สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ความท้าทายใหม่ในเวทีโลก

3 กรกฎาคม 2566 6,264

นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ความท้าทายใหม่ในเวทีโลก

สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นมีเสน่ห์ในองค์รวมมากมาย ตอบโจทย์ทุกประเภทการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวคนเดียว การท่องเที่ยวกับเพื่อน คู่รัก หรือครอบครัว รวมถึงการเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย (Workation) ที่ตอบโจทย์สำหรับกลุ่ม Digital Nomad โดยความโดดเด่นของประเทศไทยนั้น สามารถสื่อสารออกมาผ่านวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และอื่น ๆ อีกมากมาย จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ผ่านการประกาศผลรางวัลมากมาย เช่น

  • ประเทศไทยได้รับรางวัล M & C Asia Stella Awards ในฐานะสุดยอดจุดหมายปลายทางด้านการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในเอเชีย ประจำปี 2565 (The Best Meetings and Incentives Destination (Asia) 2022) นับเป็นความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะสุดยอดจุดหมายปลายทางด้านการจัดประชุมและการเดินทาง (MICE) [ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEP, 2022)]
  • รางวัลประเทศที่ดีที่สุด อันดับที่ 22 ประจำปี 2565 (Best Countries in the World) จากงานวิจัยของ สำนักข่าว US News & World Report ร่วมกับ บริษัท BAV Group ผู้นำการวิจัยการตลาด, WPP บริษัทโฆษณาการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย [ข้อมูลจากงานวิจัยของ สำนักข่าว US News & World Report ร่วมกับ บริษัท BAV Group, บริษัท WPP และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (Report, 2023)]
  • ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวลำดับ 4 ที่น่าเดินทางไปเยือนมากที่สุดในโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จากการสำรวจของ Visa Global Travel Intentions Study [ข้อมูลจากสำนักข่าวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TATNewsroom, 2022)] 
  • กรุงเทพมหานครได้รับรางวัล เมืองน่าอยู่และน่าทำงานที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติ 2565 โดยได้รับการจัดอันดับ ณ อันดับที่ 6 ของโลก จากการสำรวจของ Internations.org แหล่งรวมชุมชน Expats [ข้อมูลจากสำนักข่าว CNBC (Liu, 2022)]
  • UNESCO ประกาศให้ 5 จังหวัดของประเทศไทยเป็นเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities) ในประเภทต่าง ๆ ทั้งด้านอาหาร งานฝีมือ ศิลปะพื้นบ้าน และการออกแบบ โดย 5 จังหวัดนั้น ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ [ข้อมูลจาก สำนักข่าว ผู้จัดการออนไลน์ (ผู้จัดการออนไลน์, 2023)]

     

จากมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ดี และการมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมถึงเสน่ห์ในอัตลักษณ์วิถีชุมชนของประเทศไทยที่กระจายทั่วประเทศทั้งเมืองหลักและเมืองรอง จึงเป็นเหตุผลที่ว่า นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติยังคงให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2565 นั้น ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 8.62 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP) แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11.8 ล้านคน และ นักท่องเที่ยวคนไทย 189 ล้านคน/ครั้ง และในปี 2566 นี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าหมายภาพรวมรายได้กลับมาไม่ต่ำกว่า 2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 (เทียบรายได้ ปี2562 เนื่องจากเป็นปีก่อนสถานการณ์โรคระบาด Covid-19) ((NESDC), 2023) 

 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี แต่ยังเหลือโอกาสอีกมากหากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีการใช้จ่ายเทียบเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเมื่อเทียบจากเป้าหมายของ ททท. ช่องว่างนั้นมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทให้ทุกคนได้มาเติมเต็ม โดย ททท. ได้ดำเนินการการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับตลาดในประเทศ ภายใต้แนวคิด “ปีท่องเที่ยวไทย 2566” และ “Visit Thailand Year 2023: Amazing New Chapters” สำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “การท่องเที่ยวมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน” (High Value and Sustainable Tourism) ด้วยแนวคิด BCG Model และให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมายทางใจ (Meaningful Travel)

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เล็งเห็นโอกาสการผลักดันให้การท่องเที่ยวเติบโต โดยเฉพาะการเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปให้การท่องเที่ยว ด้วยการดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาช่วยยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงเป็นการท่องเที่ยวสีเขียว หรือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) จึงมีแผนดำเนินงานภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2567” (City & Community Innovation Challenge 2024) ในหัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (Sustainable Tourism Innovation) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อย ได้ดังนี้

