สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ปัจจัยที่ควรรู้ก่อนลงทุนในธุรกิจ Startup ไขความลับสู่การเป็น Angel Investor มือโปร

17 กุมภาพันธ์ 2568 222

ปัจจัยที่ควรรู้ก่อนลงทุนในธุรกิจ Startup ไขความลับสู่การเป็น Angel Investor มือโปร


⚖️ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชนะเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลต่อความผันผวนของการลงทุนในตลาดทั่วโลก ทำให้การตัดสินใจของนักลงทุนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

💰 การเลือกลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพจึงต้องมีการพิจารณาถึงหลายๆ ปัจจัย เพื่อให้การลงทุนเป็นไปในทิศทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด NIA จึงนำทริคการลงทุนจากหลักสูตร “Investor Courses” มาแชร์เพื่อเป็น Guideline ให้กับสตาร์ทอัพได้รู้ถึงวิธีดึงดูดนักลงทุน อีกทั้งยังเป็นการให้คำแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงเม็ดเงินสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างรอบคอบ

✅ โดยเริ่มต้นจากปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาเลือกลงทุนในธุรกิจ Startup ที่หากมีครบทั้ง 5 ข้อ นักลงทุนก็พร้อมติ๊กถูก และให้การสนับสนุน ดังนี้

1. ทีมงานและประสบการณ์ (Team & Experience) นักลงทุนจะพิจารณาถึงศักยภาพและประสบการณ์ของทีม ว่ามีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน โดยผู้ก่อตั้งต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายธุรกิจและโอกาสเติบโตได้ในอนาคต

2. ขนาดตลาด (Market Size) สิ่งนี้คือการมองขนาดของตลาดในอนาคต ว่ามีศักยภาพในการพัฒนาต่อมากน้อยแค่ไหน ขนาดกว้างพอที่จะทำกำไรให้กับธุรกิจได้หรือไม่ ดังนั้นขนาดของตลาดจึงต้องใหญ่เพียงพอเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงเงินของนักลงทุน

3. ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantages) สิ่งนี้จะเป็นการบอกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการมีความได้เปรียบอย่างไร ซึ่งนักลงทุนจะพิจารณาเลือกสนับสนุนบริษัทที่มีความได้เปรียบในระยะยาว โดยวัดได้จากคุณภาพของสินค้า และดูว่ากลุ่มลูกค้าของธุรกิจมี Brand Loyalty หรือไม่

4. โมเดลทางธุรกิจ (Business Model) คือเครื่องมือพื้นฐานที่ช่วยให้เห็นภาพรวมธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น แผนการหาลูกค้า การขยายฐานลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และต้องแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคได้อย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของตัวเลขหรือสถิติต่างๆ จึงต้องระบุไว้อย่างชัดเจน

5. กลยุทธ์ในการถอนตัวออกจากธุรกิจ (Exit Strategy) เป็นแผนที่ถูกคิดไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต เช่น ผู้ก่อตั้งต้องการไปทำสิ่งอื่น การขายหุ้นหรือขายกิจการให้กับนักลงทุนหรือธุรกิจอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดเตรียมกลยุทธ์นี้ไว้ให้นักลงทุนเห็นภาพ ถือเป็นการจัดการความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการออกจากธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

📝 หลังจากที่นักลงทุนตัดสินใจสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ 6 Steps ของการลงทุนว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง

1. Getting to Know Startup ก่อนอื่นนักลงทุนควรใช้เวลาในการทำความรู้จักตัวธุรกิจ และ Co-Founder อย่างจริงจัง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพราะการลงทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ จะมีความแตกต่างจากการลงทุนแบบอื่น เนื่องจากใช้เวลานานในการเห็นผลลัพธ์ 

2. Negotiate Terms and Valuation เมื่อต้องการลงทุน นักลงทุนต้องมีการต่อรองหรือเจรจากับสตาร์ทอัพ ทั้งเรื่องสิทธิ มูลค่าของบริษัทให้มีความเหมาะสม หาจุดที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะไม่มีปัญหาในอนาคต

3. Due Diligence ขั้นตอนนี้คือการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของธุรกิจว่าตรงกับสิ่งที่ผู้ก่อตั้งอธิบายไว้หรือไม่ เช่น การประเมินทรัพย์สิน การตรวจสอบหนี้สินของบริษัท จะต้องมีมูลค่าถูกต้องครบถ้วนตามบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจมีความโปร่งใสและมีศักยภาพ

4. Review and Sign Legal Agreements ในการลงทุนระหว่างสตาร์อัพและนักลงทุน จะต้องมีการทำสัญญา นักลงทุนควรทำความเข้าใจอย่างละเอียด ซึ่งหากนักลงทุนยังขาดประสบการณ์ หรือมีข้อสงสัย ควรปรึกษานักกฎหมายให้ช่วยอธิบาย เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น

5. Become the Shareholder เมื่อลงทุนสำเร็จ นักลงทุนจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งควรมีบทบาทในการสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีศักยภาพ มีมูลค่าของบริษัทที่เติบโตขึ้นได้

6. Exit ส่วนสุดท้ายคือสถานการณ์ที่บริษัทเติบโตขึ้นจนได้ราคาที่พึงพอใจ ซึ่งการ Exit ของ Startup จะมีอยู่ 2 แบบคือ 1) มีคนซื้อกิจการต่อ 2) นำธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จนั่นเอง 

จะเห็นว่าในการลงทุนแต่ละครั้ง มีองค์ความรู้หลายๆ สิ่งที่ทั้งสตาร์ทอัพ และนักลงทุนต้องศึกษา โดยเฉพาะ Angel Investor ที่มักจะมีบทบาทในการสนับสนุนตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ ไปจนถึงการให้คำปรึกษา และช่วยหาเครือข่าย พันธมิตร ลูกค้า หรือช่องทางจัดจำหน่าย ดังนั้นการเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพของ Angel Investor จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพไทย 

📑 จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “Investor Courses” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่งเสริมให้เกิดนักลงทุนรุ่นใหม่ และสร้างเครือข่ายระหว่างนักลงทุนให้เข้มแข็ง ซึ่งในคอร์สนี้ ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนมากมาย หากสตาร์ทอัพและนักลงทุนคนไหนสนใจ สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ง่ายๆ ผ่านระบบออนไลน์ แถมในส่วนสุดท้าย ยังมีแบบทดสอบให้ทำเพื่อรับใบประกาศนียบัตร ที่ออกให้โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อีกด้วย
.
💻 สนใจเรียนหลักสูตรนี้ คลิก:  https://moocs.nia.or.th/course/investor-course 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://moocs.nia.or.th/course/investor-course
https://brainfield.asia/ทำไมต้องรู้-market-size-ก่อนทำธุรกิจ/
https://www.pi.financial/promotions/pi-invest-club-value-investor
https://step.cmu.ac.th/view_content.php?ct_id=TWpBPQ==
https://factsheets.in.th/2021/05/04/exit-strategy-factsheet-no-35/
https://www.krungsri.com/th/personal/mutual-fund/knowledge/glossary/d/due-diligence