สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA เปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนไทยสู่ชาตินวัตกรรม พร้อมเผยหนึ่งปีกับผลสำเร็จภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม”

News 15 กรกฎาคม 2567 2,264

NIA เปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนไทยสู่ชาตินวัตกรรม พร้อมเผยหนึ่งปีกับผลสำเร็จภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม”

 
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดกลยุทธ์การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม “NIA Focal Conductor: Leading Thailand to Innovation Nation” ภายใต้แนวคิด Groom - Grant – Growth - Global พร้อมเปิดตัวทีมบริหารผู้ร่วมผลักดันระบบนวัตกรรมประเทศไทยให้เข้มแข็ง ทั้งมิติการสนับสนุนเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อปักหมุดเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสามารถเติบโตสู่การขยายผลการลงทุนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “การดำเนินงานช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา NIA ได้พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพทางนวัตกรรมโดยผ่าน NIA Academy ที่มีหลักสูตรร่วมกับพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชน การสร้างนวัตกรภูมิภาคและนักพัฒนาเมืองนวัตกรรม การส่งเสริมความสามารถเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งการพัฒนาแผนธุรกิจนวัตกรรมในภูมิภาคและแพลตฟอร์มออนไลน์ การพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นผ่านกิจกรรมสตาร์ทอัพลีค ศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพทั้งการให้คำปรึกษา เครือข่ายนักลงทุน และสมาร์ทวีซ่า การยกระดับกลไกการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จทางนวัตกรรม นอกจากนี้ NIA ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมด้วยข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มบริการข้อมูลนวัตกรรม “Thailand Innovation Portal”
 
“สำหรับก้าวต่อไปภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” NIA จะขยายผลจากแนวคิด Groom - Grant - Growth โดยเพิ่ม Global เพื่อมุ่งต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยให้เข้มแข็งและพร้อมร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมไปกับ NIA โดยตั้งเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก”
 
ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ในปีนี้ NIA ได้พัฒนากลไกการสนับสนุนเงินทุนรูปแบบใหม่ เพื่อเติมเต็มและตอบโจทย์การขยายผลธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตและไปสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่าน 7 กลไกหลัก ได้แก่ 1) กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด 2) กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า 3) กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม 4) กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 5) กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม 6) กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ 7) กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน หรือ Corporate CO – Funding”
 
นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า “นอกจากการสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว NIA ยังมุ่งสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากล ภายใต้แนวคิด ‘Local to Global’ โดยมี 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยส่งเสริมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การสร้างย่านนวัตกกรรม และเมืองนวัตกรรม 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่ กลุ่มเกษตร อาหาร และสมุนไพร กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน สิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มการท่องเที่ยว และกลุ่มซอร์ฟพาวเวอร์ ตลอดจนพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ เซมิคอนดักเตอร์ และ 3) การส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากล สร้างโอกาสการขยายธุรกิจ และโอกาสการระดมทุน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรมและการแข่งขันของประเทศ ผ่านการเชื่อมตลาดระหว่างประเทศ การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในต่างประเทศ”
 
นางสาวสุพิชญา หลิมตระกูล รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร กล่าวว่า “NIA มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์การรับบริการและการทำงานของบุคลากรที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจสมัยใหม่และวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการปรับตัวทางดิจิทัล (Digital Transformation) ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) Digital Service - ที่เน้นสร้าง Digital Service Journey ควบคู่ Innovation Journey 2) Digital People – พัฒนาบุคลากรให้ทันต่อความเปลี่ยน Digital Literacy ให้เป็น Digital Competency โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวสู่ AI Competency 3) Digital Connectivity - เชื่อมโยงการทำงานและการเข้าถึงบริการทุกที่ทุกเวลาเพื่อตอบโจทย์สังคมและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ 4) Digital Compliance – ยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยให้ทันสมัยตามแนวทางรัฐบาลดิจิทัล และ 5) Digital Data - แพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านนวัตกรรมที่ยกระดับการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อธุรกิจนวัตกรรม