สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Hack Thailand 2575 ต้นแบบนโยบายจาก ‘เสียงของประชาชน’ ที่ร่วมสร้างอนาคตไปพร้อมกัน

26 มิถุนายน 2566 540

Hack Thailand 2575 ต้นแบบนโยบายจาก ‘เสียงของประชาชน’ ที่ร่วมสร้างอนาคตไปพร้อมกัน


จะเป็นอย่างไรถ้า “ประชาชน” เป็นผู้กำหนดนโยบายให้กับพรรคการเมืองได้

หากสลับให้คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัญหามาเขียนนโยบายดูบ้าง คงจะเป็นการสื่อสารถึงความต้องการออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด จึงเป็นที่มาของงาน Hack Thailand 2575 ที่เปิดโอกาสให้เสียงจากประชาชน และว่าที่ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาลได้โคจรมาเจอกัน โดย NIA ร่วมสร้างเวทีเชื่อมโยงให้เกิดการส่งต่อนโยบายในฝัน เพราะถือว่าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อน “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการคิด วางแผน และสร้างแนวทางแก้ไขปัญหา ภายใต้โจทย์ในการเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศ 12 อย่าง ที่เราจะพาเข้าไปดูว่าตอนนี้จริงๆ ประชาชนคนส่วนใหญ่มองเห็นปัญหาอะไร และต้องการให้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไปในทิศทางใดกันบ้าง

เริ่มกันที่ด้านสังคมภายใต้โจทย์ ‘หยุดความรุนแรงแฝงเร้นในสังคมไทย’ จากข้อมูลซึ่งชี้ให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม โดยมีสาเหตุมาจากภาพจำที่ว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว กับระบบการให้ความช่วยเหลือที่แยกออกจากกัน จึงเกิดเป็น “นโยบาย : รื้อระบบ เพื่อจบความรุนแรง” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิด และสร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับจัดการปัญหาในการส่งเรื่องซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากช่วยให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ส่วนอีกโจทย์คือ ‘Green Space เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพิ่มศักยภาพเมือง’ โดยประชาชนมองเห็นการเพิ่มโอกาสในพื้นที่สีเขียวจากอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของภาครัฐ จึงเกิดเป็น “นโยบาย : พื้นที่สร้างสรรค์โอกาสของทุกคน” ซึ่งจะนำพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดสถานสร้างสุขภาพสำหรับการพักผ่อนให้กับประชาชน

ต่อมาในมิติด้านเศรษฐกิจกับโจทย์ ‘ปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ จึงเกิดเป็น “นโยบาย : 4 เปิด” เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชน เปิดช่องทางการค้าและการลงทุน เปิดตลาดข้อมูลเพื่อให้ประชาชนพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และสุดท้ายคือเปิดใจรับฟังความแตกต่างเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ส่วนโจทย์ ‘แก้หนี้ แก้จน’ อันเป็นปัญหาฝังลึกทางสังคม ได้มีการเสนอ “นโยบาย : สถาบันบริหารจัดการการเงินภาคประชาชน” ให้ภาครัฐสร้าง Big Credit Data สำหรับรวบรวมข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อ พร้อมกับมีการให้ความช่วยเหลือในระดับจุลภาค ผ่านแอปฯ หมอเงินที่จะมีแหล่งเงินทุน และแผนฟื้นฟูหนี้ให้แต่ละคนอย่างเป็นระบบ

ในด้านของการพัฒนาสิ่งแวดล้อม กับโจทย์ ‘เศรษฐกิจขยะ’ จึงได้มีการเสนอ “นโยบาย : Thailand Zero Waste” ที่ต้องเริ่มปรับตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มความรับผิดชอบในฝั่งเอกชนตั้งแต่การผลิต ส่วนภาคประชาชนก็เสนอให้มีระบบทิ้งมากจ่ายมาก อีกโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนคือ ‘อากาศสะอาด’ ที่ตัวแทนได้นำเสนอ “นโยบาย : พื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ป้องกันปากท้อง สุขภาพ” ให้มีการควบคุมผู้ก่อมลพิษ ผลักดันกฎหมายให้มีการชดเชย ไปจนถึงกำหนดตัวแทนเพื่อเข้าไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

อีกปัญหาของการเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ภายใต้โจทย์ ‘Active Aging : Oldy Health Society’ ที่เสนอ “นโยบาย : สูงวัยใจสะออน” ให้มีสถานบริการสุขภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดทางให้คนวัยเก๋าเหล่านี้มีโอกาสสร้างรายได้ พัฒนากองทุนส่วนบุคคลสำหรับคนสูงวัย ปิดท้ายด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยทั้งในและนอกบ้าน รวมถึงเห็นว่าควรแก้ปัญหาระบบประกันสังคม จากโจทย์ ‘Wellness ยิ่งใหญ่ คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าเท่าเทียม’ จึงเกิดเป็น “นโยบาย : แฮกกองทุนประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อประชาชนทุกคน” โดยเกลี่ยงบประมาณจากหน่วยงานอื่นมาลงทุนด้านสุขภาพ ปรับงบสมทบ สิทธิประโยชน์ และทำการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล

ด้านมิติการศึกษา กับโจทย์ ‘ติดปีกครูไทย’ จึงเกิดเป็น “นโยบาย : ตั้งสภาติดปีกครูไทย ปรับระบบ เปลี่ยนโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบ” แม่พิมพ์ของชาติสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการลดงานซ้ำซ้อน จ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม ไปจนถึงโจทย์ ‘คนไทย 3 ภาษา’ ที่ต้องการแปลงโฉมหลักสูตร ผ่าน “นโยบาย : พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา” โดยเพิ่มทางเลือกภาษาที่นำมาใช้สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น ภาษาโปรแกรมมิ่ง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษเฉพาะทาง 

สุดท้ายในด้านงานภาครัฐกับโจทย์ ‘รัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน’ ก็ได้มีการนำเสนอ “นโยบาย : หยุดผลาญงบประมาณชาติ เปิดพรมเก็บกวาด ประชาชนมีส่วนร่วม” เพื่อปรับให้เกิดการทำงานที่โปร่งใส เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เป็นหูเป็นตา และโจทย์ ‘รัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย’ ที่มาจากความต้องการให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ต้องการให้มีการเปิดรับกลุ่มคนหลากหลายเข้าไปในสภามากขึ้น จึงเกิดเป็น “นโยบาย : สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ”

และทั้งหมดนี้ เป็นเพียงนวัตกรรมเชิงนโยบายของประชาชนบางส่วนที่ได้จากการเฟ้นหาตลอด 48 ชั่วโมงในงาน Hack Thailand 2575 เท่านั้น ยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนอีกมากที่ต้องการพื้นที่รับฟังและแสดงความคิดเห็น ซึ่งการจะผลักดันให้นโยบายที่มาจากความต้องการของประชาชน กลายเป็นนโยบายของประเทศที่เกิดขึ้นจริงได้นั้น NIA เชื่อว่าจำเป็นต้องมีเวทีหรือมีการเปิดช่องทางให้เกิดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของทุกภาคส่วน เพื่อมาตรฐานใหม่ในการสร้างนโยบายสาธารณะ ที่จะสามารถออกแบบบริการให้เป็นประโยชน์สำหรับภาคประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.nia.or.th/HACK-THAILAND-2575 
https://theactive.net/data/policy-pitching-hackthailand/ 
https://www.youtube.com/watch?v=Sl8rQWDJ5xM&list=PLTNHYmipA2JNOWFVGIxzAQu-p-w8W9tVM