สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมการบริการสาธารณะและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการสู่การได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ

1 ธันวาคม 2565 1,686

นวัตกรรมการบริการสาธารณะและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการสู่การได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ

 

หลายคนคงเคยมีคำถามว่า ทำไมบริการสาธารณะในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการได้อย่างเพียงพอ ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 [1] มาตรา 37 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะบริการ ขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่นให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เพื่อสร้างมาตรฐานความเท่าเทียมในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ครอบคลุมทุกกลุ่มของประชาชนภายในประเทศ

หากทุกคนสังเกตเห็นถึงปัญหาในปัจจุบันคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตของคนพิการในประเทศไทยนั้นยังมีความลำบาก คงไม่ต้องพูดถึงโอกาสการเข้าถึงงานที่มีคุณภาพและทางเลือกในการใช้ชีวิตสำหรับกิจกรรมพักผ่อนคลายความเครียด ทุกอย่างยึดโยงเปรียบเสมือนการก่อสร้างตึก โดยการบริการสาธารณะและการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของคนพิการเปรียบเสมือนการวางฐานราก หากฐานรากไม่มั่นคงก็เป็นไปได้ยากที่คนพิการจะสามารถต่อยอดหรือพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตในบริบทที่พึงพอใจได้ ในหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมของคนพิการ โดยมีพื้นที่สาธารณะที่ง่ายต่อการใช้ชีวิต เพราะคนพิการนั้นไม่ได้ต้องการแค่การเข้าถึงแค่ทางเท้าสำหรับรถเข็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการเข้าถึงกิจกรรมทางสังคมในมิติอื่นอีกหลายด้าน นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีหมู่บ้านในเมืองเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “หมู่บ้านที่มีรูปแบบบริการสำหรับคนพิการให้เลือกใช้ที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหาร สวนสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความบันเทิง เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าคนพิการทุกคนจะสามารถเพลิดเพลินกับเสรีภาพ โอกาส และความโรแมนติกในเมืองแห่งนี้ได้ [2]” ดังนั้น หากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อการบริการสาธารณะและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลือกด้านอาชีพ และสามารถออกไปใช้ชีวิตที่สนุกสนาน มีพื้นที่พบปะผู้คนใหม่ๆ ก่อให้เกิดเป็นสังคมที่ลดการแบ่งแยกความแตกต่างของคนพิการได้ 

การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงงานที่มีคุณภาพของคนพิการนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยอาชีพเกษตรกรเป็นหนึ่งในทางเลือก ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศไทย คือ งานของชมรมเพื่อคนพิการจังหวัดเลย และบริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (กลุ่มกิจการเพื่อสังคม) ที่ได้ร่วมกันพัฒนาชุดอุปกรณ์ปลูกผักสําหรับคนพิการด้านการเคลื่อนไหว โดยผลผลิตทางการเกษตรได้รับการันตีมาตรฐานความปลอดภัยด้วยเครื่องหมาย “Loei Safety Food” ของสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย และภาคีเกษตรกรรมในพื้นที่ ทั้งนี้ คนพิการที่ทำอาชีพเกษตรกรมักประสบปัญหาอุปกรณ์ทางการเกษตรเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อการเคลื่อนไหวขณะทำงาน ดังนั้น ชุดอุปกรณ์ปลูกผักสําหรับคนพิการด้านการเคลื่อนไหวนี้ 
จึงออกแบบลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวสรีระ นอกจากจะช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากกว่าร้อยละ 35 เทียบกับการผลิตโดยการให้คนพิการที่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ปกติทั่วไป 

ในส่วนกิจกรรมสันทนาการสำหรับคนพิการด้านการมองเห็น เช่น การดูภาพยนตร์ที่มักถูกแบ่งแยกกับคนทั่วไป ทั้งที่จริงแล้วคนพิการทางการมองเห็นสามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้ผ่านการฟังเสียงบรรยายพิเศษที่เรียกว่า “เสียงบรรยายภาพ (Audio description)” ซึ่งเป็นการบรรยายเพิ่มเติมถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนหน้าจอในช่วงที่ไม่มีบทพูด ทำให้คนพิการทางการมองเห็นสามารถติดตามเรื่องราวพร้อมกับคนทั่วไปได้อย่างเข้าใจภายในรอบฉายเดียวกัน บริษัท กล่องดินสอ จำกัด ได้พัฒนาระบบรองรับการชมภาพยนตร์ของคนพิการทางการมองเห็นที่ชื่อว่า “พรรณนา” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพื่อเล่นเสียงบรรยายภาพขณะที่คนพิการทางการเห็นรับชมภาพยนตร์ ทำให้คนพิการทางการมองเห็นสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างเท่าเทียม 

สุดท้ายแล้วการได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการยังคงเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้น ควรทำให้สังคมตระหนักรู้ว่าทุกคนสามารถช่วยกันออกแบบสังคมให้เอื้ออำนวยต่อคนพิการได้ทั้งการบริการสาธารณะ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการที่พึงจะได้ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของคนพิการเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นการออกไปใช้ชีวิต พบปะพูดคุย และดึงดูดผู้คนที่สนใจในเรื่องราวเดียวกันทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆ รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงงานที่มีคุณภาพ และด้านสันทนาการที่ออกแบบความบันเทิงให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการลดระยะห่างของความแตกต่างของคนพิการ และรู้สึกว่าตนเองยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ได้โดนแบ่งแยกออกไป เมื่อช่องว่างดังกล่าวลดลงท้ายที่สุดแล้วในอนาคตคนพิการจะได้รับอิสระในการใช้ชีวิตแบบที่ตนต้องการได้ 

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
วรรณิตา ทองพัด (ขิม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)