สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
เมื่อภาครัฐ ‘เปิด’ นวัตกรรมก็ ‘เกิด’ ได้ เปลี่ยน Data ให้กลายเป็นขุมทรัพย์ในการพัฒนาประเทศ
🌐 “Data จะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเหมือนกับน้ำมัน” เป็นประโยคที่ แจ็ค หม่า เคยกล่าวไว้เพื่อบ่งบอกถึงความสำคัญของข้อมูล ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจในอนาคต แต่หากไม่ใช่ในเชิงธุรกิจแล้ว ข้อมูลที่ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์แบบไหนได้อีกบ้าง
หลายคนอาจจะคุ้นชินกับภาพการใช้ Data ในบริบทของการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หา Insight ทำนายพฤติกรรมของลูกค้า แต่ทว่าพลังของ Data ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายรูปแบบอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และงานบริการของภาครัฐ วันนี้จึงอยากชวนทุกคนไปรู้จักการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่าน “Open Data” ที่ภาครัฐเปิดให้ประชาชนเข้าถึงและนำไปใช้อย่างเสรีในรูปแบบต่างๆ ด้วยกัน
จากข้อมูลที่สำรวจโดยสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) ประเทศไทยติดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนในอันดับที่ 55 และ 18 ตามลำดับจาก 193 ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเอง มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพงานบริการภาครัฐ ซึ่ง Open Data ก็เป็นหนึ่งหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยมีการต่อยอดใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาบริการสาธารณะ และจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก Data นั้นมีได้หลายแนวทาง เริ่มตั้งแต่ “การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ” ตัวอย่างเช่น NIA ที่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่าง ข้อมูลนักลงทุน ข้อมูลธุรกิจนวัตกรรมตามภูมิภาค ข้อมูลระดับการเติบโตของตลาดวิสาหกิจ และยังเปิดให้ผู้ประกอบการและคนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปของธุรกิจในอนาคต หรืออย่างในภาคการเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีการจัดทำ Big Data ให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้จัดการผลผลิต คาดการณ์สภาพฝนฟ้าอากาศ มุ่งสู่การขับเคลื่อนเกษตรเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้ประชากรชาวเกษตรมีรายได้ที่สูงขึ้น
อีกแนวทางที่ Data เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือ “การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหา” อย่างเช่น กรมทางหลวงที่ได้นำข้อมูลความหนาแน่นทางจราจรมาทำการศึกษาวางแผนพัฒนาก่อสร้างถนนเส้นใหม่ สร้างระบบเครือข่ายขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงได้อย่างหลากหลาย พร้อมกับการรายงานสภาพการจราจรแบบ Real Time เพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ติดขัด อีกตัวอย่างที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันก็คือ ฝุ่น PM 2.5 ที่ GISTDA ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมมาติดตามพฤติกรรมของฝุ่น เพื่อใช้วิเคราะห์ถึงต้นตอก่อนจะนำไปสู่การจัดการอย่างถูกต้อง พร้อมกับการพัฒนาต่อมาเป็นแอปพลิเคชัน ‘เช็คฝุ่น’ เพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันอันตรายจากมลภาวะทางอากาศได้
ทั้งนี้ นอกจากการเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงฐานข้อมูลแล้ว เรายังเริ่มเห็นการเดินหน้าให้ประชาชนสามารถเป็นแหล่งข้อมูลให้แก่ภาครัฐ ดังเช่นที่กรุงเทพมหานคร และ UNDP ได้นำแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เข้ามาเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วม สะท้อนเสียงคนเมือง เพื่อพัฒนาแนวทางบริหารจัดการเมืองด้วยข้อมูลจากเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ โดย “เปิดรับเรื่องร้องเรียนทุกปัญหา” ไม่ว่าจะเป็น การจัดการขยะ ปัญหาสาธารณภัย จุดเสี่ยงเครือข่ายไฟฟ้า การประปา ถนนทางเท้า ไปจนถึงการพบอาคารสถานที่ชำรุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการไปแล้วมากกว่า 2 แสนรายการ
จากตัวอย่างทั้งหมดที่ว่ามา ก็ยิ่งช่วยให้เข้าใจคำว่า Data มีมูลค่าสูงเหมือนน้ำมันได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการเก็บ กลั่นกรอง ก่อนจะต่อยอดสร้างประโยชน์ ซึ่งหากนำมาใช้อย่างเหมาะสมก็จะยิ่งสร้างมูลค่าไปได้อีกมหาศาล ยิ่งในทุกวันนี้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐอย่างง่ายดายขึ้นมาก หากนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็จะยิ่งช่วยให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ ครอบคลุมบริการสาธารณะ และก้าวเข้าสู่การที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://publicadministration.un.org/egovkb/en-us/Data/Country-Information/id/169-Thailand
https://mgronline.com/politics/detail/9660000047494
https://opendata.nia.or.th/
http://bhs.doh.go.th/files/duschanee/duschanee65.pdf
https://www.agrinewsthai.com/agricultural-technology/47368
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5329
https://www.traffy.in.th/