สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รวมพันธมิตร! เปิด “โครงการสร้างเครือข่ายนวัตกรรม” จากภูมิภาคถึงระดับโลก

28 ตุลาคม 2565 3,588

รวมพันธมิตร! เปิด “โครงการสร้างเครือข่ายนวัตกรรม” จากภูมิภาคถึงระดับโลก

NIA เดินหน้าสร้างเครือข่ายนวัตกรรม ทั้งในระดับเมือง ภูมิภาค ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก

ขับเคลื่อนไทยสู่ “ชาติแห่งนวัตกรรม” หมุดหมายสำคัญซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ NIA ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน แต่กว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้น กลไกหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “การพัฒนาเครือข่าย” หรือการสร้างพันธมิตร เพราะการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมไทย ต้องอาศัยเครือข่ายความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม สถาบันการศึกษา จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นฟันเฟืองที่คอยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงเดินหน้าสร้างพันธมิตรตั้งแต่ในระดับเมือง ส่วนภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงพันธมิตรในระดับนานาชาติ ผ่านโครงการและกลไกการทำงานในหลายระดับ เพื่อเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมให้กับประเทศ และในขณะเดียวกันก็พร้อมประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยก็มีจุดแข็งด้านนวัตกรรมเช่นกัน ผ่านการสร้างความร่วมมือดังต่อไปนี้

Regional: “พัฒนาฐานราก” สร้างความแข็งแกร่งตั้งแต่ในระดับภูมิภาค

ถ้าพูดว่าประเทศไทยคือประเทศที่ขับเคลื่อนโดย SME ก็คงไม่เกินจริงไปนัก เพราะจากสถิติของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ได้เปิดเผยไว้ว่า ปี พ.ศ. 2564 ทั่วทั้งประเทศไทยมีผู้ประกอบการในระดับ SME อยู่ประมาณ 3,171,429 บริษัท และเกินครึ่งอยู่ในภาคการค้าและการบริการ ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงมาก และช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

แต่จะดีกว่านี้ไหมถ้าผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศไทยจะสามารถยกระดับธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรม NIA จึงมีการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมตั้งแต่ในระดับฐานรากหรือในระดับชุมชน และพัฒนาเครือข่ายในระดับภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่การจัดทำโครงการ “ย่านนวัตกรรม (Innovation District)” ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยตั้งแต่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระยอง ขอนแก่น เพื่อให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และสร้างสรรค์นวัตกรรมตามเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมส่วนภูมิภาคแห่งแรกอย่าง “NIA Northern Regional Connect” ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกระจายองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมไปสู่ระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

และที่น่าติดตามอีกโครงการก็คือ “การแข่งขันสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย หรือ “นิลมังกร แคมเปญ” ที่เป็นการหยิบเอาผลงานนวัตกรรมจากตัวแทนผู้ประกอบการในระดับ SME, Startup และ Social Enterprise จากทุกภูมิภาคทั่วไทย ให้ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผ่านรายการการแข่งขันที่มีทั้งความสนุกสนานและความรู้ทางธุรกิจ สะท้อนแนวคิด Regionalization ได้เป็นอย่างดี และยังมีการสนับสนุนนวัตกรรมด้านสังคม เช่น “โครงการหมู่บ้านนวัตกรรม (Social Innovation Village) ที่เฟ้นหานวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลต่อไปในระดับภูมิภาค

Nation: “สร้างจุดศูนย์กลาง” พลิกฟื้นประเทศ...ด้วยนวัตกรรมไทย

เมื่อปักหมุดหมายในระดับภูมิภาคแล้ว ก็นำมาสู่การสร้างเครือข่ายในระดับชาติ เพื่อช่วยทลายปัญหาที่ทั้งประเทศกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inequality Issue) และปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่กำลังสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของผู้คน การสร้างเครือข่ายในระดับประเทศของ NIA จึงเป็นเหมือนการจับมือร่วมกันเพื่อพลิกฟื้นประเทศด้วยนวัตกรรม

