สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ย้อนรอย 7 ปีที่ผ่านมา NIA สร้างเครือข่ายการทูตนวัตกรรมกับใครไปแล้วบ้าง

31 พฤษภาคม 2566 1,569

ย้อนรอย 7 ปีที่ผ่านมา NIA สร้างเครือข่ายการทูตนวัตกรรมกับใครไปแล้วบ้าง

“การทูตนวัตกรรม” ศัพท์ใหม่ที่บางคนอาจเพิ่งเคยได้ยิน แต่รู้ไหมว่าสิ่งนี้...ได้เริ่มต้นทำงานสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายประเทศอื่นๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ไม่ใช่แค่จับมือ ถ่ายรูป แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน… แต่ NIA ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดทั่วโลก โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2559-2565) ได้มีการสร้างเครือข่ายไว้กับหน่วยงานในทุกระดับอยู่เป็นระยะ ภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพ ส่งเสริมทักษะความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ 

ซึ่งในบริบทของการทำงาน สามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 4 ขั้นตอน ได้แก่ การสำรวจและการสื่อสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผ่านข้อมูลเชิงลึก การกำหนดยุทธศาสตร์ผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ของการทูตนวัตกรรม การปลูกฝังและสร้างความร่วมมือ ขั้นตอนสุดท้ายคือการกระตุ้นและขยายผล ซึ่งจะมีทั้งเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงและตามกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง

จากแผนการดำเนินงานที่ว่า ค่อยๆ สะสมมาเป็นผลงานความสำเร็จทั้งหมด ซึ่งเราได้รวบรวมมาเป็นข้อมูลผลสัมฤทธิ์ สรุปตัวเลขความร่วมมือที่โดดเด่นในทุกพื้นที่ที่ NIA เคยได้ไปสร้างความร่วมมือไว้แล้ว เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการ บริษัทเอกชน และหน่วยงานสตาร์ทอัพได้ต่อยอดในการวางแผนพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ส่งเสริมการเติบโตของประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมชั้นนำในอาเซียนและในระดับโลกต่อไป จะมีที่ไหนบ้างไปดูกัน! 


เปิดฉากที่ “ทวีปเอเชีย” ทวีปที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ปัจจุบันทวีปนี้ถือได้ว่ามีการสร้างความสัมพันธ์ไว้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง และส่งเสริมเศรษฐกิจภายใต้ความยั่งยืนของแต่ละประเทศ ดังนี้

• การทำงานภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2G (Government to Government) ได้มีการดำเนินงานไปแล้ว 61 ครั้งใน 15 ประเทศ ซึ่งความร่วมมือที่โดดเด่น คือ ได้มีโอกาสร่วมเป็นผู้จัด “G2G Forum” งานที่ได้รวบรวมกลุ่มผู้นํา ภาครัฐ และผู้ดูแลนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกิดเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กร ได้แก่ “Enterprise Singapore” จากสิงคโปร์ “Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC)” จากมาเลเซีย และ NIA จากในฝั่งของไทย จึงช่วยให้เกิดการขยายเครือข่ายการพัฒนาโดยเฉพาะในส่วนสตาร์ทอัพ ซึ่งในงานยังมีการแสดงตัวอย่างธุรกิจนวัตกรรมต่อบรรดาผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านเทคโนโลยีในเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย 

• การทำงานภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2I (Government to Investor) ดำเนินงานไปแล้ว 37 ครั้งใน 10 ประเทศ โดยเป็นความร่วมมือเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติผ่านภารกิจสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตร อาหาร และนวัตกรรมเพื่อสังคม ความร่วมมือที่โดดเด่นคือ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ “Federal Agricultural Marketing Authority และคณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย” ไปเยี่ยมชมบริษัทผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมการเกษตรของไทย 3 ราย ได้แก่ “บริษัท ซีวิค อโกรเทค จำกัด” “บริษัท ริมโบติกส์ จำกัด” และ “สวนส้มโอไทยทวี” เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร เพื่อหาแนวทางขยายตลาด และการจับคู่เจรจาทางธุรกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย

• ส่วนสุดท้ายการทำงานภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2S (Government to Startup) ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ ได้ดำเนินงานไปแล้ว 49 ครั้งใน 12 ประเทศ ซึ่งมีความร่วมมือที่โดดเด่นคือ การบรรลุความร่วมมือกับบริษัทยูนิคอร์นข้ามชาติอย่างบริษัทหัวเว่ยและอาลีบาบา บิซิเนส สคูล (Alibaba Business School) ผ่านโครงการเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจหรือ “Accelerator Program” และโครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีในหลักสูตร Alibaba Netpreneur Training Program ที่ช่วยอัพสกิลให้สตาร์ทอัพไทยในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับสากล


