สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมเพื่อสังคม และความท้าทายในการลงทุนทางสังคม (Social Innovation & Challenges in Impact Investing)

บทความ 15 มิถุนายน 2564 4,587

นวัตกรรมเพื่อสังคม และความท้าทายในการลงทุนทางสังคม

(Social Innovation & Challenges in Impact Investing)


ปัญหาทางสังคม คือสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมกับการพัฒนาของประเทศ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน สำหรับประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาทางสังคม และความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสูงจากหลากหลายปัจจัย ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้คนในสังคมก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดต้นตอของปัญหาขึ้นมาได้ ในอดีตกระบวนการแก้ไขปัญหาทางสังคมจะมุ่งเน้นไปที่การใช้กฎระเบียบและอำนาจของรัฐเข้าไปจัดการกับปัญหา แต่ทว่ากระบวนการดังกล่าวกลับได้ผลน้อยลงในทุกปี ซึ่งการรอใช้อำนาจของรัฐเข้าไปจัดการกับปัญหาอาจไม่ทันการณ์ ทำให้ปัญหาเหล่านั้นเติบโตจนกระทั่งกลายเป็นวิกฤตในเวลาต่อมา จากบทบาทของภาครัฐที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึงและตรงจุด ทำให้เกิดการทำงานในภาคประชาสังคมขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบมูลนิธิ สมาคมเพื่อสังคม หรือแม้กระทั่งการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุกิจ โดยกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทางสังคมแบบไม่ต้องพึ่งพิงภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม แต่ทว่าเมื่อบริบทของสังคมเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง พบว่าการดำเนินงานในรูปแบบการไม่แสวงหากำไรเริ่มมีประสิทธิภาพน้อยลง สาเหตุก็เพราะเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานที่มาจากการบริจาคหรือผลประกอบการของกิจการธุกิจหลักมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เมื่อไม่มีการบริจาค หรือธุรกิจหลักขาดรายได้ จึงส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ด้วยเหตุดังกล่าวการดำเนินงานทางด้านสังคมจึงได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงจนนำมาสู่ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise, SE) ในเวลาต่อมา การทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้นมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาทางสังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน  ซึ่งกระบวนการนี้ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตามกิจการเพื่อสังคมโดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย เมื่อเติบโตขึ้นมาในระดับหนึ่งกลับไม่สามารถที่จะขยายตัวได้เหมือนเช่นธุรกิจทั่วไป สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะว่ากระบวนการนั้นมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเป็นหลักจึงทำให้สภาพการเงินของธุรกิจไม่ได้ดีนักเมื่อเทียบกับธุรกิจทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้กลไกการเงินที่มีอยู่ในประเทศไม่สามารถรองรับการสนับสนุนธุรกิจกลุ่มนี้ได้ เมื่อธุรกิจเพื่อสังคมไม่สามารถเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการเงินแบบปกติได้ จึงนำมาสู่การเกิดแนวคิดใน การลงทุนเพื่อสังคม (Impact Investing) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เม็ดเงินที่ลงทุนไปส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในด้านผลตอบแทนทางการเงิน ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอังกฤษการลงทุนทางสังคมเองเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐเข้าไปรับผิดชอบโดยตรง โดยเข้าไปพัฒนาช่องทางการเข้าถึงเงินทุนให้กับกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ทั้งรูปแบบทุนให้เปล่า สินเชื่อ และเงินลงทุนในหุ้น ซึ่งทำให้สามารถปลดล็อคการขยายตัวของธุรกิจเพื่อสังคมได้ในระดับหนึ่ง ส่วนในแถบเอเชียอย่างฮ่องกงเองก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจเพื่อสังคม และกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาทางสังคม โดยภาครัฐได้มีการอำนายความสะดวกให้เกิดกระบวนการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคมที่หลากหลาย เช่น กองทุนให้เปล่า (Funding) หรือ การร่วมลงทุน (Venture Capital) เป็นต้น

