สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ทางออกของ “วิกฤตโลกรวน” โจทย์สุดหินที่ใช้ “ความยั่งยืน” ในการแก้ปัญหา

22 มีนาคม 2566 3,217

ทางออกของ “วิกฤตโลกรวน” โจทย์สุดหินที่ใช้ “ความยั่งยืน” ในการแก้ปัญหา

ทางออกของ “วิกฤตโลกรวน” โจทย์สุดหินที่ใช้ “ความยั่งยืน” ในการแก้ปัญหา 🌎

แค่เราตื่นขึ้นมาในแต่ละวันนอกจากการเตรียมอาบน้ำแต่งตัวเพื่อไปทำงาน สิ่งที่มักทำประจำในช่วงนี้ก็คือ “การเช็กค่ามลพิษทางอากาศ (AQI)” ถึงแม้จะเป็นคนที่มีสุขภาพปกติดีก็อยากที่จะเตรียมตัวสวมแมสก์กรองฝุ่นดีๆ ก่อนออกจากบ้าน เพราะกว่าจะถึงที่ทำงานก็เหมือนผ่านสมรภูมิรบที่มีแต่ฝุ่นควัน

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากแล้ว แต่อย่าลืมว่าปัญหามลพิษทางอากาศไม่ใช่วิกฤตเดียวที่เราต้องตระหนักถึง แต่ยังมีวิกฤตสิ่งแวดล้อมหรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องรับมือ จนกลายเป็นวิกฤตโลกรวนที่รอไม่ได้อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ไกลตัวทุกคนเลย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของ ‘ความยั่งยืน หรือ Sustainability’

เพื่อให้โลกและเราได้ไปต่อ..วันนี้! จัดเต็มทุกประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดมาไว้ในทั้ง 2 Episodes แล้ว ดังนี้
🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่
EP5 : https://soundcloud.com/niathailand/the-echonomy-ep5

🎧 ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ได้ที่
EP6 : https://soundcloud.com/niathailand/the-echonomy-ep6

“ผู้ประกอบการนวัตกรรมควรยึดถือ ‘SDGs-ESG-BCG’ เป็นเข็มทิศนำทางในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้มวลรวมสังคมอยู่กันอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด”

แม้ประเด็นเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainability’ จะไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่และพูดกันมายาวนานหลายปีแล้ว แต่ก็เหมือนกับว่าปัญหาที่เราเจอในทุกวันนี้ ยังคงอยู่และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ฟังดูแล้วเหมือนจะไม่มีความหวังรออยู่ตรงหน้า แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่หาทางออกร่วมกัน เพราะทั่วโลกต่างก็เร่งออกนโยบายมากมายไม่ว่าจะเป็น ‘SDGs-ESG- BCG’ เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้

และเพื่อขยายความเข้าใจให้มากขึ้น “คุณต้อง ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส” ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จาก NIA ได้มาอธิบายความแตกต่างและความสัมพันธ์ของทั้งสามคำนี้ให้เราได้เข้าใจกัน เพราะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตไปถึงเป้าหมายได้แบบก้าวกระโดด ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

เริ่มกันที่คำแรก #SDGs : Sustainable Development Goals หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากสหประชาชาติ (UN) เพื่อเรียกร้องให้ทั้งโลกเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและพร้อมที่จะปกป้องโลกจากทุกปัญหา โดยมีเป้าหมายสำคัญทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ถือเป็นข้อผูกมัดสำหรับชาติสมาชิกที่ให้การรับรอง 193 ประเทศ (รวมประเทศไทยด้วย) ซึ่งเป้าหมายนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ไปอีก 8 ปีข้างหน้า (หรือภายใน พ.ศ.2573) ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายในการจัดการขยะ (Zero Waste) การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม หรือแม้แต่การทำให้ธรรมชาติทั้งบนดิน ใต้ดิน และใต้น้ำ ไม่ถูกทำลาย เป็นต้น

ถัดมาคือวิธีการในการดำเนินธุรกิจแบบ #ESG : Environmental, social, and governance ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ซึ่งแต่เดิมการทำธุรกิจอาจจะคำนึงถึงแค่เรื่องต้นทุนและผลกำไรเพียงเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมากนัก จึงทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มนักลงทุนจากสถาบันและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “UN PRI” (Principle for Responsible Investment) จากการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ โดยเน้นหลักการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและให้บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดทุนดำเนินธุรกิจตามแนวทาง E = Environment หรือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม S = Social หรือ กลไกทางสังคม และ G = Governance คือการมีธรรมาภิบาล

