สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ถอด ‘คาแรคเตอร์’ คนทำธุรกิจควรมี จากซีรีส์ Start-up

บทความ 17 ธันวาคม 2563 9,729

ถอด ‘คาแรคเตอร์’ คนทำธุรกิจควรมี จากซีรีส์ Start-up


ขึ้นแท่นอีกหนึ่งซีรีส์ต้องห้ามพลาดแห่งปี กับ “Start-Up” ซีรีส์แดนกิมจิ ซึ่งตีแผ่เบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของสตาร์ทอัพ เรื่องราวของกลุ่มหนุ่มสาวผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความเชื่อ และแพชชั่น ที่ตบเท้าเข้าสู่เวทีแข่งขันโมเดลธุรกิจและผ่านบททดสอบมากมาย ก่อนจะกลายมาเป็นบริษัท “สตาร์ทอัพ” ที่นำ AI เข้ามาพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรม และแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างสร้างสรรค์


นอกจากปมปัญหาของตัวละคร และเส้นเรื่องโรแมนติกแล้ว “Start-up” ยังถ่ายทอดภาพ “DNA คนทำธุรกิจที่ดี” ที่นับว่าจุดประกายคนรุ่นใหม่ ให้กล้าคิดกล้าทำ กล้าเผชิญหน้าความล้มเหลว กล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจในแบบของพวกเขาเอง ทั้งยังเปิดมุมมองใหม่ของประเทศเกาหลีใต้ อย่างการเป็น “ประเทศแห่งสตาร์ทอัพ” ซึ่งมี Startup Ecosystem ที่สมบูรณ์พร้อมรองรับนักลงทุน ให้ออกสู่สายตาคนทั่วโลก


เชื่อว่าใครที่ได้ดูซีรีส์นี้คงจะได้ข้อคิดและเทคนิคการต่อสู้บนสังเวียนธุรกิจกันไปเต็มๆ แต่สำหรับใครที่ยังไม่มีเวลาได้ไปติดตาม วันนี้ NIA ขอพาทุกคนไปวิเคราะห์ “คาแรคเตอร์” จาก 4 ตัวละครหลักของเรื่องกันว่า มีจุดไหนบ้างที่คนอยากทำธุรกิจควรเอามาปรับใช้กัน

ซอ ดัลมี - CEO ที่พร้อมผลักดันทุกคนในทีม

“ซอ ดัลมี” อดีตพนักงานสัญญาจ้าง ที่ก้าวเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพและพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘การเป็นผู้นำที่ดี’ ไม่จำเป็นต้องชี้นิ้วสั่งอย่างเดียวเสมอไป


ถึงจะมีประสบการณ์แค่การเป็นพนักงานจ้างธรรมดา แต่เธอซ่อนความฉลาดทางความคิดและอารมณ์ไว้สูง โดยเฉพาะคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่พร้อม “รับฟัง” และ “สนับสนุน” ความเห็นของเพื่อนร่วมงานในทีม มากกว่าการเป็นผู้นำที่ชี้นิ้วสั่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่นี้ ช่วยให้คนในทีมสามารถดึงศักยภาพการทำงานที่พวกเขาถนัดออกมาได้สูงสุด เสริมให้บรรยากาศการทำงานมีความสุข ทุกคนรู้สึกสนุกกับการมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน


อีกคุณสมบัติที่เห็นได้ชัดและถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่าง “ซอ ดัลมี” ก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “การคิดนอกกรอบ” ซึ่งเป็นที่มาของวิธีการแก้ปัญหาที่คนอื่นคาดไม่ถึง และบ่อยครั้งความนอกกรอบของเธอนี้ มักจะจุดประกายไอเดียเล็กๆ น้อยๆ ให้คนอื่นในทีมได้ไปคิดต่ออยู่บ่อยครั้ง

นัม โดซาน - นักแก้ปัญหา ผู้ไม่เคยละทิ้งความฝัน

“นัม โดซาน” อัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ ผู้หลงใหลในเทคโนโลยี AI ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการเตะฝุ่นและทำให้เราเข้าใจว่า “การเลือกเดินตามความฝันไม่ใช่สิ่งที่ผิด”


แม้จะถูกสบประมาทจากคนรอบข้าง แต่ “ความมุ่งมั่น” “แพชชั่น” และ “การมีเป้าหมายที่ชัดเจน” คือแรงผลักดันที่ทำให้เขาไม่ย้อท้อต่ออุปสรรคที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่ต้องใช้เวลานาน และอาจไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งเส้นทางแบบนี้ย่อมยากและขรุขระเสมอ


“นัม โดซาน” ยังเป็นตัวละครที่มี “ความยืดหยุ่นในการทำงานสูง” ซึ่งการที่เขาเป็นคนไม่ยึดติดกับรูปแบบและพร้อมจะเริ่มต้นใหม่เสมอ ทำให้เขาสามารถเข้าใจปัญหาในมุมมองที่แตกต่างออกไปและแก้ไขมันได้รวดเร็วขึ้น เหมือนกับคำพูดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า “เราไม่สามารถแก้ปัญหา ด้วยการมองปัญหานั้นในระดับเดียวกับที่มันถือกำเนิดขึ้นมา”

ฮัน จีพยอง - นักวางแผน ที่ไม่กลัวการถูกตั้งคำถาม

“ฮัน จีพยอง” หนุ่มนักอ่าน ที่ยึดมั่นในการวางแผนอย่างรอบคอบตั้งแต่เด็ก และก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมปั้นบริษัทสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จได้แบบ 100%


ตัวละครพระรอง (ที่หลายคนอาจอยากให้เป็นพระเอก) นี้ สะท้อนคุณสมบัติคนทำธุรกิจที่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือ การวางแผนธุรกิจอย่าง “รอบด้าน” และ “รอบคอบ” เพราะบ่อยครั้งที่ทุกคนมักจะทุ่มพลังไปกับการคิดหาสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ๆ แต่กลับหลงลืมเรื่องสำคัญอื่น เช่น การศึกษาคู่แข่ง ศึกษาตลาด การทำมาร์เก็ตติ้ง หรือแม้กระทั่งการบริหารการเงิน ฯลฯ จนกลายเป็นหลุมพรางใหญ่ที่หลายธุรกิจต่างตกม้าตายกันมาแล้ว


อีกหนึ่งคุณสมบัติเด่นที่ทำให้ “ฮัน จีพยอง” ได้รับฉายานักปั้นธุรกิจมือทอง นั่นคือ “ความตรงไปตรงมา” ซึ่งทุกครั้งที่เขาเกิดข้อสงสัยหรือบริษัทที่ดูแลกำลังเจอกับปัญหา เขาคือคนหนึ่งที่ไม่ลังเลที่จะตั้งคำถามและหาต้นตอของปัญหา ซึ่งแม้จะดูรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกที่ ทันท่วงที ซึ่งจำเป็นมากในการทำธุรกิจระยะยาว

วอน อินแจ - ผู้นำธุรกิจ ที่ไม่เคยหยุดมองหาโอกาส

“วอน อินแจ” อดีตทีมบริหารระดับสูงบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ตัดสินใจลาออกและเบนเข็มมาจับธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยลำแข้งตัวเอง


“ความเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยว” คือสิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านตัวละครพี่สาวนางเอกคนนี้ ทั้งการตั้งเป้าหมายธุรกิจที่ชัดเจน วิธีการนำเสนอที่ฉะฉาน รวมถึงการตัดสินใจชี้ขาดในสถานการณ์ที่จำเป็น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้สะท้อนให้ตัวละคร “วอน อินแจ” มีบุคลิกที่ดูน่าเชื่อถือ และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าที่เข้ามา


และแม้จะต้องวุ่นกับการพัฒนาสินค้า วางกลยุทธ์การทำธุรกิจ และบริหารคนไปพร้อมกัน แต่เธอก็มักจะไม่พลาด “มองหาโอกาสใหม่ๆ” อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคอนเนกชันใหม่ๆ พาร์ทเนอร์ด้านธุรกิจ หรือโปรเจกต์ที่บริษัทสามารถทำได้ ซึ่งในสังเวียนธุรกิจ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสร้างแต้มต่อและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้