ในประเทศไทย การสนับสนุนเรื่องการลงทุนทางด้านสังคมส่วนใหญ่ ยังอยู่ในรูปแบบของเงินให้เปล่าสำหรับระยะเริ่มต้น ซึ่ง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เองก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีกลไกการสนับสนุนธุรกิจหรือกิจการที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในรูปแบบของเงินทุนให้เปล่า ซึ่งกลไกดังกล่าวสามารถช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาทางสังคมได้ดีในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่ายังมีปัญหาด้านการเติบโตของกลุ่มกิจการเพื่อสังคมที่ยังขาดกลไกที่จะช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมขยายตัว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องมี การผลักดันในระดับนโยบาย จึงจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะด้านกฎหมายที่จะช่วยให้นักลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสม เช่น การลดหย่อนภาษี สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนบางอย่าง เป็นต้น ส่วนหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการลงทุนก็ต้องเข้ามาสร้างกฎกติกาที่กระตุ้นให้ผู้ลงทุน และธุรกิจเพื่อสังคมได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่จะทำให้การลงทุนทางสังคมเกิดขึ้นได้จริงในประเทศ ก็คงจะเป็นเรื่องของ การสื่อสารด้านผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการหรือหน่วยงานใด ๆ ที่ออกมารับรองหลักการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมเพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานกลาง เนื่องจากกระบวนการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมยังมีทฤษฎีที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลให้ผลการประเมินขาดมาตรฐานที่ทุกภาคส่วนให้การยอมรับ หากต้องการให้ประเทศไทยเกิดการลงทุนทางสังคมที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ ก็ต้องมีการผลักดัน ในการทำข้อตกลงสำหรับขอบเขตการประเมินที่ยอมรับได้และสร้างเป็นแนวทางการดำเนินการที่จับต้องได้จริง

ส่วนสุดท้ายการทำให้เกิดการลงทุนทางด้านสังคมขึ้นมาได้จริง ๆ ธุรกิจเพื่อสังคมเองก็ต้องมีการปรับตัว ตามสภาวะปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการผลักดันจนทำให้เกิดการลงทุนทางสังคมอย่างเสรี แต่หากตัวธุรกิจเพื่อสังคมเองไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากพอก็ไม่สามารถดึงดูดให้เกิดการลงทุนขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้มุนมองความคิดในเชิงนวัตกรรมจึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการผลักดันให้ธุรกิจเพื่อสังคมเกิดการปรับตัว ยังทำให้ธุรกิจเหล่านั้นมองเห็นโอกาส การแข่งขันและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยสร้างผลกำไรทั้งรูปแบบของการเงิน และผลลัพธ์ทางสังคมต่อไป

จากบริบทของปัญหาในการลงทุนเพื่อสังคมที่เกิดขึ้น และแนวทางต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากต้องการให้ประเทศไทยที่อยู่ระดับประเทศกำลังพัฒนาสามารถเกิดการลงทุนเพื่อสังคมได้จริง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่องค์ความรู้หรืองบประมาณของประเทศ แต่เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่จะต้องลงมือร่วมแรงกันอย่างจริงจัง เหมือนจิ๊กซอว์แผ่นใหญ่ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบของทุกชิ้นส่วนจึงจะสามารถสร้างสิ่งที่ต้องการพัฒนาขึ้นมาได้ ซึ่งแม้กระบวนการดังกล่าวจะเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากทุกคนล้วนมีเป้าหมายเพื่อการสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน ในอนาคตอันใกล้ความร่วมมือดังกล่าวก็อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง

[1] Chhina S., Petersik W., Loh J. and Evans D. (2014). From charity to change: Social investment in selected Southeast Asian countries. Lien Centre for Social Innovation: Research.

[2] Achavanuntakul, S., and Yamla-or, P. (2011). Handbook for social impact assessment and social return on Investment. The Thailand Research Fund. 

[3] Yasemin Saltuk (2011). Insigth into the Impact Investment Market. J.P.Morgan Social Finance.

[4] การลงทุนมุ่งผลทางสังคมในประเทศไทย. (2018). By UNDP. https://www.thailandsocialinnovationplatform.org/th/social-impact-investment/

[5] อังกฤษและกิจการเพื่อสังคม; บทเรียนสำหรับเมืองไทย #1. (2010) Sunit’s Online Journal. https://xmergence.com/2010/03/04/englishlesson1/

โดย ธีรวัฒน์ เหล่าสมบัติ
       นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)