และสุดท้าย #BCG : โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของไทยที่มุ่งเน้น 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โมเดลนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐกำหนดขึ้นมาเพื่อให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนดำเนินตามแนวทางนโยบายนี้ โดยได้นำมาใช้เป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน APEC 2022 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งแนวคิดนี้มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการนำทรัพยากรต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ถือเป็นยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เรียกได้ว่าเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็นการ “ทำน้อยแต่ได้มาก” นั่นเอง

เมื่อเราเข้าใจภาพรวมในเชิงนโยบายเรื่องความยั่งยืนทั้งหมดแล้ว ก็ทำให้เราสงสัยขึ้นมาว่า มีตัวอย่างประเทศอะไรบ้างที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้? หากเอ่ยถึงประเทศที่โดดเด่นและเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ก็ต้องยกให้ ‘สวีเดน’ โดยเฉพาะเมืองสต็อกโฮล์ม จากเมืองที่วุ่นวายกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับเมือง อุตสาหกรรมอยู่กับคนและเมืองได้แบบอิงอาศัยกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมป่าไม้ แถมต้องอาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติในการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก ที่สำคัญสวีเดนยังเคยประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง

แต่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน นำเทคโนโลยีมาใช้ผลักดันจนเกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การวางผังเมืองที่ควบคู่ไปกับการสร้างสถาปัตยกรรมหรืออาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการปรับฟื้นฟูพื้นที่ท่าเรือเก่า ซึ่งเคยเกิดปัญหาดินปนเปื้อนจากสารตกค้างในน้ำมัน ให้กลับมามีระบบนิเวศที่ดี และสามารถจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับคนในเมืองได้ เป็นต้น

มองโลกแล้วหันมามองเรา นอกจากที่ไทยจะมี BCG Model ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในภาพรวมประเทศแล้ว NIA ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ ก็มีแนวทางที่จะส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนเช่นเดียวกันและมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางสนับสนุนอยู่ 2 รูปแบบ คือ

1. Financial Support : เป็นการสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม เช่น โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้าหรือ ‘Thematic Innovation’ จะมีเงินทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 5 ล้านบาทต่อโครงการ โดยปีนี้มาในธีมที่ครอบคลุม มิติด้านความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน ได้แก่
- ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก (High-Value Food for Export) เช่น โปรตีนทางเลือก หรืออาหารพื้นถิ่นที่พัฒนาขึ้นมาให้ส่งออกได้ และมีรสชาติตามความต้องการของโลก เป็นต้น
- ธุรกิจนวัตกรรมด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เช่น เรื่องการผลิตทางการเกษตรอย่าง Plant Factory และ Green House ที่ใช้นวัตกรรมเพื่อให้ปลูกพืชในเมืองได้ รวมถึงการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โดยการเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ให้คนไทยได้กินอาหารที่ดีขึ้น
- สาขาธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เน้นยานยนต์ที่มีลักษณะจำเพาะ สำหรับคนพิการ หรือภาคการเกษตร เป็นต้น
- สาขาธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Circular and Low-Carbon Economy) ด้วยการปรับเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นของที่มีมูลค่ามากขึ้น
- ธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) เช่น พลังงานที่ได้จากขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
- ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) ผลักดันระบบอัจฉริยะ ให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทั้ง BCG Model ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

2. Non-Financial Support : สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และมีการสร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้
- การออก SMART VISA โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพ นักลงทุน และคนทำงานจากต่างประเทศให้เข้ามาพัฒนานวัตกรรมในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
- มีการทำการทูตนวัตกรรมในโครงการ “APEC Biology-Circular-Green (BCG) Startups Regional Program on Sustainable Growth” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Beijing International Exchange Association of China จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านความยั่งยืนให้กับภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น ด้วยเงินลงทุนจาก APEC กว่า 146,500 USD หรือประมาณ 5 ล้านบาท

สุดท้ายคุณต้องยังฝากถึง ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมทุกราย ไว้ว่า ให้ยึดหลัก ‘SDGs-ESG- BCG’ เป็นเข็มทิศนำทางในการประกอบธุรกิจไว้ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในองค์กร สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และทำให้สังคมอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

“การทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมไม่ใช่โจทย์เดียวที่เราต้องคำนึง มิติด้านเศรษฐกิจและสังคมก็ต้องเติบโตไปพร้อมกัน”

