สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ชุ่มมัน “โคดำลำตะคอง” โคพันธุ์ไทยที่ต้องลิ้มลองจากศูนย์กลางการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงโคราช

2 กุมภาพันธ์ 2567 476

โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ชุ่มมัน “โคดำลำตะคอง” โคพันธุ์ไทยที่ต้องลิ้มลองจากศูนย์กลางการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงโคราช


🥩 “โคดำลำตะคอง” จากความสำเร็จในเวที “นิลมังกร รุ่นที่ 2” สู่การปักหมุด “โคราช” เป็นศูนย์กลางการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูง 

จุดเริ่มต้นของ “โคดำลำตะคอง” ชื่อนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในการประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย หรือ “นิลมังกร” รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการเฟ้นหาธุรกิจนวัตกรรมรายระดับภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง มาติดอาวุธเครื่องมือทางนวัตกรรมผ่านการบ่มเพาะธุรกิจ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Innovation, Business Model, Marketing, Branding  จากผู้เชี่ยวชาญ (Mentor) เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่

โดยบริษัท เอ็น.วี.เค.ฟาร์ม โปรดักส์ จำกัด หรือ N.V.K.Beef ผู้ชนะเลิศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากจังหวัดนครราชสีมา ด้วยการพัฒนาเนื้อโคพรีเมียมไทย จากการปรับปรุงโคขุนสายพันธุ์ “โคดำลำตะคอง” เป็นลูกผสม 3 สายพันธุ์โดยการดึงเอาคาแรคเตอร์และคุณภาพเนื้อที่โดดเด่นแตกต่างกันของแต่ละสายพันธุ์  ได้แก่ ลูกผสมพื้นเมือง มีจุดเด่นที่รสชาติเข้มข้น และมีกลิ่นหอมของเนื้อสายพันธุ์นี้ลักษณะเฉพาะของโคพันธุ์นี้จะมีความถึกทนซึ่งนิยมเลี้ยงในประเทศไทย วากิว เป็นเนื้อที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดคือปริมาณไขมันแทรกในเนื้อคล้ายกับลายหินอ่อน และแองกัส ที่มีการเจริญเติบโตไว มีอัตราการแลกเนื้อสูงและทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ดี จนปัจจุบันเราสามารถทำให้เกิด “พ่อพันธุ์กึ่งสำเร็จรูป” ประกอบกับองค์ความรู้ที่ได้จากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งเรื่องของโภชนาการ สุขภาพ และสวัสดิภาพของสัตว์ นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จเฉพาะสำหรับโคเนื้อคุณภาพสูงโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อให้โคสร้างโปรตีนเร่งการเจริญเติบโต ร่วมกับการพัฒนาระบบการเลี้ยงในพื้นที่เปิดเพื่อลดอาการเครียดของโค ทำให้ได้เนื้อโคที่มีคุณภาพสูง “โคนุ่ม เนื้อนุ่ม ชุ่มมัน” และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

🗺️ จากการค้นพบ “โคดำลำตะคอง” ในวันนั้น...สู่การปักหมุด “โคราช” เป็นจุดหมายคนรักเนื้อ ด้วยศักยภาพทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ “จังหวัดนครราชสีมา” ที่มีความโดดเด่นหลายด้าน ทั้งในแง่ของปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศไทยถึงร้อยละ 50 จากการผลิตโคเนื้อทั่วประเทศจำนวน 1.495 ล้านตัว และเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับการผลิตโคเนื้อที่สำคัญ เช่น หญ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพด และธัญพืช รวมถึงมีหน่วยขับเคลื่อนด้านงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทั้งการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูงแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่พร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร และผู้ประกอบการปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง และยังมีบริเวณพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทำให้จังหวัดนครราชสีมาคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล 

NIA จึงร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พัฒนาและผลักดันให้กลุ่มนครชัยบุรินทร์ ซึ่งได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ โดยพื้นที่เป้าหมายหลักคือจังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงของประเทศไทย ในฐานะของการเป็นพื้นที่ต้นแบบเทคโนโลยี และการสร้างมาตรฐานการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจนการสร้างแบรนด์พื้นที่และผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักด้วย 

🐃 “โคดำลำตะคอง” นับเป็นต้นแบบความพยายามของเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะได้รับองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาและการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ยังสามารถสร้างเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ช่วยในการผลิตโคเนื้อคุณภาพสูง 

โคดำลำตะคอง

ต่อยอดสู่การยกระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเป็น “ดินแดนแห่งโคเนื้อพรีเมียม” คิด ผลิต ขาย และพัฒนาโคเนื้อที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต หากประสบความสำเร็จก็สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว กลุ่มเมืองรอง และเมืองอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม

💪 เมื่อนวัตกรรมพร้อม! พื้นที่พร้อม! แรงใจพร้อม! ก็ถึงเวลาที่เราจะดันเนื้อพรีเมียมไทยให้ดังไกลระดับโลก กับงาน “Thailand Beef Fest 2024 เทศกาลเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ" โดย NIA ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ. นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ. นครราชสีมา) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  เพื่อโชว์ศักยภาพของเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ไทย และฉายภาพความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆ มิติ 

📈 ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจในการลดการนำเข้าโคเนื้อจากต่างประเทศ ยกระดับฟาร์มไปสู่มาตรฐานสากล หันมาส่งเสริมการตลาดโคเนื้อในประเทศไทยให้สามารถผลิต-ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น และมิติด้านสังคมที่ช่วยเพิ่มรายได้ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคในจังหวัดนครราชสีมา จำนวนมากกว่า 185,400 ราย รวมไปถึงยังเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้ลิ้มลองโคเนื้อคุณภาพชั้นยอดในราคาที่จับต้องได้อีกด้วย

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างในการส่งเสริมการเติบโตของเกษตรกรไทย NIA ในฐานะ Focal Conductor หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม ยังคงเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และสร้างความร่วมมือให้เกษตรกรไทย มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศได้

สามารถติดตามความสนุกของงานแถลงข่าวย้อนหลังที่
https://www.facebook.com/ThailandBeefFest/videos/1578580912945048

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://nvkfarm.com/ 
https://www.youtube.com/watch?v=B91zgOSpbj8 
https://www.brandage.com/article/35358 
https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-products/2756001