สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ฝน - ฟ้า – อากาศ เมื่อเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถรับมือได้ด้วย Innovation

1 พฤศจิกายน 2567 2,100

ฝน - ฟ้า – อากาศ เมื่อเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถรับมือได้ด้วย Innovation


⛈️ เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือผ่านพ้นไป ครั้งนี้ถือว่าสร้างความเสียหาย และมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี มีการประเมินมูลค่าความเสียหายได้มากกว่า 30,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าอาจจะทะลุไปมากกว่านั้นถึง 50,000 ล้านบาท

🌡️ หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องบอกว่าแท้จริงแล้วเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือภาวะโลกเดือดที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน เกิดเป็นพายุฝนที่ลากยาวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม ปริมาณฝนที่สะสมมากกว่าปกติ 50-60% จนเกินความสามารถของดินในการอุ้มน้ำ สุดท้ายจึงเกิดน้ำท่วมที่ชาวบ้านไม่อาจรับมือได้ทัน นอกจากนั้นยังมีสาเหตุมาจากพื้นที่ป่าที่ลดลง เหลือเพียงภูเขาหัวโล้นจากการทำไร่ข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา PM 2.5 ด้วย

🚨 สิ่งนี้ถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ง่ายๆ แต่ต้องระดมความคิด วางแผนการทำงานทั้งในระยะยาว และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าด้วย “นวัตกรรม”

🤖 การรับมือเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งที่ควรมีคือระบบตรวจสอบ ระบบแจ้งเตือนเกี่ยวกับฟ้าฝนได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญคือต้องเข้าถึงกลุ่มคนหมู่มากได้อย่างสะดวกสบาย นวัตกรรม “AI FONFA หรือ เอไอ ฝนฟ้า” ระบบพยากรณ์อากาศชุมชนจึงเกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจงกับตำแหน่ง GPS ของผู้ใช้งาน จัดเป็นฐานข้อมูลในระดับท้องถิ่น ทำให้การพยากรณ์แม่นยำลึกถึงชุมชนอย่างแท้จริง

🏡 จุดเด่นของ AI FONFA อยู่ที่การทำงานที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านในชุมชน เริ่มตั้งแต่เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบ การฝึกอบรมผู้ใช้งาน ที่สำคัญคือการแจ้งเตือนที่ผ่าน LINE และจอสาธารณะเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที นวัตกรรมนี้ได้นำไปใช้งานตามสถานที่ต่างๆ เช่น เทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยเป็นผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ในการช่วยเหลือประชาชนและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

📑 อย่างที่ว่าไว้ปัญหานี้ไม่อาจจัดการได้แค่การรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวควบคู่กัน NIA ในฐานะของผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมหรือ Focal Conductor มีอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติการทำงานเชิงโครงสร้างและนโยบาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมแก่ผู้นำที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบายในระดับองค์กรและระดับประเทศ ผ่านหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชน “Public and Private Chief Innovation Leadership หรือ PPCIL” ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

👨‍💼 การออกแบบหรือพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายจึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา NIA ได้เปิดเวทีเสวนาในงาน “Policy Innovation Recognition” เวทีเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบาย ภายใต้หัวข้อ “แนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ” ซึ่งได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มในจังหวัดเชียงรายไว้ว่า การแก้ปัญหานี้ต้องบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากทุกภาคส่วน และมองว่าควรมีการสร้าง Sandbox เพื่อได้ทดลองการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องดำเนินการตั้งแต่เรื่องของการวางผังเมือง การแจ้งเตือนภัยพิบัติ และการช่วยเหลือผู้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วถูกจุด 

🚤 นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้กล่าวถึงในงานนี้ คือเรือกู้ภัยไฟฟ้าพลังงานโซล่าเซลล์ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดอุบลราชธานี กับวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี ซึ่งสามารถใช้เป็นกำลังหนุนสำคัญ เพื่อรับส่งผู้คนที่ได้รับผลกระทบ และยังช่วยลดต้นทุนเกี่ยวกับเชื้อเพลิง เป็นนวัตกรรมช่วยเหลือทั้งคนและโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรเร่งผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์เพื่อการใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป 

🤝 เป็นไปได้ว่าอนาคตอันใกล้ ทั้งประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก จะต้องพบกับปัญหาเรื่องภัยพิบัติอื่นๆ อีก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนมาก NIA จึงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาผ่านกลไกการให้ทุน พัฒนาทักษะและความสามารถด้านนวัตกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้นำเพื่อร่วมกันออกแบบและนำนวัตกรรมเชิงนโยบายมาใช้แก้ไขปัญหาและรับมือเรื่องภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.the101.world/flood-northern-thailand/ 
https://www.aifonfa.com/ 
https://www.nia.or.th/Natural-Disasters-Innovation 
https://www.youtube.com/watch?v=h-TbGv-9kC4&t=1s 
https://www.engineeringtoday.net/nia-ppcil/