สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ: นวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์ ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนแนวคิด พิชิตการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

บทความ 26 กันยายน 2562 5,221

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ: นวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์ 

ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนแนวคิด พิชิตการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม


ต้นไม้จะเติบโตสูงใหญ่แผ่กิ่งใบได้อย่างแข็งแกร่งย่อมต้องอาศัยฐานรากที่มั่นคงแข็งแรง เช่นเดียวกันกับการพัฒนาประเทศที่ต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อให้สังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการยกระดับศักยภาพนวัตกรรมของไทยตั้งแต่พื้นฐานแรกสุดอย่างมุมมองความคิดไปจนถึงปลายทางที่มุ่งสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)

นวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์คืออะไร

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายมิติ พร้อมผลักดันประเทศสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมในทุกด้านโดยมี NIA เป็นจุดร่วมสำคัญ ได้ให้นิยาม “นวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์ (Paradigm Innovation)” เอาไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติงาน (Mental Model) ขององค์กร โดยวางเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดที่ส่งผลต่อการทำงาน ซึ่งมีทั้งการทำนวัตกรรมแบบก้าวหน้าที่ปรับปรุงระบบแบบค่อยเป็นค่อยไป  (Incremental Innovation) และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Radical Innovation) ที่ปรับปรุงระบบอย่างชาญฉลาด ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยปรับโครงสร้างการเกิดนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


แต่เดิมแนวทางการดำเนินงานจะเป็นไปในเชิงเส้น (Linear Model) โดยมีจุดเริ่มต้นจากงานวิจัยที่เป็นฐานหลักที่ภาคการศึกษานำไปต่อยอดในการวิจัยและพัฒนา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นกระบวนการที่เน้นการส่งต่อองค์ความรู้และก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และตรงความต้องการของตลาดทั้งสตาร์ทอัพ SMEs บริษัทขนาดกลาง บริษัทขนาดใหญ่ ระดับองค์กร ระดับชุมชน ไปจนถึงบุคคล แนวคิดใหม่นวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์ได้เข้ามาลบเส้นดังกล่าวทิ้งไป แล้วสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ที่เรียกว่า Innovation Non-Linear ขึ้นมาแทน โดยในรูปแบบการทำงานใหม่นี้ นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นจากจุดใดก็ได้ อาจเป็นแนวคิดใหม่จากประชาชน ภูมิปัญญาของชุมชน หรือเกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานก็ได้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่งานวิจัยอีกต่อไป ซึ่งการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมเช่นนี้จะเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมได้มากกว่าที่เคย

กรอบวิธีคิดก็สำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม

นอกจากการปรับแนวทางการเกิดนวัตกรรมแล้ว รศ.ดร.วีระพงษ์ยังมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุดอย่างกรอบวิธีคิด (Mindset) อีกด้วย สาเหตุสำคัญของปัญหาในการพัฒนานวัตกรรมเกิดจากการที่ทุกภาคส่วนมีกรอบวิธีคิดต่อนวัตกรรมต่างไปจากกระบวนทัศน์แบบใหม่ มองนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสู่ความสำเร็จทั้งด้านการงานและในเชิงธุรกิจ หรือเหมารวมว่านวัตกรรมไทยไม่มีประสิทธิภาพทัดเทียมของต่างชาติ กรอบวิธีคิดเช่นนี้ทำให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นไม่ตอบโจทย์ตลาดและไม่สร้างสรรค์เท่าที่ควร การปรับมุมมองเหล่านี้ใหม่จึงเป็นทางออกที่สำคัญที่สุด รัฐอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยหรือกระตุ้นนักวิจัยด้วยรางวัลหรือผลตอบแทน วิธีนี้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรอบวิธีคิดที่ภาคส่วนต่าง ๆ มีต่อนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

อย่าลืมกระจายนวัตกรรมเข้าสู่ระดับภูมิภาค

ไม่เพียงแต่ในระดับองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ เท่านั้น แต่การกระจายนวัตกรรมเข้าสู่ระดับภูมิภาคก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน รศ.ดร.วีระพงษ์ตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างดี การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์แบบ Regionalization จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างทัดเทียมยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ทุกภูมิภาคจะก้าวข้ามปัญหาเดิม ๆ ที่ทำให้ธุรกิจไม่เติบโตและไม่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง แล้วสร้างความมั่นคงและก้าวหน้าทางธุรกิจได้จากความสามารถในการเข้าถึงนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นนี้เอง โดยมี NIA เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมเชิงสังคม (Social Innovation) ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างดีเยี่ยมและทำให้นวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น


อุปสรรคเดิม ๆ ที่ยังคงขวางเส้นทางการพัฒนานวัตกรรม และเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นั้น จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมนำทางเพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการผลิต การพัฒนาสินค้า การวางโมเดลธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเข้าถึงนวัตกรรมของผู้ประกอบการ เมื่อรวมกับการปรับพื้นฐานตั้งแต่ระดับแนวคิด ยังสะท้อนการเกิดขึ้นของกระทรวงใหม่อย่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Ministry of Higher Education, Science, Research, and Innovation) หรือ อว. เพื่อตั้งรับการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมอนาคตของเส้นทางสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ก็จะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงอย่างแน่นอน

.

แหล่งข้อมูล:

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หนังสือ 10th Year NIA: Toward Innovation Nation