สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

หนุนสตาร์ทอัพ ดึงดูดนักลงทุน ด้วยมาตรการยกเว้น Capital Gain Tax

27 มิถุนายน 2566 722

หนุนสตาร์ทอัพ ดึงดูดนักลงทุน ด้วยมาตรการยกเว้น Capital Gain Tax


ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสะดวกสบายที่เราใช้และสัมผัสกันอยู่ทุกวันนี้ หลายไอเดียมาจากเหล่า “สตาร์ทอัพ” เป็นผู้ริเริ่ม 

ตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การจองที่พักหรือตั๋วโดยสาร ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินที่ช่วยให้เราประหยัดเวลา ทั้งหมดล้วนมีที่มาจากการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก จึงกล่าวได้ว่าการเติบโตของสตาร์ทอัพถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนได้อย่างแท้จริง ถึงอย่างนั้นรูปแบบธุรกิจนี้ก็ยังคงมีอุปสรรค เพราะนอกจากจะต้องคอยพัฒนาทักษะบุคคลให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือการมองให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าคือการแสวงหาเงินลงทุนจากนักลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อจะช่วยให้ไอเดียต่างๆ สามารถพัฒนาไปจนถึงขีดสุดได้

แต่ก็มีสตาร์ทอัพอีกมากมายที่สามารถฝ่าฟันข้อจำกัดเหล่านี้ ด้วยการสร้างผลงานให้เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนฝั่งรัฐบาลและเอกชนในแต่ละประเทศต่างเล็งเห็นถึงโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงได้มีนโยบายออกมาเพื่อช่วยอุดช่องว่าง สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการเติบโตของสตาร์ทอัพ ซึ่งนโยบาย “การยกเว้น Capital Gains Tax หรือมาตรการยกเว้นภาษีในส่วนกำไรจากการขายหุ้น” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายประเทศใช้กัน โดยเฉพาะในตลาดที่กำลังพัฒนา อย่างเช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น

🤝 มาตรการยกเว้น Capital Gains Tax นี้เป็นนโยบายจากภาครัฐที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในการเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่มาจากกำไรจากการขายหุ้น ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนที่นักลงทุนต้องแบกรับมีน้ำหนักที่เบาลง เพิ่มโอกาสให้สตาร์ทอัพจะได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่หวังให้บริษัทเติบโต และยังช่วยให้เกิดการถ่ายโอนความรู้ทางเทคโนโลยีจากบุคลากรของแต่ละประเทศที่มีศักยภาพ 

จากนโยบายที่ทำให้สตาร์ทอัพได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนได้ง่ายขึ้น ก่อนจะก่อตัวขึ้นเป็นระบบนิเวศที่แข็งแกร่งบนฐานนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันสตาร์ทอัพ และประเทศไทยเองก็ได้เริ่มดำเนินนโยบายนี้ โดยมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575 ภายใต้ 14 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน 

ทั้งนี้ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบริษัทสตาร์ทอัพ หน่วยงานต่างๆ จึงต้องจับมือกันภายใต้บทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแล ซึ่งจะมีทั้งส่วนตรากฎหมายและดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ การจดแจ้งธุรกิจเงินร่วมลงทุนของประเทศไทย การจัดกิจกรรมสนับสนุนการใช้สิทธิประโยชน์ โดยภายใต้นโยบายนี้ NIA เอง ก็ได้เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรับรองบริษัทสตาร์ทอัพเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดตามประกาศของหน่วยงานรับรอง

ท้ายที่สุดเมื่อสตาร์ทอัพได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็จะเป็นการกระตุ้นให้บริษัทเร่งพัฒนาสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นผลประโยชน์โดยตรงที่คนทั่วไปจะได้รับ และยังมีการประเมินไว้เบื้องต้นอีกว่านโยบายนี้จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้เพิ่มขึ้นถึง 3.2 แสนล้านบาทภายในปี 2568 ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของตลาด สามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 5 แสนอัตรา เกิดการกระจายรายได้ในวงกว้าง ลดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ และยังช่วยขจัดความยากจนในภาพรวมได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่านโยบายการยกเว้น Capital Gains Tax นี้ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการเพิ่มมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเริ่มที่การเติบโตของสตาร์ทอัพ ไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน นำมาซึ่งการจ้างงาน เกิดเป็นห่วงโซ่ในการขับเคลื่อนและพลิกฟื้นประเทศไทยให้เป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนต่อไปในอนาคต 

สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรายใดที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดต่อได้ที่นี่ : https://www.nia.or.th/service/Capital-Gains-Tax

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.youtube.com/watch?v=9yh-qV2OTRQ 
https://www.springnews.co.th/spring-life/816010
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Financial-Transaction-Tax-fb-16-12-22.aspx 
https://www.nia.or.th/service/Capital-Gains-Tax 
https://thestandard.co/capital-gains-tax/ 
https://www.dct.or.th/th/knowledge/detail/153 
https://www.sdgmove.com/2023/02/21/effects-fdi-on-income-inequality-thailand/