สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
Theranos ปฏิบัติการวงการแพทย์ลวงโลก
จาก CEO หญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก ที่มักแต่งกายขึ้นเวทีนำเสนอผลงานด้วยเสื้อคอเต่าคล้ายสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) อดีตซีอีโอแอปเปิ้ลผู้ล่วงลับ ใช้เวลาเพียง 11 ปีตั้งแต่วันที่ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน เพื่อสร้างสตาร์ทอัพด้านสุขภาพและการแพทย์ ที่ครั้งหนึ่งมีมูลค่าบริษัทสูงสุดกว่า 300,000 ล้านบาท แต่หลังจากเหตุการณ์ที่พนักงานในบริษัทและสื่อมวลชน ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับจริยธรรมและธรรมาภิบาลของบริษัทที่ปกปิดอย่างมิดชิด ทำให้ม้ายูนิคอร์นแห่งวงการอย่าง Theranos กลายเป็นเพียงเศษผงธุลีที่ไม่มีมูลค่าใด ๆ เลย
อลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการปรากฏตัวแสดงวิสัยทัศน์บนเวที TEDMED เมื่อปี ค.ศ. 2014 ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อคนรุ่นใหม่และนักลงทุนถึงความมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงโลกด้วยนวัตกรรมการเจาะเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางการแพทย์อย่างแม่นยำ เพียง 2-3 หยด ที่ปลายนิ้วเท่านั้น ใช้เวลาเพียง 30 นาทีในการแสดงผลเลือด ด้วยวิธีการดังกล่าวจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเจาะเลือดจากวิธีการเดิมมากถึงร้อยละ 90 และช่วยทำให้ประชากรที่อยู่ห่างไกลหรือยากจนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น
ในช่วงแรก Theranos จ้างที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลสูงทางสังคมและนักกฎหมายอันดับต้น ๆ ของประเทศ เพื่อปกป้องและคุ้มครองความลับทางการค้าของบริษัทจากบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งจากนักลงทุนหรือบริษัทที่สนใจทำงานร่วมกันก็ตาม นอกจากนั้น Holmes ที่มีบุคลิกภาพที่กระฉับกระเฉง สดใส และอวดอ้างความสำเร็จเกินจริง ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยการส่งเสริมความจงรักภักดีต่อตัวเธอ มากกว่าความสามารถในการทำงาน แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่เป็นผลต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทเท่าไหร่นัก แม้นักลงทุนเองจะพอรู้ถึงปัญหาในการบริหารงานของเธอ แต่ก็มักจะยอมให้โอกาสเธออีกครั้งเสมอ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท คือการทำสัญญาร่วมกับร้านขายยาชื่อดังอย่าง Walgreens ที่กำลังระส่ำระส่ายน่าเชื่อถือว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ หรือการอ้างความไม่พร้อมในการตรวจสอบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ความกลัวที่ตัวเองจะพลาดในขบวนรถไฟแห่งนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เลยยอมร่วมเดินทางไปกับรถไฟขบวนนี้ และกลายเป็นหายนะในที่สุด
หนึ่งในผู้ประสบภัยจากหายนะคราวนั้นอย่าง Tyler Shutlz วิศวกรที่เคยทำงานอยู่ที่ Theranos ที่ไม่อาจทนเห็นการละเลยในธรรมาภิบาลของบริษัท จึงได้เริ่มต้นตรวจสอบข้อมูลจากเพื่อนร่วมงาน ถามความคิดเห็นจากคนหลายกลุ่ม ทั้งจากบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งงานเดียวกันหรือสูงกว่า รวบรวมหลักฐานความไม่ชอบมาพากลอย่างหนักแน่น ปรึกษาทนายความหรือนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ และติดต่อสื่อมวลชนสายข่าวสืบสวนเพื่อวางแผนในการตีแผ่ความจริงให้ได้รับทราบ และร่วมรักษาผลประโยชน์ต่อสังคม ผ่านบทความจากวอล์ทสตรีท เจอร์นัลในปี ค.ศ. 2015 และกลายเป็นจุดจบของบริษัทในอีก 3 ปีถัดมา
จากการกระทำของ Theranos ที่พยายามโฆษณาชวนเชื่อและอวดอ้างเกินจริงในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ตนเองยังทำไม่สำเร็จ นอกจากจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่ต้องอาศัยการทดลองและทดสอบอย่างเข้มงวดจากหลายหน่วยงาน จนมั่นใจว่านวัตกรรมเหล่านั้นสามารถทำได้ตรงตามความเป็นจริงอย่างที่กล่าวอ้าง ยังสร้างความกังวลใจต่อการลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากคำลวงของ CEO เอง
จากวันที่ไฟสปอตไลท์แห่งความหวังของมนุษยชาติฉายส่องไปที่ตัวเธอบนเวที จนถึงวันที่ไฟสปอตไลท์แห่งการตรวจสอบฉายไปยังจุดที่มืดมิดที่สุดในบริษัท ไม่ว่าจะมีนวัตกรรมที่ล้ำหน้าและสั่นคลอนโลกแห่งธุรกิจอย่างไร แต่สิ่งสำคัญสูงสุด ยังคงเป็นจริยธรรมในการดำเนินงาน ความโปร่งใสในการทดสอบหรือการเปิดเผยความคืบหน้าของกระบวนการอย่างตรงไปตรงมา และความจริงใจต่อนักลงทุน ที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ และสร้างนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนทุกชีวิตบนโลกให้ดีขึ้น
อ้างอิง :
https://www.blognone.com/node/74365
https://www.wsj.com/articles/theranos-has-struggled-with-blood-tests-1444881901