ต่อมาในกลุ่มทวีปที่ได้สร้างความเชื่อมโยงเป็นลำดับที่ 2 คือ “ทวีปยุโรป” ซึ่งนับว่าเป็นภูมิภาคแนวหน้าด้านนวัตกรรมของโลกและเป็นกลุ่มทวีปที่มักออกนโยบายหรือกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลกลไกทางการค้าต่างๆ ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาในเชิงที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างโอกาสความเสมอภาคในสังคมกับทวีปนี้โดยตรง และเช่นเดียวกัน เราก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปยังทุกระดับ ดังนี้

• รูปแบบ G2G (Government to Government) ที่ได้มีการดำเนินงานไปแล้ว 43 ครั้งใน 18 ประเทศ ซึ่งความร่วมมือครั้งที่โดดเด่น คือ “การลงนามใน Declaration of Intention on Thailand-Nordic Countries Innovation Unit” ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่  “กระทรวงการต่างประเทศ” “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน” “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และ “บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)” เพื่อประสานความร่วมมือในการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างระหว่างสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพนอร์ดิก รวมไปถึงการขยายตลาดและการเข้าถึงผู้ร่วมทุนและนักลงทุนของทั้งสองฝ่าย 

• ส่วนภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2I (Government to Investor) ที่ได้มีการดำเนินงานไปแล้ว 13 ครั้งใน 4 ประเทศ โดยครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วมงาน “13th International Conference on Agriculture & Horticulture” และได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน “Innosuisse (Innosuisse - The Swiss Innovation Agency), ieLab, ETH Zurich, Kickstart Accelerator และ Swiss Federal Institute of Technology” ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลทิศทางนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อวางแนวทางสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจการเกษตรของไทย

• และขาดไม่ได้เลยในการทำงานภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2S (Government to Startup) ซึ่งดำเนินงานไปแล้ว 17 ครั้งใน 7 ประเทศ เช่น การเข้าร่วมงาน “Web Summit 2022”  ณ ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก กว่า 70,000 ราย จาก160 ประเทศ จึงได้มีการหารือกับสำนักนวัตกรรมของสาธารณรัฐโปรตุเกสเอง ในการสร้างความร่วมมือเพื่อนำงานวิจัยและเทคโนโลยีเข้าไปเชื่อมต่อสตาร์ทอัพและ SME อีกทั้งได้ศึกษาแนวทางการจับคู่ทางธุรกิจ การจัดงานอีเวนต์ด้านนวัตกรรมให้มีความน่าสนใจ และได้ผลักดันภาพลักษณ์นวัตกรรมของไทยให้ชาติอื่นเห็นศักยภาพมากขึ้น


ท้ายที่สุดนอกเหนือจากที่ว่ามา NIA ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับทวีปอื่นๆ  เช่น สหรัฐอเมริกาในทวีปอเมริกาเหนือ ชิลีในทวีปอเมริกาใต้ และออสเตรเลียในทวีปโอเชียเนีย เพื่อขยายโอกาสและสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น ดังนี้

• การทำงานภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2G (Government to Government) ที่จะเน้นไปที่การขยายเครือข่าย เช่น การจับมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจของชิลี (Production Development Corporation: CORFO) โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อการพัฒนาและขยายโอกาสในการเติบโตของสตาร์ทอัพ ไปจนถึงการทำงานภายใต้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2I (Government to Investor) กับสหรัฐอเมริกา เช่น การเข้าร่วมงาน “World Agri-Tech Innovation Summit 2018” ณ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดการร่วมกันสร้างเครือข่ายส่งเสริมนวัตกรรมการเกษตร และได้พบปะกับเครือข่ายนักลงทุนเพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

• สุดท้ายคือความสัมพันธ์ในรูปแบบ G2S (Government to Startup) ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปที่การเข้าร่วมกิจกรรมหรือการประชุมในระดับนานาชาติ เช่น การไปเยือนหน่วยงาน “CORFO” ของชิลี เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับนวัตกรรมในสาขาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) หรือการขยายเครือข่ายด้านสตาร์ทอัพกับหน่วยงานภาคธุรกิจของออสเตรเลีย ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกันจากการเข้าร่วมงาน “DLD Tel Aviv Innovation Festival 2018” ณ ประเทศอิสราเอล พร้อมกับการนำสตาร์ทอัพไทย (TTSA, Take me tour, Alistro, Drivematte และ QueQ) เข้าร่วมงานดังกล่าวเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมและบริษัทสตาร์ทอัพไทยให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลงานที่เคยเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แนวทางต่อไปคือต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายประเทศที่มีอยู่และเพิ่มการแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อช่วยผลักดันให้ไทยเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation) ของโลกให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดย NIA จะยังคงทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม - Focal Facilitator” เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตไปในระดับสากลได้อย่างสง่างาม

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
หนังสือโครงการศึกษาแนวการพัฒนาเครือข่ายการทูตนวัตกรรม Innovation Diplomacy
https://www.nia.or.th/bookshelf/view/169
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1040084
https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2715e39c306000a35d?cate=5d5bcb4e15e39c3060006872