สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

สำรวจ “Tokyo Bay Area” ต้นแบบย่านเศรษฐกิจร้อยปีที่ยังไม่หยุดพัฒนา

บทความ 21 มิถุนายน 2565 2,744

สำรวจ “Tokyo Bay Area” ต้นแบบย่านเศรษฐกิจร้อยปีที่ยังไม่หยุดพัฒนา

 

ชวนล่องเรือเทียบท่า “Tokyo Bay Area” พร้อมสำรวจต้นแบบย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก!

“โตโยต้า โซนี่ ฮอนด้า มิตซูบิชิ แคนนอน และอีกมากมาย” พูดชื่อขึ้นมาเชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักบริษัทเหล่านี้ เพราะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่นที่ครองตลาดในหลายอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นจึงถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจแบบไม่ต้องสงสัย และยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  แต่ทุกคนทราบกันไหมว่าแล้วญี่ปุ่นเดินหน้ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เคยพ่ายแพ้สงคราม และจุดไหนคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นทะยานขึ้นมาจนกลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ NIA จะพาทุกคนมาร่วมแกะรอยความสำเร็จเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

จุดเริ่มต้นการพัฒนาอ่าวโตเกียว กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ย้ายเมืองหลวงจากเกียวโต (Kyoto) มาสู่โตเกียว (Tokyo) ตั้งแต่ปลายสมัยเมจิ ส่งผลให้เกิดการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่อ่าวที่เป็นเขตเดินเรือไปสู่ประเทศต่างๆ ทำให้วิทยาการและความรู้จากซีกโลกตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ผสานกับเป็นยุคที่ญี่ปุ่นมีการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประชาชนจึงมีที่ดินและพื้นที่ทำกินของตัวเอง ในยุคนั้นนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีแนวคิดเช่นนี้ โตเกียวจึงมีความเติบโตเรื่อยมาจนเป็นทั้งแหล่งอารยธรรมและพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

กระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม แต่ด้วยเลือดนักสู้ จึงเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มขั้น จนในที่สุดก็กลับมาประสบความสำเร็จอย่างมากในยุค 60 หรือที่เรียกว่า “Golden 60s” ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นสมาชิกของ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือความร่วมมือของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และยังได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาโอลิมปิก พร้อมทั้งมีรถไฟความเร็วสูงชินคันเซนสายโทไกโด (Tokaido Shinkansen) ให้บริการเป็นครั้งแรก โดยพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นสมัยใหม่ ก็คือบริเวณ “อ่าวโตเกียว” (Tokyo Bay Area) ทั้งหมด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีเขตอุตสาหกรรมที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอยู่หลายแหล่ง

ซึ่งก็จะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป อย่างเขตอุตสาหกรรม “Keihin” ประกอบไปด้วยเมืองบริเวณชายฝั่ง โตเกียว (Tokyo) คาวาซากิ (Kawasaki) และโยโกฮาม่า (Yokohama) ที่นับเป็นศูนย์กลางด้านเครื่องจักรแม่นยำ การพิมพ์ ชิ้นส่วนยานยนต์
 และเขตอุตสาหกรรม “Keiyo” ซึ่งครอบคลุม 8 เมืองในจังหวัดชิบะ (Chiba) ที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยหนุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ประกอบไปด้วยการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหล็ก การต่อเรือ ไปจนถึงโลจิสติกส์สมัยใหม่

เทียบท่าเรือส่อง “แผนการพัฒนาท่าเรือใน Tokyo Bay Area” ที่จัดการทรัพยากรได้อย่างสมดุล

แม้จะมีการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเดิมทีในบริเวณนี้ยังไม่มีแผนการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ในปี 1958 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เสนอแผนสำหรับเขตเมืองหลวงแห่งชาติขึ้นมา ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขยายตัวของเมือง ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่น ทำให้แต่ละเมืองมีการบริหารได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการวางผังเมือง การป้องกันภัยพิบัติ และมีพื้นที่ส่วนกลางให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนได้มีสิทธิ์ร่วมพัฒนาเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีการบริหารงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่สร้างความเติบโตให้กับย่านนี้มาก คือการพัฒนาท่าเรือ 6 แห่ง ให้เชื่อมต่อกับสนามบินนานาชาติและรถไฟความเร็วสูง โดยแต่ละท่าเรือก็จะมีฟังก์ชันและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ เช่น

1. “Tokyo Port” ท่าเรือที่เน้นขนส่งสินค้าอุปโภคแบบรายวันส่งถึงโตเกียวซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น
2. “Kawasaki Port” ท่าเรือที่มีความโดดเด่นเรื่องห้องเย็น เน้นสินค้าแช่แข็ง และยังมีโกดังสินค้าขนาดใหญ่อยู่โดยรอบ
3. “Yokohama Port” ท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้าง สามารถเป็นจุดเทียบเรือขนาดใหญ่ได้ ทำให้ที่นี่เหมือนเป็นจุดที่เรือทุกที่ในโลกต้องเข้ามาเทียบท่าที่นี่

ซึ่งการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุนเช่นนี้ทำให้ย่านนี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน หรือเรียกได้ว่าเป็นหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อ่าว (Bay Area) ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก อย่าง Greater Bay Area ในประเทศจีน และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยเรา

ในวันที่โตเกียวใส่ใจโลกมากขึ้นกับ โครงการ “Tokyo Zero-emission Innovation Bay

การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมจำนวนมากทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จริง แต่ก็ส่งผลเสียให้กับสิ่งแวดล้อมไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันโลกกำลังได้รับบทเรียนอย่างหนักจากหลากหลายวิกฤติ ตั้งแต่ ปัญหาความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ ไปจนถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่กำลังเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก

เราจึงเห็นการตั้งเป้าหมาย “การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Target)” ในประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และภาวะผู้นำในแต่ละประเทศ ประกอบกับ EU และอีกหลายประเทศ มีมาตรการทางการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน

ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตเกียว ก็ไม่รอช้า สร้างโครงการที่ชื่อว่า “Tokyo Zero-emission Innovation Bay” ขึ้นมา ภายใต้กลยุทธ์นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลญี่ปุ่น คือการมุ่งให้องค์กรต่างๆ ในบริเวณ Tokyo Bay Area ลดการปล่อยคาร์บอน หรือของเสียต่างๆ โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม Zero-emission แห่งแรกของโลก นับเป็นย่านเศรษฐกิจแห่งแรกๆ ที่เดินหน้าทำข้อตกลงนี้ (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2020)

ซึ่งมีสถาบันวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติ หรือ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) เป็นหน่วยงานหลักที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศนี้ขึ้น โดยในปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมกว่า 131 หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วพื้นที่ Tokyo Bay Area  

จากยุคเมจิจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการมุ่งเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างแผนพัฒนาชาติในระยะยาวให้กับประเทศนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในจุดยุทธศาสตร์อย่างบริเวณ “อ่าวโตเกียว” ที่สามารถร้อยทุกเส้นทางให้เชื่อมถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ซึ่งนอกจากได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังเอื้อต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ อีกเช่น การท่องเที่ยว เพราะเดินทางสะดวกสบาย ใครมาก็ประทับใจ  

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://research.hktdc.com/en/article/NDAwMDc1MjU2
https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/31941
https://unit.aist.go.jp/gzr/zero_emission_bay/en/
https://www.dft.go.th/th-th/NewsList/News-DFT/Description-News-DFT/ArticleId/6084/24112554
https://asian-links.com/gdp/japan-largest-companies
https://thestandard.co/reiwa-era/