สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายความร่วมมือ เร่งสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพจาก Synthetic Biology เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงตอบโจทย์บีซีจีโมเดล

News 15 พฤศจิกายน 2564 2,252

NIA ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายความร่วมมือ เร่งสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพจาก Synthetic Biology เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงตอบโจทย์บีซีจีโมเดล


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ 16 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ร่วมแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของโครงการ Thailand Synthetic Biology Consortium เครือข่ายแรกในประเทศไทย ในการผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่จากเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology; SynBio) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564  


จากความสำคัญของเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ เป็นการบูรณาการความรู้ทั้งงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวภาพในมิติใหม่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาได้อย่างหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ด้านเกษตร อาหาร การแพทย์ สุขภาพ วัสดุ ดังนั้น สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้ริเริ่มเครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium โดยมีเครือข่ายความร่วมมือในระยะก่อตั้ง ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินงานสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็น ให้เกิดกรอบแนวทางในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพจากเทคโนโลยี SynBio ที่ชัดเจนต่อไป


ก้าวต่อไปของการขยายผลการดำเนินงาน จึงได้มีการจัดพิธีแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium ในรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตร 17 หน่วยงาน โดยมีคุณอุกฤช   กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ เป็นตัวแทนของ NIA เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศ Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) ในประเทศไทย


17 หน่วยงานพันธมิตรประกอบด้วย

  1. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
  2. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
  3. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
  4. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (III)
  5. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  7. สถาบันวิทยสิริเมธี
  8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  9. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  10. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  12. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  13. บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาขน)
  14. บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน).
  15. บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
  16. บริษัท ไบโอ บัดดี้ จำกัด
  17. บริษัท เทสท์บัด จำกัด


ภายในงานในช่วงเช้า ดร.อะจิคุมาร์ พารายิล CEOและผู้ก่อตั้ง Manus Bio Inc. บริษัทผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงของสหรัฐอเมริกา ได้แชร์มุมมองและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในระดับโลก ว่าเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์สามารถร่นระยะเวลาและเพิ่มปริมาณการผลิตชีวภัณฑ์ต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร ยา และ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำให้สามารถผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ได้ปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาสั้นลง นอกจากนั้นการใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการผลิตยังสามารถช่วยในเรื่องของการกระจายตัวของแหล่งผลิตวัตถุดิบ ทำให้สามารถผลิตชีวภัณฑ์ต่างๆได้จากทุกที่บนโลก ที่สำคัญ การใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 


จากนั้น ดร.คอสทัส วาวิสทัส ผู้จัดการเครือข่าย SINERGY เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดัน ขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ ประเทศสิงคโปร์ ได้พูดถึงการเป็น Global Bioeconomy Hub (ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ) ของประเทศสิงคโปร์ว่า ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์สามารถขับเคลื่อนวงการ Synthetic Biologyนั้น มาจากความร่วมมือแบบ Public-Private Partnership ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เริ่มตั้งแต่ขั้นแรกของกระบวนการทำงาน ส่งเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน โดยภาคเอกชนนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจและเข้าใจความต้องการของตลาด ส่วนภาครัฐทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องของการค้นคว้า วิจัย จัดตั้ง bio-foundry (โครงสร้างพื้นฐานสำหรับงาน Sequencing และ Synthesis) อำนวยความสะดวกในส่วนของทรัพยากร นโยบาย ไปจนถึงการสนับสนุนเงินลงทุน


นอกจากนี้ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้เล่าถึงความก้าวหน้าในการพัฒนา SynBio Ecosystem Development Roadmap ซึ่งเป็นแผนที่นำทางที่เป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน และมองเป้าหมายไปถึงปี 2030 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ในช่วงแรก (1-3 ปี) คือการสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) การมีแพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) รวมถึงพยายามแสดงให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ ในระยะกลาง (3-5 ปี) มองถึงการยกระดับโอกาสในการผลิตและมาตรฐานการผลิต ส่วนในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) คาดหวังว่าจะสร้าง Deep Tech Startup หรือ Deep Tech Enterprise ขึ้นมา เพื่อในอนาคตจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น


รวมทั้งได้รับเกียรติจาก นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน มีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบการเกษตร จึงมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์จะสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้ทั้งระบบ รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน


ในงานยังได้มีการเปิดตัวหนังสือ “Thailand Synthetic Bioeconomy Outlook and Key Milestones” ที่จัดทำโดย SynBio Consortium Working Group เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยี Synthetic Biology เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดกับหลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy ทั้งด้านการเกษตร อาหาร วัสดุ การแพทย์ และสุขภาพ ประกอบด้วย 


สำหรับผู้สนใจสามารถ Download ได้ที่ : https://nia.bookcaze.com/viewer/2400/1/ThailandSynthetic BioEconomyOutlookandKeymilestones  

E-book : http://online.anyflip.com/rtkdw/yvpc/mobile/index.html


ใน ช่วงบ่ายพบกับ SynBio Mix & Match 5 Demonstrations การ X กันเพื่อเปลี่ยนโลก ของ 5 คู่ Strategic Partner  

  1. Synbio - Agriculture Product 
  2. Future Beverage from Synbio
  3. Cow Milk from Microbe
  4. Animal Vaccine from Microbe
  5. HRD for SynBio Business (ACADEMY)

สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ ช่วงเช้า https://fb.watch/9ebBSqTlhu/ และช่วงบ่าย https://fb.watch/9ebEPuMW02/


#SynBioconsortium #NIA #BCGEconomy #DeepTechStartup #SectoralDevelopment