สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

6 ปัจจัยสำคัญผลักดันปัญหาสุขภาพจิต สู่อนาคตชีวิตดีต่อใจที่ไทยต้องไปให้ถึง

21 สิงหาคม 2566 1,460

6 ปัจจัยสำคัญผลักดันปัญหาสุขภาพจิต สู่อนาคตชีวิตดีต่อใจที่ไทยต้องไปให้ถึง


💘 เมื่อทั่วโลกเริ่มมีการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิต เห็นได้ชัดจากการหยิบความท้าทายนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในเป้าหมาย SDGs ที่กว่า 193 ประเทศได้ร่วมลงนาม และประเทศไทยเองก็เริ่มหาวิธีการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้แล้วเช่นกัน

หลังจากที่เราได้รู้จัก 5 ฉากทัศน์หรือภาพอนาคตสุขภาพจิตคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้ากันมาแล้ว และภาพอนาคตที่ 5 “จุดหมายแห่งความสุข” ที่ประเทศไทยจะสามารถขึ้นมาเป็นต้นแบบด้านสุขภาพจิต เห็นได้ว่ากว่าจะไปถึงเป้าหมายตามภาพอนาคตที่วางไว้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เริ่มตั้งแต่ “ภาครัฐ” ในการผลักดันประเด็นสุขภาพจิตผ่านการทำงานเชิงนโยบาย ใช้ข้อกฎหมายในการสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ “ภาคเอกชน” ที่ควรมุ่งไปยังการส่งเสริมเครือข่ายสังคมการทำงาน สร้างสภาพแวดล้อม เตรียมทรัพยากรที่จำเป็นในการดูแลความเหนื่อยล้า ส่วน “ชุมชน” ก็จะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมผ่านกิจกรรมและการสื่อสาร ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหายาเสพติด และสุดท้ายคือ “ประชาชน” ที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง สร้างสมดุลในการใช้ชีวิต และแสวงหาการเยียวยาในเวลาที่รับรู้ว่าตนเองมีภาวะอารมณ์เชิงลบ

การสร้างความร่วมมืออย่างมีกลยุทธ์ผ่าน “ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ หรือ Driving Forces” ที่จะสามารถสร้างผลกระทบและนำไปสู่ภาพอนาคต ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างใหญ่ไปจนถึงในระดับตัวบุคคล โดยเราจะพาทุกคนไปรู้จักปัจจัยทั้งหมด 6 อย่างด้วยกัน พร้อมกับดูว่าสามารถใช้นวัตกรรมเข้ามาส่งเสริมให้เกิดผลกระทบในทิศทางบวกอย่างไรได้บ้าง



📃 ปัจจัยขับเคลื่อนอย่างแรกคือ “Proactive Mental Health Policy การกำหนดนโยบายของภาครัฐ” ซึ่งถือเป็นเหมือนแกนกลางหลักในการไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ เดินหน้าไปยังทิศทางเดียวกัน 

โดยภาครัฐต้องเริ่มจากการจัดความสำคัญให้ประเด็นปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมาอยู่ในลิสต์ลำดับต้นๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไข เพิ่มการทำงานในเชิงรุก ที่สำคัญคือต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาจากมิติต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อสร้างบุคลากรที่จะมีปริมาณเพียงพอในการกระจายออกไปยังแต่ละภูมิภาค ซึ่งส่วนนี้สามารถใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายเข้ามาช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการออกแบบ สร้างกระบวนการนโยบายที่เปิดกว้าง ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุดตามบริบท พร้อมกับผลักดันการพัฒนากฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมปัญหาสุขภาพจิตที่จะมีมากขึ้นในอนาคต 

📊 นอกเหนือจากการทำงานในเชิงนโยบาย ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลด้าน “Social and Livelihood Crises แก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ที่คอยจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น การศึกษา การทำงาน การดูแลสุขภาพ จึงต้องมีการสร้างสวัสดิการให้ครอบคลุม กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น รวมไปถึงต้องมีการสร้างพื้นฐานรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผูกติดกับผู้คนตลอดเวลาจนสามารถส่งผลต่อ Mental Health โดยต้องบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งในครอบครัว โรงเรียน บริษัท และสังคม ให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเองได้


