สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เพื่อเป้าหมายนำกลุ่มเศรษฐกิจไทย ทะยานไกลเทียบเทรนด์โลก

30 มกราคม 2566 2,060

เพื่อเป้าหมายนำกลุ่มเศรษฐกิจไทย ทะยานไกลเทียบเทรนด์โลก

เพื่อเป้าหมายนำกลุ่มเศรษฐกิจไทย ทะยานไกลเทียบเทรนด์โลก

หลังเกิดวิกฤตโรคระบาดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างได้เรียนรู้วิธีรับมือและป้องกันกับสถานการณ์ดังกล่าวได้มากขึ้น ทั้งการจัดระเบียบการอยู่อาศัยร่วมกัน การพึ่งพิงทรัพยากรที่มีภายในประเทศของตัวเอง เนื่องจากต้องปิดประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของสงครามการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การส่งออกเริ่มมีปัญหาไปทั้งระบบ ส่งผลกระทบให้บางประเทศขาดแคลนสินค้าที่เคยนำเข้ามาอุปโภคบริโภค สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้หลายประเทศตระหนักและให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ รวมถึงเห็นคุณค่าและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะสัมผัสได้ว่าหากไม่รีบรักษาไว้อาจจะหมดไปในไม่ช้า

แน่นอนว่าผลของการปรับตัวนี้ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการพูดถึงเรื่อง ‘การทวนกระแสโลกาภิวัฒน์’(Deglobalization) ที่ส่งผลมาจากทรัพยากรและห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้แต่ละประเทศเน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้นและกระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพิงการผลิตหรือการขายสินค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับคำว่า ‘โลกาวิวัฒน์’ (Globalization) ที่หลายประเทศทั่วโลกเคยขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้ด้วย “การค้าแบบเสรี” ที่เน้นการส่งออกนำเข้าจากหลายๆ ประเทศ นี่จึงเป็นจุดร่วมเดียวกันที่ทำให้ทั้งโลกรวมถึงประเทศไทยได้กำหนดทิศทางหรือแผนการพัฒนาประเทศที่คล้ายคลึงกัน โดย NIA ก็ดำเนินตามแนวทางนี้เช่นกัน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศนวัตกรรมไทย เกิดการพัฒนาในวงกว้าง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้อย่างทั่วถึง และเกิดความยั่งยืน

รายการ #THEECHONOMY Episode แรก จึงอยากชวนทุกคนมาฟังแนวคิดจาก “คุณอ๋า - หรือคุณวิเชียร สุขสร้อย” รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ถึงเป้าหมายที่ NIA กำลังมุ่งพัฒนาและส่งเสริม ในกลุ่มเศรษฐกิจ 'Local-Creative-BCG' ประเด็นนี้จะสอดคล้องกับเทรนด์โลกอย่างไร และมีแนวทางในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่
EP1 : https://soundcloud.com/niathailand/the-echonomy-ep1

และมาต่อกันใน Episode ที่สองกับ “คุณอู๋ - อำพล อาภาธนากร” ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ได้มาพูดคุยถึงการผลักดันด้าน “Local Economy” พร้อมไขข้อสงสัยไปพร้อมกันว่าหากเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแข็งแรง จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศได้จริงหรือไม่ ?

🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่
EP2 : https://soundcloud.com/niathailand/the-echonomy-ep2

“มุ่งพัฒนาและส่งเสริม กลุ่มเศรษฐกิจ 'Local-Creative-BCG' เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก”

อย่างที่เราเคยเล่าไปในตอนต้น หลังเกิดวิกฤตโรคระบาด แต่ละประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบในหลายด้านเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสักระยะ ประเด็นนี้นับเป็นจุดร่วมแนวคิดที่เหมือนกันของทุกประเทศ จนนำไปสู่ “เทรนด์โลก (ในอนาคตอันใกล้) ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ หลังฟื้นฟูจากวิกฤตโรคระบาด” ซึ่งมี 3 รูปแบบ ได้แก่ กระบวนการส่งเสริมท้องถิ่น (Localization) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความยั่งยืน (Sustainability)

โดยเป็นการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับชุมชน เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการขับเคลื่อนสังคมด้วยการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ผ่านการทำคอนเทนต์ควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศเติบโตขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก แน่นอนว่า NIA ก็กำลังมุ่งพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มเศรษฐกิจทั้ง 3 กลุ่มอยู่เช่นกัน
1. Local Economy หรือ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก
2. Creative Economy หรือ กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์
3. BCG Economy หรือ กลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

โดยใน Episode แรกของรายการ The ECHONOMY คุณวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้พูดถึง “Local Economy หรือ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก” ไว้ว่า กลุ่มเศรษฐกิจนี้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เพราะถ้าเรามีแนวทางที่หากเราวางฐานรากอย่างมั่นคงแข็งแรง เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะเติบโตตามไปด้วย เนื่องจาก Local Economy ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าหรือบริการในระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ภายในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของชุมชนพัฒนาขึ้น ทั้งในแง่ของเอกลักษณ์ และบริการการซื้อขายที่หลากหลาย เพื่อต่อยอดทำให้เกิดการจ้างงานภายในพื้นที่ สู่ภาพรวมที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้นตามลำดับ เหมือนกับตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เรามักจะเห็นแบรนด์รถยนต์นิยมผลิตในรูปแบบ Hybrid มากกว่า ก็เพราะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อย เพราะถ้าเปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ EV เพียงอย่างเดียวซึ่งมีชิ้นส่วนประกอบน้อยกว่ามากก็จะส่งผลกระทบถึงการจ้างงานไปด้วย เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ในระบบนิเวศนี้อยู่มาก ส่วนประเทศสิงคโปร์ก็มีการผลักดันนโยบายจากภาครัฐ ด้วยการนำนวัตกรรม AgTech มาใช้กับคนทำธุรกิจเกษตรในประเทศจนได้ผลผลิตตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Digital Farm การทำเกษตรแบบไม่ใช้ดิน และ Vertical Farming หรือการเกษตรแนวตั้งที่มาลดปัญหาและข้อจำกัดให้กับเกษตรกรนั่นเอง

