจำนวนมาก หันไปใช้การคาดคะเนด้วยสายตาแทน และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนาไทยถูกกดราคาข้าวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น


หนทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการนำนวัตกรรมมาใช้ทดแทนแรงงานคนแบบเดิม โดยคุณรีฟเริ่มต้นจากการพัฒนา “เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวอัตโนมัติ” (M100 Rice Quality Assurance Machine) ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ (Image Processing) และ Deep Learning หน้าตาคล้ายเครื่องสแกนเนอร์ ซึ่งมีขั้นตอนการใช้งานง่ายๆ เพียงนำตัวอย่างข้าว 25 กรัม มาเทลงบนถาดด้านบน ปิดฝาเครื่อง และกดปุ่มเริ่มทำงาน ตัวเครื่องก็จะแปลงภาพแสกนเมล็ดข้าว เป็นข้อมูลดิจิทัล และจัดเก็บเข้าสู่ Cloud Database ให้อัตโนมัติ 


อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระบบประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งคุณรีฟพัฒนาขึ้นร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยประมวลผลภาพตัวอย่างข้าวที่สแกนไว้ ส่งกลับมาภายในเวลาแค่ 30 วินาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 45-120 นาที โดย AI สามารถตรวจสอบคุณลักษณะทางกายภาพของเมล็ดได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งขนาดความยาว สัดส่วนการแตกหักของเมล็ด การปนเปื้อนของตัวอย่างข้าว และข้อบกพร่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต การกะเทาะ และการขัดสี ฯลฯ ได้อย่างแม่นยำไม่ต่างจากการใช้คนในการตรวจสอบเลย


ถึงจะใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสุดล้ำหลายอย่าง แต่ราคาค่าลงทุนกลับไม่แรงอย่างที่คิด เพราะคุณรีฟวางแผนไว้ว่าจะเปิดให้บริการตัวเครื่อง M100QA นี้ ในรูปแบบ Subscription รายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าว ตั้งแต่กลุ่มผู้ส่งออกที่มีเงินทุนหนา ไปจนถึงโรงสีชุมชนที่มีงบประมาณจำกัด สามารถใช้บริการได้ไม่ต่างกัน โดยคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 60,000 – 100,000 บาท ในปีแรก และในปีต่อๆ ไปจะคิดค่าบริการลดลงเหลือเพียงปีละ 20,000 – 30,000 บาท ซึ่งหากเปรียบต้นทุนการใช้เครื่องกับการใช้คนในการตรวจสอบ จะสามารถลดต้นทุนไปได้ราว 50% หรือประมาณ 120,000 บาทเป็นอย่างน้อย 


แม้วันนี้ Easy Rice Tech จะสอบผ่านโจทย์สุดหินที่เคยได้รับไว้เมื่อ 2 ปีก่อน แต่เป้าหมายสุดท้าทายต่อไปคือการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมไว้ เป็น Big Data ซึ่งจะบอกได้ว่าผู้รับซื้อข้าวกำลังเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรหรือไม่ หรือข้าวที่ชาวนาแต่ละรายนำมาขายมีคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหน โดยคุณรีฟตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปี 2020 นี้ Easy Rice จะมีฐานข้อมูลผู้ซื้อผู้ขายข้าว ราว 1 แสนแห่งจากทั่วประเทศ และเกิดเป็น “ตลาดซื้อขายข้าวที่โปร่งใสเป็นธรรม” ให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างยั่งยืน 


ยังมีอีกหลายปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรไทยกำลังต้องเผชิญ ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่กำลังมีไอเดียนวัตกรรมดีๆ และอยากต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกับ Easy Rice Tech นี้ สามารถติดต่อขอรับทุนสนับสนุนได้ที่ www.nia.or.th/project