โดย NIA สร้างความร่วมมือในระดับประเทศผ่าน “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย หรือ Innovation Thailand Alliance” ซึ่งเป็นการรวบรวมหน่วยงานชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมของประเทศไทย จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม และสถาบันการศึกษา เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดพัฒนาและขยายผลทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดโลก ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางนวัตกรรมก็คือ “Thailand Innovation Portal” แดชบอร์ดข้อมูลนวัตกรรมประเทศไทยที่รวบรวมข้อมูลนวัตกรรมนับ 4 แสนรายการ ทั้งสินค้านวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน บริการ ผู้เชี่ยวชาญ หากต้องการข้อมูลหรือบริการใดด้านนวัตกรรม ก็สามารถค้นหาได้จากที่นี่เลย

นอกจากนี้ NIA ยังมีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพอีกหลายโครงการที่เป็นความร่วมมือระดับประเทศ เช่น “INNOMALL” เป็นโครงการที่เกิดจากการจับมือกันระหว่าง NIA บริษัทสุขสวัสดิ์ (SCC) และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Shopee ในการวางจำหน่ายสินค้านวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA และโครงการ “เสือติดดาบ” อีกโครงการหนึ่งที่ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยจะได้มีโอกาสพบกับองค์กรระดับประเทศที่เป็นพันธมิตรกับเรา มากถึง 15 องค์กร เช่น TV Direct, BUILK, Baker McKenzie ฯลฯ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้ผู้ประกอบการพร้อมเข้าไปฟาดฟันบนสนามการค้าที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดได้

Global: “เชื่อมโลกด้วยนวัตกรรม” โอกาสในการแข่งขันบนเวทีโลก

ท่ามกลางการแข่งขันของโลกที่มีความท้าทายขึ้นในทุกวัน อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่มีแต่ความไม่แน่นอน เจอทั้งปัญหาเงินเฟ้อและอีกหลายวิกฤติ ส่งผลต่ออัตราการเกิดที่นับวันยิ่งน้อยลง ประกอบกับหลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ “คน” จึงเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลายประเทศจึงมีแนวทางในการต้องหามาตรฐานดึงดูดคนเก่งๆ จากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ ได้ออกใบอนุญาต Overseas Networks and Expertise (ONE) ให้กับชาวต่างชาติที่มีรายได้ประจำมากกว่า 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/เดือน ได้มีโอกาสทำงานและพำนักในสิงคโปร์ได้ยาวถึง 5 ปี  แล้วประเทศไทยมีนโยบายหรือมาตรการแบบนี้บ้างไหม

ก็ต้องขอตอบเลยว่ามี! และ NIA ได้เป็นแม่งานหลักร่วมกับ BOI หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการออก “Smart Visa Program” เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหาร หรือสตาร์ทอัพ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ได้นานสูงสุดถึง 4 ปี และยังมี “Global Startup Hub” ซึ่งเป็น Community ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแบบ One Stop Service ให้กับชาวต่างชาติ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทย กิจกรรมเพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ ไปจนถึงการช่วยเชื่อมโยงกับนักลงทุนหรือบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ

และไม่จบแค่การดึงดูดคนเข้าประเทศ NIA ยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ผ่านกลไก “การทูตนวัตกรรม หรือ Innovation Diplomacy” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ความร่วมมือด้านวิชาการ และธุรกิจสตาร์ทอัพระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้สร้างความร่วมมือกับหลายประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศนอร์ดิก (ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก) สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ฮังการี อิสราเอล มาเลเซีย จีน และอีกหลายประเทศ

จากภูมิภาคถึงระดับโลกกำลังสะท้อนให้เห็นว่า NIA ไม่หยุดที่จะสร้างจุดเชื่อมต่อในทุกกลไกการทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายโครงการและกลไกในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรอีกเป็นจำนวนมาก โดยสามารถติดตามทุกความเคลื่อนไหวจากในทุกช่องทางของ NIA ได้เลย