📱เมื่อมีการปูพื้นฐานโครงสร้างหลัก ต่อมาจึงนำมาสู่การขับเคลื่อนด้วย “Mental Health Technology เทคโนโลยีสุขภาพจิต” ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ เช่น การสร้างแบบประเมินสุขภาพจิต การมีระบบคัดกรอง รวมไปถึงการให้คำแนะนำแบบออนไลน์ เพื่อช่วยลดภาระงานบางอย่าง และแก้ปัญหาการขาดแคลนทางด้านบุคลากร 

เนื่องจากงานบำบัดหรือให้คำปรึกษานั้น เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงสามารถเข้ามาช่วยอุดช่องว่าง เพิ่มความสะดวก เชื่อมโยงผู้ป่วยให้ถึงมือผู้เชี่ยวชาญผ่านอุปกรณ์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ตโฟน แอปพลิเคชัน อุปกรณ์อัจฉริยะ และยังช่วยแก้ปัญหาของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เปิดโอกาสให้ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษา ซึ่งตอนนี้มีสตาร์ทอัพไทยที่ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยส่งเสริมการทำงาน เช่น การทำหลักสูตรการฟังเชิงลึก (Deep Listening) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการมีแชตบอตที่ช่วยเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อนำไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาการ

🤳 ซึ่งเมื่อมีการใช้เทคโนโลยี จึงต้องมาควบคู่ไปกับ “Readiness For Digital Age การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมดิจิทัล” เพื่อการใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ ให้ผู้คนตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ 

โดยในเชิงบวกการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยให้ผู้คนมีความสะดวกสบาย และนวัตกรรมที่เพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเข้าถึงบุคลากรผู้ให้การรักษา ใช้ศึกษาข้อมูลที่มีประโยชน์ได้ตลอดเวลา ซึ่งในทางกลับกันก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการรับข้อมูลที่อาจมีมากจนส่งผลให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ก่อตัวเป็นความเครียด รวมไปถึงการจับสังเกตข่าวสารที่เป็นความเท็จ ที่อาจส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ผู้คนจึงต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีอย่างสมดุล เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้ทุกเพศทุกวัย 



🏕 ต่อมาคือการส่งเสริม “Mental Well-Being and Happiness Infrastructure การสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต” ผ่านการพัฒนาเมือง ชุมชน สวนสาธารณะ สถานที่ทำงาน สถานศึกษา รวมไปถึงแหล่งที่อยู่อาศัยบนพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based Innovation) ที่มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างและฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้คน โดยการบริหารจัดการสินทรัพย์บนพื้นที่ให้มีศักยภาพ มีความยั่งยืนและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเปี่ยมสุขและปลอดภัย 

ความสำคัญของสถานที่ซึ่งผู้คนสามารถเข้ามามีกิจกรรมปลดปล่อยความกังวล ต้องมองที่การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของคนเป็นศูนย์กลาง มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเพื่อน ครอบครัว คนรัก และกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างค่านิยมในการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาอาศัย และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

🙂 สุดท้าย คือ “Mental Health Literacy and Stigmatization การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตและการตีตรา” ที่มุ่งไปที่การสร้างความตระหนักรู้ให้กับตัวบุคคล เพื่อให้มีความสามารถในการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาณเตือนต่างๆ ประกอบกับการมีมุมมองที่ถูกต้องต่อผู้ป่วย โดยเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัยของชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยกล้าเปิดใจยอมรับ ผู้ที่มีปัญหาสามารถเข้าถึงการรักษา รวมไปถึงมีโอกาสทางสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยนวัตกรรมสื่อสามารถเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงสังคมได้

จากทั้ง 6 ปัจจัย จึงช่วยทำให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ยึดโยงเข้ากับหลายมิติรอบด้าน ทั้งพฤติกรรม ความสัมพันธ์ สภาพสังคม ค่านิยม การตีตรา สิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยี และข้อกฎหมาย ซึ่งสามารถใช้นวัตกรรมเข้ามาส่งเสริมปัจจัยขับเคลื่อนเหล่านี้เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพอนาคตที่ต้องการได้

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
งานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 Futures of Mental Health in Thailand 2033
https://www.nia.or.th/bookshelf/view/237