Episode สุดท้ายนี้ ดร.นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก็ได้ชวนเราไปสำรวจตัวอย่างธุรกิจนวัตกรรมทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่สอดคล้องกับนโยบายด้านความยั่งยืน เพื่อให้เห็นเป็นแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสะท้อนความเป็นจริงผ่านผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

อาทิ แบรนด์เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Apple ก็เน้นมิติด้านความยั่งยืนตั้งแต่ในระดับเชิงกลยุทธ์และนโยบายขององค์กร เพราะ Apple เลือกที่จะพัฒนาธุรกิจให้เป็น Carbon Neutrality หรือเป็นกลางทางคาร์บอน ให้ได้ภายในปี 2030 จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบซัพพลายเชนไปจนถึงการมีบริการที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เก่ามาแลกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น หรือลดทอนการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลงเพื่อลดต้นทุนแล้วนำไปพัฒนานวัตกรรมในมิติอื่นๆ ต่อไป ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ Apple เลือกที่จะทำมันไปพร้อมๆ กับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในทุกปี

อีกแบรนด์ที่ไม่นึกถึงไม่ได้เลยก็คือ “IKEA” เพราะทุกครั้งที่เราก้าวเท้าเข้ามาที่นี่ ภาพที่เราเห็นตรงหน้าก็จะไม่ใช่แค่ความสวยงามของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ดูดีมีสไตล์เท่านั้น แต่มันสะท้อนตั้งแต่วิสัยทัศน์ขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ต้นอย่างแนวคิด “People and Planet Positive” ซึ่งเป็นเหมือนสารตั้งต้นของทุกอย่างตั้งแต่การคิดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ การเลือกวัสดุ ไปจนถึงการออกแบบประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ

แต่หลายๆ คนก็อาจจะมีคำถามว่า ถ้าเราไม่ได้มีต้นทุนหรือทรัพยากรเยอะเท่ากับแบรนด์ระดับโลก เราจะเปลี่ยนแปลงองค์กรของเราให้เข้าสู่ Sustainability Transformation ได้อย่างไร โจทย์นี้คุณนิมิตก็ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า คำว่า “ความยั่งยืน” ที่เราพูดถึงกันอยู่ทุกวันนี้ นั้นไม่ได้มีเป้าหมายในแง่ของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันคือการพา 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ “สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม” ให้เติบโตไปได้อย่างพร้อมกัน หรือถ้าอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ก็คือ จะคิดถึงแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวไม่ได้ ผลกำไรในการประกอบธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าธุรกิจอยู่ไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็มีตัวอย่างธุรกิจที่นำทั้ง 3 องค์ประกอบนี้มาขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “Muvmi” ผู้ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แบบ Ridesharing เจ้าแรกในไทยที่ยังคงมูฟความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะมีการคิดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ การเปลี่ยนยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปภายในมาสู่พลังงานทางเลือก ตลอดจนมาเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปใช้จริงกับหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครได้ โดย NIA ก็ได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุนธุรกิจนี้ตั้งแต่วันที่เริ่มปลุกปั้นโมเดลรถต้นแบบ

หรือถ้าย้อนกลับไปนานนับสิบปี ประเทศไทยก็มีตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้ทุกคนเห็นแล้ว ก็คือ “นวัตกรรมภาชนะชานอ้อย” ซึ่งในปัจจุบันทุกคนอาจจะคุ้นเคยกันดีเพราะร้านค้าส่วนใหญ่ก็หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้แล้วและกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้ก็มาจากการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค ประกอบกับต้องการนำชานอ้อยที่เหลือจากโรงงานน้ำตาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เลยทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมนี้ขึ้นมา โดยในช่วงของการวิจัยและพัฒนา NIA ก็มีส่วนเข้าไปช่วยสนับสนุนเช่นกัน จนกระทั่งในปัจจุบันชานอ้อยที่เรารู้จักกันนั้นสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการเป็นบรรจุภัณฑ์แล้ว เพราะมันสามารถให้ประโยชน์ในเชิงพลังงานได้อีกด้วย

จากบทเรียนนี้ทำให้เราเห็นว่าการสร้างธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันคือวิธีคิดทั้งกระบวนการที่สร้างจนเป็นระบบนิเวศที่ยั่งยืน หรือสร้างการเติบโตทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน แล้ววันหนึ่งความยั่งยืนที่เราฝันถึงก็จะปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