 

1. นวัตกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism Innovation)

รูปภาพประกอบหัวข้อนวัตกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

Wellness Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือ การท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างมีคุณภาพ ผ่านกิจกรรมหรือบริการที่สอดคล้องกับสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ ภายใต้พื้นฐานของความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น การนวดสมุนไพร การฝึกโยคะ บำบัดจิตใจ นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม การบริการ สุวคนธบำบัด (Aroma Therapy) หรือการบริการวารีบำบัด (Water Therapy) การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ (Health Healing Tourism) การตรวจร่างกาย การรักษาโรค ทันตกรรม การผ่าตัดเสริมความงาม หรือการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น ตัวอย่างโครงการ ได้แก่

  • “Tourapy” นวัตกรรมท่องเที่ยวที่ดูแลสุขภาพใจ ด้วยการออกไปเลือกทัวร์ที่เหมาะสมกับความต้องการทางใจ เลือกพักผ่อนพร้อมทำกิจกรรม ซึ่งนำทัวร์โดยจิตเเพทย์หรือนักจิตวิทยาในทุกทริป พร้อมแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนร่วมทริปในสภาวะจิตใจเดียวกัน
  • “Therapy Dog Thailand ทะลายกำแพงหัวใจด้วยสุนัขนักบำบัด” หลักสูตรพัฒนาสุนัขและผู้เลี้ยงให้กลายเป็นนักบำบัด นำสุนัขที่ผ่านการฝึกแล้วมาร่วมสร้างกิจกรรมบำบัดในรูปแบบใหม่ เช่น นำสุนัขมาช่วยในกิจกรรมบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าในแต่ละวัยเพื่อให้เห็นคุณค่าของตัวเอง หรือนำสุนัขมาร่วมทำกิจกรรมกับเด็กหูหนวก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมกับคนหูหนวกโดยเฉพาะ
  • “แพลตฟอร์มสร้างอาชีพนักนวดบำบัดสุขภาพนอกสถานที่” แพลตฟอร์มที่ผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้บริการนักนวดบำบัดเข้ามาให้บริการตามสถานที่ต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถระบุพิกัดของนักนวดบำบัดที่อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้บริการมากที่สุด โดยผู้ใช้บริการสามารถมั่นใจในคุณภาพของนักนวดบำบัด เพราะทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมและมีใบประกอบวิชาชีพนวดแผนไทย รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ Reskill ให้กับนักนวดบำบัด สร้างรายได้ให้นักนวดบำบัด และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ

 

2. นวัตกรรมการเที่ยวเชิงประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์ (Local Experiential Tourism Innovation)

รูปภาพประกอบหัวข้อนวัตกรรมการเที่ยวเชิงประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์

UNESCO ให้คำนิยามการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ไว้ว่า “เป็นการท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนจะจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างกลมกลืน และสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ในมิติของการเรียนรู้ การทดลองปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน นอกจากนั้น ชุมชนจะต้องสามารถใช้การจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการรักษาความสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวภายในชุมชน และผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับทั้งในรูปแบบที่เป็นผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ตัวอย่างโครงการ ได้แก่

  • “DoiSterNomad” นำเสนอการท่องเที่ยวและที่พักโฮมสเตย์ ร่วมกับเจ้าบ้านชนเผ่าต่าง ๆ สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นชนชาติพันธุ์ แหล่งท่องเที่ยว Unseen และช้อปปิ้งสินค้าพื้นเมือง จากฝีมือของชุมชน ไม่ผ่านคนกลาง
  • “สื่อปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลหลวงพัทลุง” ส่งเสริมการอนุรักษ์โลมาอิรวดีผ่านการพัฒนาสื่อและสร้าง Marker โดยใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Augmented Reality; AR)
  • “ยกระดับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนประวัติศาสตร์เขาแก้ว” นำเสนอทัวร์เดินเท้าที่นำโดยผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เน้นธีมหรือย่านที่เฉพาะเจาะจง เช่น เดินเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์สหายคอมมิวนิสต์เขาแก้ว เส้นทางออกแบบโดยชุมชน และผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในการดำเนินการออกแบบกำหนดรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์บนฐานวิถี ภูมิปัญญาค่ายคอมมิวนิสต์เขาแก้ว
  • “การจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของชุมชน เพื่อเสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์เส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชนย่านบางลำพู” การจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของชุมชนในย่านบางลำพูมีวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่โดดเด่น นวัตกรรมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดทำรวบรวมให้เกิดความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ นำเสนอและเกิดพัฒนาการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนในรูปแบบการมีส่วนร่วมจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาไปยังอาชีพไกด์เด็กบางลำพู

