สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ย้อนรอยนวัตกรรม กว่าจะมาเป็น “Stretch” หุ่นยนต์ยกกล่องอัจฉริยะในคลังสินค้า

บทความ 19 เมษายน 2564 2,841

ย้อนรอยนวัตกรรม กว่าจะมาเป็น “Stretch” หุ่นยนต์ยกกล่องอัจฉริยะในคลังสินค้า


การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสนองต่อความต้องการในการใช้งานจริงเพื่อทดแทนมนุษย์ของบอสตัน ไดนามิกส์ บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลกที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 28 ปี ผ่านการสั่งสมทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ของลูกค้า/ผู้ใช้งานหุ่นยนต์ พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทีมงานเพื่อสร้างหุ่นยนต์รุ่นใหม่ 'Stretch' สำหรับใช้ยกกล่องในคลังสินค้าที่ในปัจจุบันต้องแบกรับต้นทุนในการบริหารจัดการงานดังกล่าวมหาศาล แต่กว่าจะมาเป็นเจ้าหุ่นยนต์ฐานสี่เหลี่ยมมีกล้องและเซ็นเซอร์รอบตัว “Stretch” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนแต่ผ่านการพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง


บอสตัน ไดนามิกส์ ใช้เทคนิคการผลิตสินค้าที่มีฟังก์ชั่นบริการน้อยที่สุดแต่สามารถใช้งานจริงได้ออกมาก่อน หรือที่เรียกกันว่า Minimum Viable Product (MVP) ซึ่งเป็นเทคนิคเพื่อประเมินความคาดหวังของลูกค้า/ผู้ใช้งาน ทำให้สามารถประเมินความต้องการของตลาดได้รวดเร็ว เพื่อดูว่าสินค้าตอบโจทย์มากน้อยเพียงใดก่อนที่จะนำมาพัฒนาต่อจนเป็นสินค้าที่สมบูรณ์แบบ เจ้าหุ่นยนต์ “Stretch” ที่ขยับแขนได้ถึง 7 ทิศทาง และยกกล่องได้หนักสูงสุด 23 กิโลกรัมก็เช่นกัน ผ่านการพัฒนามาหลายรุ่นเลยทีเดียว


Version 1: Humanoid-ish สามารถยกของหนักโดยเลียนแบบการยกของมนุษย์ที่ต้องใช้สองแขน แม้ว่าจะสามารถยกของหนักได้มากกว่าแรงคนงาน แต่นั้นกลับต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงและข้อจำกัดของพื้นที่การใช้งาน


Version 2: 'Handel was re-image' ปรับการยกของที่เลียนแบบการใช้สองแขนของมนุนย์เป็นการใช้แรงลมดูด (vacuum) ที่ทรงพลัง นักพัฒนาได้ก้าวออกจากกรอบความคิดเดิม การยกของไม่จำเป็นต้องเลียนแบบมนุษย์อีกต่อไป การพัฒนานวัตกรรมนั้นอาจเป็นอะไรก็ได้ที่ให้ผลลัพธ์เหมือนกัน เพียงแค่ “ปรับความคิด และเปลี่ยนการออกแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยี” ทำให้สามารถนำไปใช้งานในพื้นที่ต่างๆ ของคลังสินค้าได้ทั้งพื้นที่สูงและแคบ เป็นความหวังใหม่ของการพัฒนายกของขึ้นลงในงานรูปแบบต่างๆ แต่นั้นยังคงไม่ตอบโจทย์เรื่องการใช้งานเคลื่อนย้ายของไปในทุกพื้นที่กว้างใหญ่ของคลังสินค้า


Version 3 : 'Bird' เพิ่มการเคลื่อนย้ายของไปทุกพื้นที่ด้วยการเติมฟังก์ชั่นเคลื่อนที่ด้วยล้อ และการทรงตัวยกของหนักด้วยกฎความโน้มถ่วง (LAW OF GRAVITY) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาระบบอัตโนมัติภายในตัวหุ่นยนต์ ที่นอกจากการเคลื่อนที่เป็นการปรับสมดุลของจุด Center of Gravity (CG) เพิ่มความสามารถที่หลากหลายทั้งการเคลื่อนย้าย และยกของหนัก ทำให้สามารถยกของได้รวดเร็วกว่า version ที่ 1 ถึง 5 เท่า โดยสามารถจัดการยกกล่องจากรถบรรทุกได้ 800 กล่องในเวลาแค่ 1 ชั่วโมง นับว่าเป็นรุ่นที่คุ้มค่ากับการลงทุนใช้งานในคลังสินค้า


Version X : การพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นโจทย์ของทีมพัฒนาของ บอสตัน ไดนามิกส์ ที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลาก่อนการขายจริงในช่วงประมาณปี 2022 การพัฒนาหุ่นยนต์ให้เกิดความแตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่งนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ โดยหุ่นยนต์ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครบนั้นไม่ได้บอกว่าเป็นที่สุดของการตัดสินใจเลือกซื้อของลูกค้า การพัฒนาโปรแกรมสำหรับการเลือกหยิบกล่องของหุ่นยนต์ stretch นั้นเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ และเป็นตัวช่วยฝึกให้ Stretch เกิดการเรียนรู้จากการทำงานด้วยการยกของในคลังสินค้าซ้ำๆ กันทุกวัน โดยอาศัยเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่อง หรือที่เรียกว่า Machine learning ซึ่งอนาคตเราอาจจะใช้ stretch ในคลังสินค้าทดแทนแรงงานจากมนุษย์เพราะ stretch จะเป็นมากกว่าหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการยกของที่หนัก ทำงานอย่างรวดเร็ว และเคลื่อนย้ายไปในทุกพื้นที่ที่ต้องการ  โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ในคลังสินค้าได้  เอง เพื่อประมวลผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการคลังสินค้าด้วยต้นทุนที่คุ้มค่าในการลงทุน


การพัฒนา และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยการเปิดรับข้อเสนอแนะจากผู้ใช้งานหุ่นยนต์ stretch จริงในคลังสินค้านี้ เริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบการทำงาน ไปจนถึงการตัดสินใจวางแผนของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการผลักดันความสมบูรณ์แบบของ 'Stretch' เพื่อใช้งานในคลังสินค้า และนี่คือตัวอย่างของการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับการวิเคราะห์ความต้องการใช้งาน และความคุ้มค่าในการลงทุนซื้อของลูกค้า เพราะการสร้างนวัตกรรมที่ขายได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่การเลือกใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแล้วยัดเยียดว่านี่แหละคือความต้องการของลูกค้า


โดย สุทธิรักษ์ ดวงบุรงค์ (ไนซ์)
       นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)