สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

จากปัญหาขาดแคลนครู สู่นโยบาย Soul-Kru นวัตกรรมเพื่อจัดสรรการเรียนรู้ ให้ครูไปสอนได้ทุกที่

19 พฤษภาคม 2567 3,250

จากปัญหาขาดแคลนครู สู่นโยบาย Soul-Kru นวัตกรรมเพื่อจัดสรรการเรียนรู้ ให้ครูไปสอนได้ทุกที่


🏫 ปัญหาการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังถูกพูดถึงตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องของ ‘การขาดแคลนครู’ 

👨‍🏫 ทุกคนรู้ดีว่าบทบาทหน้าที่ของครูนอกเหนือจากการสอน ยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างการบ่มเพาะ ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ แต่สัดส่วนจำนวนครูที่มีอยู่ปัจจุบัน กลับไม่เอื้อให้ครูได้ทำหน้าที่เช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียนขนาดเล็ก (โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน) มีปัญหาขาดแคลนครูมากกว่าโรงเรียนกลุ่มอื่น จากการคำนวณตัวเลขตามเกณฑ์กำหนดความต้องการครูซึ่งแบ่งตามขนาดโรงเรียนและประเภทโรงเรียนพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กต้องการครูเฉลี่ย 9.7 คนเพื่อดูแลนักเรียน 100 คน แต่ในความเป็นจริงโรงเรียนขนาดเล็กมีครูเพียง 5.9 คนต่อนักเรียน 100 คนเท่านั้น 

📚 ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายคนอยากหาทางแก้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้นำในหลักสูตร Public and Private Chief Innovation Leadership หรือ PPCIL รุ่นที่ 4 ที่ได้ร่วมกันคิดหาทางออก สู่การเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย ‘Soul-Kru’ ให้ครูสอนข้ามโรงเรียนได้ แก้วิกฤตโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกลไกแลกเปลี่ยนและเติมเต็ม ซึ่งจะมีการเชิญครูอาสาจากโรงเรียนที่มีความพร้อม ไปช่วยแบ่งเบางานสอนของโรงเรียนที่ขาดแคลนครู เพื่อบ่มเพาะความรู้สำหรับนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในพื้นที่ท้องถิ่นให้มีคุณภาพ

🌐 นโยบายนี้จะทำงานผ่านแพลตฟอร์มกลาง โดยเริ่มจากการที่โรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลน แจ้งความประสงค์เข้ามาในระบบว่าต้องการเรียกครูมาช่วยสอน “call for Soul Kru”  โดยจะต้องกำหนดวิชาและวันเวลาที่ต้องการ ต่อมาระบบก็จะวิเคราะห์โปร์ไฟล์ของครูที่สอนวิชานั้นๆ ในระแวกใกล้เคียงกัน และส่งคำเชิญไปให้ครูแต่ละคน ซึ่งครูมีสิทธิ์เลือกที่จะไปสอนตามความสมัครใจ โดยหากตัดสินใจเลือกแล้ว ระบบจะส่งข้อมูลยืนยันเข้าไปให้โรงเรียนทั้ง 2 ฝั่งรับทราบ

📊 โดยทุกครั้งที่มีการเรียกไปสอน ครูอาสาจะทำการบันทึกข้อมูล และจะได้รับการประเมินจากครูในโรงเรียนของพื้นที่ห่างไกล เพื่อนำมาเก็บเป็นค่าประสบการณ์สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลทำวิทยฐานะ ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะช่วยให้ครูที่เข้าร่วมนโยบายได้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

🚗 แม้นโยบายจะดูเป็นรูปเป็นร่างก็ยังมีช่องโหว่ในการทำจริงอยู่ เพราะการจะให้ครูจากโรงเรียนที่ไม่ขาดแคลนเข้าไปสอนยังพื้นที่ห่างไกลก็มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างการเดินทาง นโยบาย Soul-Kru จึงมีการมองหาแนวทางสร้างแรงจูงใจในการให้ค่าตอบแทน ค่าเดินทาง ค่าประกันภัยต่างๆ ที่จะช่วยให้การเดินทางไปสอนไร้อุปสรรคที่สุด

🔎 ภาพรวมทั้งหมดจึงจะเห็นว่านโยบายนี้ มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้ครบจบทั้งระบบ ตั้งแต่แนวทางการลดภาระการสอนที่มากเกินไปของครูแต่ละคน พร้อมทั้งยังมองไปถึงวิธีการสร้างแรงจูงใจที่จะช่วยให้นโยบายนี้เกิดผลขึ้นมา โดยการจะขับเคลื่อนให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริง จะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งต้องคิดเรื่องงบประมาณ การขยับวิทยะฐานะ หรือจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ). และกระทรวงศึกษาธิการที่จะมาช่วยออกแบบนโยบายและจัดสรรทรัพยากร งบประมาณให้เหมาะสม

📈 หากพิจารณาภาพรวมของนโยบาย ‘Soul-Kru’ ทั้งหมด จะเห็นว่ายังส่งผลกระทบเชิงบวก ในการช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากการที่นักเรียนได้รับความรู้ที่เท่าเทียมกันจากครูผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อีกทั้งนักเรียนไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมือง จนท้ายที่สุดก็เกิดเป็นการรักษาเศรษฐกิจของชุมชนในระยะยาวได้อีกด้วย

🧑‍💼 นี่เป็นแค่หนึ่งในห้าตัวอย่างของนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ได้มีการนำเสนอในช่วงท้ายของ “หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน หรือ PPCIL” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ระดับกลางที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำระดับสูงในอนาคตให้มีทักษะและกระบวนการคิดแบบนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย  (Policy Innovation) ที่ต้องใช้หลักการมองภาพอนาคต (Foresight) ร่วมกับการออกแบบนโยบายที่เข้าใจบริบทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ทำได้จริง มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

🤝 นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่จะได้รับในการเรียนหลักสูตรนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากหลายภาคส่วน และในปีนี้หลักสูตร PPCIL รุ่นที่ 6 ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว! มารอติดตาม “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” จากกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ในหลักสูตร PPCIL#6 กัน จะมีนโยบายอะไรที่น่าสนใจ และช่วยแก้ไขปัญหาในมิติใดของประเทศไทยได้บ้าง 

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.the101.world/teacher-shortage-problem/ 
https://theactive.net/news/urban-20220916/ 
https://techsauce.co/tech-and-biz/nia-ppcil-4-policy-innovation 
https://ppcil.nia.or.th/