 

3. นวัตกรรมความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว (Safe and Secure Tourism Innovation)

รูปภาพประกอบหัวข้อนวัตกรรมความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว

องค์กรด้านการท่องเที่ยวโลกได้ระบุถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่ต้องพิจารณาจากความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นได้จาก 4 แหล่งด้วยกัน ได้แก่

  1. จากการกระทำของมนุษย์และสภาพแวดล้อมภายนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกระทำผิดที่นักท่องเที่ยวตกเป็นผู้เสียหาย เช่น การลักขโมย การล้วงกระเป๋า การจู่โจมทำร้ายร่างกาย การฉ้อโกง เป็นต้น
  2. จากภาคการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความบกพร่องทางด้านมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ก่อให้เกิดเพลิงไหม้จากความผิดพลาดของการก่อสร้าง การหยุดประท้วง เป็นต้น
  3. จากนักท่องเที่ยวที่สร้างปัญหาความไม่ปลอดภัยให้กับตนเอง เช่น การทำกิจกรรมที่โลดโผนและเสี่ยงอันตรายเกินไป เป็นต้น
  4. ความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากความเสี่ยงทางกายภาพและสภาวะแวดล้อม เช่น พืชและสัตว์ที่เป็นอันตราย ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อในเขตภูมิภาคนั้น เป็นต้น

ตัวอย่างโครงการ ได้แก่

  • “SNAP Platform” รวมศูนย์กล้อง AI เพื่อป้องกันการแอดอัดของจำนวนคนในพื้นที่ สามารถระบุลักษณะ และตรวจสอบการเข้าออกของสถานที่ รวมถึงแจ้งเตือนเมื่อมีการเข้า-ออกสถานที่นอกเวลาทำการ
  • “โนวี่พลัส: โดรนกู้ภัยระยะไกลเพื่อความปลอดภัยทางทะเล” ระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการกู้ภัยและความมั่นคงทางทะเล สามารถบรรทุกอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อผู้ประสบภัย รองรับคลื่นวิทยุ/4G,5G มีไฟส่องสว่างและกล้องบันทึกภาพสำหรับใช้งานทั้งกลางวันและกลางคืน รวมถึงเซนเซอร์ GPS ที่คอยส่งพิกัดเพื่อให้นำเรือกู้ภัยไปยังตำแหน่งเกิดเหตุได้อย่างถูกต้องและประเมินสถานการณ์ได้ก่อนจะถึงที่เกิดเหตุ
  • “ตู้แดง SOS” ตู้แจ้งความฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุแก่ตำรวจโดยไม่ต้องไปที่สถานีตำรวจ และสามารถโต้ตอบเพื่อแจ้งพิกัดเกิดเหตุฉุกเฉินได้

 

4. นวัตกรรมการท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น (Gastronomic and local ingredients Tourism Innovation)

รูปภาพประกอบหัวข้อนวัตกรรมการท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น

หนังสือนิตยสารออนไลน์ “National Geographic” ได้ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารมีคุณค่ามากกว่าแค่การดื่มกินเมนูดังตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ครอบคลุมถึงการผลิต เช่น การเยี่ยมชมแหล่งผลิต ณ ท้องถิ่น ไปจนถึงหลังการบริโภค เช่น การผลิตสินค้าที่ระลึกเพิ่มมูลค่า หรือแม้แต่การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์หลากหลายที่เกี่ยวเนื่องจากอาหาร โดย 4 เสาหลักของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ได้แก่

  1. Farming System – การเดินทางเริ่มต้นจากแหล่งกำเนิดอาหาร
  2. Story of Food – คุณค่าของเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้เห็นคุณค่าของอาหาร
  3. Creative Industries - อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาหารได้ทั้งสิ้น เพราะการนำเสนออาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
  4. Sustainable Tourism - ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมเรื่องราวของอาหารท้องถิ่น