ส่วนประเทศไทยนั้นก็มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานด้วยกัน โดยเฉพาะ NIA ที่มีฝ่ายงานส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากโดยตรงอย่างฝ่าย #นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ซึ่งมีกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มุ่งตอบสนองความต้องการของสังคมเป็นหลัก รวมถึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านหลากหลายโครงการ เช่น โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village), โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City and Community Innovation Challenge), หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit) ฯลฯ

“เมื่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศแข็งแรง จะส่งผลให้เม็ดเงินและองค์ความรู้กระจายตัว ทั่วทุกภาคส่วน จนเกิดการพัฒนาในวงกว้าง”

เราทุกคนรู้ดีว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในประเทศเติบโตช้า เนื่องจากการเข้าถึงโอกาสและความเจริญเกิดการกระจุกตัวกันในหัวเมืองใหญ่และเมืองรองเท่านั้น ส่งผลให้ไม่เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชนที่ห่างไกล ทำให้ประชาชนในบางกลุ่มบางพื้นที่ เข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และการเข้าถึงแหล่งทุนหรือปัจจัยการผลิต สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ดังนั้นหลายหน่วยงานจึงได้มองเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้

โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) จาก NIA ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และสังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้นำเอานวัตกรรมด้านต่างๆ เข้ามาช่วยผลักดัน “Local Economy หรือเศรษฐกิจฐานราก” ผ่าน 4 โครงการหลัก ได้แก่

1. โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา (Sectoral Social Innovation Project)
2. โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City and Community Innovation Challenge)
3. โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)
4. หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID)

และวันนี้เราขอหยิบยกตัวอย่างโมเดลนำร่องที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ และปูพื้นฐานความยั่งยืนในอนาคตได้ ดังนี้

#โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City and Community Innovation Challenge)
เคสแรกเป็นด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม เนื่องจากผู้ริเริ่มโครงการเห็นว่าคนรุ่นใหม่ห่างไกลวัด และขาดความเข้าใจเชิงลึกในประวัติศาสตร์ จึงต้องการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สนใจเรียนรู้เรื่องราวของวัดโพธิ์ ผ่านแอปพลิเคชันชื่อว่า ‘Insight Wat Pho’ โดยได้นำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยออกแบบและสร้างแรงดึงดูดให้คนเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ การใช้งานจะต้องสแกน QR Code จึงจะมีข้อมูลในแต่ละจุดเด้งขึ้นมาบนมือถือ นวัตกรรมนี้ไม่ได้ให้แค่ประโยชน์ในแง่ของศาสนาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงรายได้ในชุมชนเมืองที่เพิ่มขึ้น เพราะการมีคนมาเที่ยวเยอะขึ้น ก็จะทำให้เกิดรายได้ในพื้นที่ตามมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงที่ดีนั่นเอง

ต่อมาเป็นโครงการ Ari Around เนื่องจากอารีย์เป็นย่านที่มีผู้ประกอบการร้านอาหารเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวเยอะ จึงทำให้เกิดปัญหาขยะเยอะตามมา ผู้ประกอบการในย่านอารีย์ ชุมชน มูลนิธิและสมาคมต่างๆ จึงร่วมกันสร้างแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Ari Around” เป็นสื่อกลางช่วยเชื่อมต่อให้ผู้คนในชุมชนสามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยเน้นเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างไรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ หลักๆ จะเป็นการนำขยะรีไซเคิลไปแลกเหรียญ Ari Coin เพื่อเป็นการสะสมแต้ม จากนั้นทุกคนสามารถนำมาแลกอาหาร เครื่องดื่ม หรือสินค้าตามร้านในย่านที่เข้าร่วมได้ ทั้งหมดนี้กลายเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ หรือธุรกิจเพื่อสังคมแบบแบ่งปัน และยังกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

อีกเคสที่มาจาก #โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) ก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกันและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างชัดเจน เพราะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหาใน ชุมชนเมืองจัง อำเภอเพียง จังหวัดน่าน เพราะชาวบ้านต้องประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร เพราะอยู่บนพื้นที่ราบสูง เมื่อผลผลิตขาดแคลนก็ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ

จึงเกิดเป็นไอเดียนวัตกรรมมากมายที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริง เช่น นวัตกรรม ‘Neo Solar: ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง’ จากบริษัท ไดน่าแมค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด คือระบบการสูบน้ำที่ใช้แหล่งพลังงานจากโซล่าเซลล์แบบลอยน้ำที่เชื่อมบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ 800,000 ลิตร ไปยังบ่อพักน้อยขนาด 20,000 ลิตร 5 บ่อ โดยมีระบบควบคุมระบบสูบและกระจายน้ำแบบอัตโนมัติ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาขับรถขึ้นดอยไปเปิด-ปิดด้วยตัวเอง

ทั้ง 2 เคสตัวอย่างนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากโครงการของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) เพียงเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กลุ่มเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างตรงจุด เพราะนวัตกรรมที่เกิดจากโครงการต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีการทำงานร่วมกับคนในชุมชน ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และหน่วยงานอื่นๆ แบบสอดประสานกัน จนนำไปสู่การทำให้ชุมชนมีรายได้ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด