สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
บทเรียน 8 ปีกับงานพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม
เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปีของการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงมีโอกาสได้ลองมาวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะเลข 8 เป็นเลขมงคล ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง หรือความสำเร็จ และถ้าเรามองเลข 8 ในแนวนอน ก็จะเป็น ∞ ซึ่งก็แปลความหมายได้ในเชิงของความยั่งยืน สอดรับกับนิยามของคำว่า “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ที่มีเป้าหมายสำคัญในการทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน จึงทำให้ปีที่ 8 นี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญของการเปลี่ยนผ่านของ NIA ว่าจะก้าวต่อไปอย่างไรเพื่อให้งานที่ทำมาตลอดเกิดแรงกระเพื่อมสู่ผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ความสำเร็จและความล้มเหลวที่ผ่านมาจึงถือเป็นบทเรียนชั้นเลิศให้เราลองมาทบทวน และอยากจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นี้ให้คนที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมได้นำไปช่วยกันขับเคลื่อนงานทางด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมต่อไป
ในระยะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560-2563 นั้น NIA ให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนา platform ทางสังคม และสาขาธุรกิจเพื่อสังคม (social business sectors) ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือรูปแบบธุรกิจที่สามารถเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้นในประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคม 9 ด้าน คือ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านภาครัฐและการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผ่านโปรแกรมการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ของ NIA ที่พัฒนาขึ้น ได้แก่
ในปี 2563 เป็นปีที่ทั่วโลกประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับประเทศไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื้องรังอันเนื่องมาจากภัยพิบัติมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของโครงการนวัตกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันนวัตกรรมจากภาครัฐและนวัตกรรมด้านการศึกษา ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน จึงเริ่มมีโครงการในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ NIA เริ่มขยายบทบาทการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ ผ่านงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ซึ่งได้รับมาดำเนินการเป็นปีแรกในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุน โดยภาพรวมผลการดำเนินงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดการกระจายตัวของการทำนวัตกรรมเพื่อสังคมทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดยากจน และเกิดการทำนวัตกรรมที่ช่วยฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น
บทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินงานในระยะแรก คือ ประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคมทั้ง 9 ด้าน มีความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนด้วยมิติการพัฒนาเชิงธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมไม่เท่ากัน โดยเฉพาะด้านการจัดการภัยพิบัติที่มีจำนวนโครงการที่ได้รับการสนับสนุนน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่านวัตกรรมเพื่อสังคม มิใช่การทำนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ให้กับชุมชนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัญหาของคนในสังคมเมือง และปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญ และรอการนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ในส่วนของการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 นับว่าเป็นการเข้าสู่ช่วงการดำเนินงานในระยะที่ 2 ของ NIA ในกรอบการพัฒนาตั้งแต่ปี 2564 – 2567 โดยเป็นการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เข้ากับบริบท หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศหรือของโลกที่กำลังเผชิญอยู่ ควบคู่ไปกับการนำภาพอนาคตมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงมหภาคที่เป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในรูปแบบโมเดล Quintuple Helix ที่เป็นการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกันให้สามารถสร้างโอกาสทางนวัตกรรมเพื่อสังคมที่หลากหลายมากขึ้น และมีโอกาสในการสร้างผลกระทบที่กว้างขึ้นโดยเฉพาะในระดับภูมิภาค อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม รวมถึงแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม หน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานสนับสนุนเงินทุน และผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม และโครงการนำนวัตกรรมพร้อมใช้ไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนากลไกการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมในระยะเติบโต (Growth Stage) ของประเทศไทย พบว่ายังอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกการลงทุนทางสังคม และยังเกิดการต่อยอดในระยะเติบโตค่อนข้างน้อย
บทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินงานในระยะนี้ ทำให้ NIA มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมมากกว่า 1,000 โครงการ บริหารเงินทุนสนับสนุนมากกว่า 570 ล้านบาท เกิดมูลค่าการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท มีผู้ได้รับการบ่มเพาะการทำธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชนและผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 300,000 คน ทั่วประเทศ จนทำให้ในที่สุด NIA ได้ก้าวสู่การเป็นองค์กรนำในการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของประเทศไทยที่สำคัญองค์กรหนึ่ง
หากจะให้ลองวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จและปัจจัยความเสี่ยงในการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ผ่านมาทั้งสองระยะ เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานในระยะที่ 3 สามารถสรุปได้ ดังนี้
8 ปัจจัยความสำเร็จ
8 ปัจจัยความเสี่ยง
8 กรณีศึกษาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่น่าจับตามอง
1. จอยไรด์ แพลตฟอร์มดูแลและอำนวยความสะดวกในการช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน เช่น การพาไปหาหมอ การทำธุรกรรม และกิจกรรมทางสังคม โดยการออกแบบให้มีการใช้งานที่ง่าย และมีทีมงานดูแลผู้สูงอายุ (Care Team) คอยทำหน้าที่ให้เหมือนลูกหลานของผู้สูงอายุเป็นผู้มาดูแลด้วยตัวเอง
2. วัลแคน แพลตฟอร์ม Live Chat Agent ที่ผู้พิการเป็นผู้ให้บริการและตอบคำถามแก่ลูกค้า โดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อช่วยอ่านข้อความ และออกเสียงในบริเวณที่กำหนด นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังได้ถูกออกแบบให้คนพิการทางด้านการมองเห็นสามารถใช้งานได้สะดวก
3. เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม ระบบถาม-ตอบอัจฉริยะ ที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยมะเร็งและคนในครอบครัวให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยให้สามารถมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิตและช่วยให้ผู้ดูแลหรือญาติไม่เกิดความเครียดระหว่างการดูแล ลดภาระการครองเตียงในสถานพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา
4. ไอบอทน้อย นักจิตวิทยาปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตด้วยเสียงมนุษย์สังเคราะห์ โดยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาต่อยอดกับเทคโนโลยีด้านน้ำเสียงการพูด และการจัดรูปแบบประโยคให้เหมาะสมกับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ตลอดจนสร้างโมเดลการปรับเปลี่ยนรูปแบบเสียง เพื่อให้เสียงสังเคราะห์มีน้ำเสียงที่ดี มีความเห็นอก เห็นใจ และผู้ฟังรู้สึกสบายใจเปรียบเสมือนพูดคุยกับนักจิตวิทยา
5. กล่องดินสอ อุปกรณ์วาดเขียนเล่นเส้น ที่ออกแบบปากกาเส้นไหมพรมให้ใช้งานคู่กับแผ่นวาดภาพ แถบหนามเตยหรือที่หลายคนเรียกว่าแถบตีนตุ๊กแก แต่มีสภาพพื้นผิวเรียบเนียนนกว่าในการสัมผัส ที่ช่วยส่งเสริมจินตนาการและการเรียนรู้ของคนตาบอดอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอุปกรณ์ PLAKOD ที่ช่วยกายภาพบำบัดสำหรับด้วยการเล่นเกม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการทำกายภาพบำบัดสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ
6. ม้งไซเบอร์ การออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ เช่น การทำอาหาร การทำคลิปตัดต่อ และกิจกรรมสายบันเทิง ที่สามารถเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะหลักสูตรเสริมอาชีพต่าง ๆ ได้ ควบคู่ไปกับการจัดงานอีเวนต์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ในพื้นที่
7. โลเคิล อไลค์ บริการการท่องเที่ยวชุมชน โดยการนำเอาอัตลักษณ์วิถีถิ่น ศักยภาพของชุมชน มาออกแบบเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวทั้งแบบกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ที่กำลังเติบโต จนนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน การสืบสานวิถีถิ่น และการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน
8. มอร์ลูป แพลตฟอร์มช่วยเหลือการจัดเก็บและทำฐานข้อมูลของผ้าเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้มีการอัพเดทแบบ real-time ตลอดเวลา ซึ่งจะตอบสนองผู้ใช้งานทั้งทางต้นทางจากโรงงาน และลูกค้าปลายทางที่ต้องการสั่งสินค้าแบบ 24 ชั่วโมง รวมถึงระบบ Tracking ที่จะคอยช่วยเหลือการนำส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลดปริมาณผ้าเหลือทิ้งเป็นขยะได้
ไม่เพียงแต่ 8 กรณีศึกษาเกี่ยวกับโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เรายกมาเป็นตัวอย่าง ยังมีตัวอย่างความสำเร็จอีกจำนวนมากที่ NIA ได้รวบรวมไว้ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีสื่อเผยแพร่องค์ความรู้ หลักสูตรออนไลน์ รวมถึงโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมที่น่าสนใจ โดยสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://social.nia.or.th
สุดท้ายนี้ NIA หวังว่า 8 ปีในช่วงเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคม จะนำไปสู่ความยั่งยืนแบบ ∞ และการขยายผลกระทบวงกว้างในระยะต่อไป
บทความโดย
คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ
ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)