ตัวอย่างโครงการ ได้แก่

  • “Local Aroi” โมเดลในการช่วยให้ชุมชนเชื่อมโยงกับผู้คนอย่างยั่งยืนผ่านอาหารชุมชน นำอาหารจากท้องถิ่นมาปรุงเสิร์ฟจากเชฟฝีมือดี รับรู้ถึงรสชาติถึงรูปแบบ Local Cuisine โดยการสั่งซื้อวัตถุดิบผ่านจากท้องถิ่นดั้งเดิม และโมเดลรายได้ส่วนหนึ่งมอบกลับสู่ชุมชน
  • “พิชซ่าผักพื้นบ้านเตาอบดิน” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน เรียนรู้เกี่ยวกับพืช ผักพื้นบ้าน และเลือกมาเป็นวัสดุดิบบนพิซซ่าที่อบโดยใช้เตาอบดิน ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ตั้งแต่การนวดแป้ง ขั้นตอนการแต่งหน้าพิซซ่า และการใช้โปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์ (มุสลิม มังสวิรัติ เจ สามารถรับประทานได้)
  • “ปิ่นโตร้อยสาย” ประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเมื่อมาเยือนชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ผ่านการเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นจากวัตถุดิบท้องถิ่น และปรุงโดยคนท้องถิ่น เป็นโมเดลการจัดการการท่องเที่ยว ที่สร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชน และกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรง

 

5. นวัตกรรมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมและความบันเทิง (Cultural and Entertainment Tourism Innovation)

รูปภาพประกอบหัวข้อนวัตกรรมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมและความบันเทิง

 

โดยรวมแล้วจะหมายถึงการท่องเที่ยวเพื่อชมสิ่งที่แสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมประเพณี วิถีการดําเนินชีวิต รวมถึงเพื่อเข้ารับชมศิลปะทุกแขนง และสิ่งต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเจริญ รุ่งเรือง การดําเนินชีวิตของบุคคลในแต่ละยุคสมัย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เน้นศิลปวัฒนธรรมประเพณีอย่างมีความตั้งใจ รวมถึงการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ ย่านบันเทิง หรือแหล่งบันเทิงอื่น เช่น ยิมมวยไทย สวนสัตว์ สวนสนุก สวนสาธารณะ/สวนสาธารณะลักษณะพิเศษ พิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์/อุตสาหกรรม/เทคโนโลยี บาร์และร้านอาหารสร้างความบันเทิงในท้องถิ่น เป็นต้น ตัวอย่างโครงการ ได้แก่

  • “น้องสุขใจ x คลองแม่ข่า” การสร้างจุดดึงดูดใหม่ ในย่านท่องเที่ยวเดิม ด้วยการเพิ่มความสนุกในการเก็บสะสม NFT ประจำถิ่น สามารถนำไปแลกส่วนลดหรือบริการได้ และสามารถสะสมเพื่อขายในตลาด NFT ทั่วโลกได้
  • “อินไซส์วัดโพธิ์” แอปพลิเคชันที่นำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (VR) มาใช้ในการสนับสนุนการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้จิตรกรรมในพระอุโบสถวัดโพธิ์ได้อย่างใกล้ชิด และเข้าถึงเนื้อหาของภาพได้ โดยมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  • “NOW MUAY THAI” ระบบแพลตฟอร์มยิมมวยไทย เทคโนโลยีในการช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่สนใจเรียนมวยไทย และเป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูลและบริหารจัดการของค่ายมวยและคอร์สเรียนมวยไทย โดยเป็นตัวกลางระหว่างค่ายมวยและกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ

 

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างโครงการนวัตกรรมดี ๆ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบในการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยว โดยนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อนวัตกรผู้พัฒนาแล้ว ยังก่อเกิดประโยชน์ไปยังชุมชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม จึงขอเชิญชวนให้นักพัฒนานวัตกรรมทั้งหลาย ได้เสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (Sustainable Tourism Innovation) ซึ่งแบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อยตามที่ได้กล่าวไป เพื่อขอรับการสนับสนุนภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2567” (City & Community Innovation Challenge 2024) วงเงินสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ สามารถติดตามการรับสมัครได้ทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ NIA ทุกช่องทาง รวมถึงเว็บไซต์ของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม https://social.nia.or.th 

 

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)