สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Chiang Mai City Lab สนามทดลองต้นแบบนวัตกรรม เพื่อพลิกโฉมเมืองเก่าสู่เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

8 มกราคม 2567 1,232

Chiang Mai City Lab สนามทดลองต้นแบบนวัตกรรม เพื่อพลิกโฉมเมืองเก่าสู่เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม


🗾 ไชเหมี่ยง...เชียงใหม่ จังหวัดที่ไม่ได้มีดีแค่มีสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต แต่ยังมีการแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ด้วยนวัตกรรม 

👍 หากว่าด้วยศักยภาพ เชียงใหม่ถือได้ว่ามีความพร้อมทุกด้านสำหรับการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองนวัตกรรม จึงได้มีการริเริ่มแนวคิดพัฒนาการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาเมือง โดยมีการทำงานผ่านพื้นที่ทดลองเมืองนวัตกรรมจังหวัดเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai City Lab ที่เปิดโอกาสให้นวัตกรได้สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาจากความต้องการของผู้คน ทั้งยังสามารถนำออกไปทดสอบประสิทธิภาพในพื้นที่นำร่อง ก่อนจะต่อยอดขยายผลจริงในอนาคต ซึ่งตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ได้มีการทดลองนำนวัตกรรมไปแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้วถึง 24 ผลงาน  

🚕  ล่าสุดนี้ ก็ได้มีผลงานนำร่องเป็นระบบค้นหาจุดจอดรถอัจฉริยะ หรือ Smart Parking ที่คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถทราบที่จอดรถแบบ Real Time ซึ่งเริ่มมีการเปิดใช้งานได้แล้วในพื้นที่หน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ก่อนที่จะออกมาเป็นผลงานอย่างให้เห็นได้นั้น ต้องผ่านการดำเนินงานภายในหลายขั้น จึงอยากพาไปเจาะลึกดูกันว่า “Chiang Mai City Lab” มีขั้นตอนในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในเมืองเชียงใหม่อย่างไรบ้าง

🗣 แน่นอนว่าก่อนที่จะสร้างนวัตกรรม ต้องรับรู้ถึงปัญหาก่อนเป็นลำดับแรก จึงทำให้เกิดการ เปิดเมืองฟังเสียง Unpack Hope & Fears ที่มีการเปิดให้ผู้คนเข้ามารายงานถึงปัญหา ความกลัว ความกังวลในการใช้ชีวิต โดยจะมีทั้งในรูปแบบ Online บนแอปพลิเคชัน แบบ Onsite ผ่านสถานที่เปิดทั่วทั้งจังหวัด จนถึงการลงพื้นที่เก็บภาพและนำมาจัดแสดงผ่านนิทรรศการ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ก่อนนำไปหารือในขั้นตอนต่อไป

🧑‍💼 เมื่อรับทราบถึงปัญหา ต่อมาก็ต้องไปมองหานวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ ในขั้นตอนนี้จะเรียกว่า รับขวัญนวัตกรรม Find Hope in Fears ซึ่งเป็นการคัดเลือกประเด็นปัญหา เฟ้นหานวัตกรเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน โดยเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมมีบทบาทในการพิจารณาคัดเลือกและนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือแม้กระทั่งในพื้นที่ย่านนวัตกรรมเอง โดยมี สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ NIA ร่วมสนับสนุน

🤝 หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ในขั้นตอนที่ชื่อว่า เคลื่อนนวัตกรรมขับเมือง Transform ‘Hopeful’ into ‘Wishful’ โดยนวัตกรจะมีการวางแผนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่มีส่วนรับผิดชอบ หาทางออกภายใต้กรอบไอเดีย เพื่อออกแบบผลงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรม สามารถแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มการบริการสาธารณะในแต่ละพื้นที่ได้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ

🚩ขั้นตอนสุดท้าย ก็ถึงเวลาของการ ก้าวสู่เมืองนวัตกรรม Push ‘Wishful’ towards ‘Willful’ ซึ่งจะเป็นการนำ Prototype ไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ทดสอบ โดยความร่วมมือทั้งหมดนี้มีการวางแผนในระยะยาว ที่จะขยายผลนำไปใช้ในระดับเมืองด้วยการลงทุนด้านนวัตกรรมของภาครัฐไปยังจุดอื่นๆ ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน

👬 จาก 4 ขั้นตอนที่ว่ามา Chiang Mai City Lab ได้ทดสอบนวัตกรรมต่างๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเทศบาลตำบลสุเทพกับระบบเมืองไร้การฝังกลบ (GEPP Zero to Landfill Platform) ที่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยทางการเกษตร หรือนวัตกรรมสร้างช่องทางค้าปลีกเคลื่อนที่ (We Chef Food Truck) บนถนนสุเทพ ถนนนิมมานเหมินท์ และถนนศิริมังคลาจารย์ เพื่อเปลี่ยนที่ว่างให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างคนขายกับผู้ซื้ออย่างยืดหยุ่น

นอกจากนั้น ในปีนี้ก็ยังได้มีการรับขวัญนวัตกรรมเกี่ยวเนื่องกับประเด็นต่างๆ อีกมากมาย จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ Chiang Mai City Lab ที่ต้องการแก้ไขปัญหาของประชาชน พร้อมเดินหน้าไปสู่หมุดหมายที่หวังจะสร้าง ‘เชียงใหม่’ ให้กลายเป็นหัวเมืองแห่งนวัตกรรมในภาคเหนือได้สำเร็จ

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://spp.cmu.ac.th/chiang-mai-city-lab/  
https://www.youtube.com/watch?v=yzDi0JJ8tJI 
https://www.facebook.com/Chiangmaicitylab