สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ถอดบทเรียน “ภาษีบ้านเกิด” จากแดนอาทิตย์อุทัย ช่วยเหลือท้องถิ่น แถมให้ของดีส่งตรงถึงบ้าน

24 มกราคม 2566 2,354

ถอดบทเรียน “ภาษีบ้านเกิด” จากแดนอาทิตย์อุทัย ช่วยเหลือท้องถิ่น แถมให้ของดีส่งตรงถึงบ้าน 


ญี่ปุ่นทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่รอคอยที่จะจ่ายภาษีกันทุกปี 

ในช่วงต้นปีแบบนี้ สิ่งที่เราทุกคนต้องทำก็คงหนีไม่พ้นการจ่ายภาษีกันใช่ไหม เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ประชาชนทุกคนจะต้องทำในทุกประเทศเพื่อนำเงินไปพัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างระบบสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชน แต่ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่าในประเทศอื่นๆ เขามีโมเดลภาษีกันอย่างไร แตกต่างจากเราไหม หรือมีโมเดลภาษีแบบไหนที่น่าสนใจสามารถคืนผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

หนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่มีโมเดลการจ่ายภาษีที่น่าสนใจซึ่งเราแอบเกริ่นเปิดไปช่วงแรกนั่นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่มี “ภาษีบ้านเกิด” (Hometown Tax) หรือ Furusato Nozei ซึ่งเขียนในภาษาญี่ปุ่นว่า ふるさと納税 เป็นโมเดลที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกสนุกและเต็มใจกับการจ่ายภาษี โดยโมเดลนี้เริ่มประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 ในสมัยนายกชินโซะ อาเบะ ตามจุดประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการบริจาคให้กับท้องถิ่นโดยมีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลโดยตรง

ช่วงก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเองก็เคยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เพราะคนหนุ่มสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความหวังพากันอพยพเข้ามาในเมืองเพื่อสร้างโอกาสที่ดีให้กับเส้นทางชีวิตของตัวเอง ทำให้พื้นที่ในชนบทเหลือแต่ผู้สูงวัยจนขาดคนรุ่นใหม่ที่เป็นแรงสำคัญในการพัฒนาเมือง แถมเงินอุดหนุนจากส่วนกลางก็ยังไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาท้องถิ่นในระยะยาว จึงเป็นที่มาของภาษีบ้านเกิดนี้ ที่ผู้บริจาคไม่เพียงแค่สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้เท่านั้น แต่ยังดึงดูดด้วยการให้สินค้าขึ้นชื่อต่างๆ เป็นการตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นของดีประจำเมือง ผลไม้ตามฤดูกาล วัตถุดิบสำหรับอาหาร ไปจนถึงมื้ออาหารแสนพิเศษแบบ Chef’s Table โดยเชฟชื่อดังประจำเมืองนั้นๆ มาถึงตรงนี้เชื่อเลยว่าสายกินจะต้องสนใจกันขึ้นมาแน่นอน 

แต่โมเดลภาษีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกจ่ายให้กับบ้านเกิดของเราเพียงเท่านั้น คนญี่ปุ่นสามารถเลือกจ่ายได้อย่างอิสระ ซึ่งในบางครั้งก็มีการจ่ายให้กับพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นหลังจากที่เมือง Kumamoto จังหวัด Kumamoto ประสบกับปัญหาแผ่นดินไหว ท้องถิ่นก็ได้มีการระดมทุนสำหรับช่วยเหลือผ่านภาษีบ้านเกิด โดยที่ของตอบแทนในครั้งนี้ผู้บริจาคก็จะได้รับเป็นเซรามิกที่แตกแล้วแต่ถูกนำกลับมาเชื่อมผสานด้วยทองคำตามเทคนิควาจิมะ 

หลังจากโมเดลภาษีบ้านเกิดประสบความสำเร็จ ก็ทำให้ท้องถิ่นแต่ละจังหวัดมีการพัฒนามากขึ้น เช่น เมือง Tara – Cho จังหวัด Saga ซึ่งเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกษตรกรเพราะมีแต่ผู้สูงวัยในพื้นที่ เมื่อได้รับเงินจากภาษีบ้านเกิดจำนวน 742 ล้านเยน ท้องถิ่นจึงได้นำมาปรับปรุงพื้นดินจากที่เคยลาดชันให้ราบเรียบขึ้นมา เพื่อให้ปู่ย่าตายายในจังหวัดยังสามารถทำการเกษตรต่อได้ และยังนำมาสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่อีกด้วย

ข้อดีอีกอย่างของภาษีบ้านเกิดนี้ก็คือช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันแบบสร้างสรรค์ ที่ในแต่ละท้องถิ่นจะต้องพยายามหาของดีมาเพื่อนำเสนอตัวเอง อย่างเช่นในเมือง Mukawa จังหวัด Hokkaido ที่ในตอนแรกได้นำเสนอของตอบแทนเป็นแตงโม Hobetsu และปลา Shishamo ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อ แต่เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ อาจจะยังดูไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก เมือง Mukawa จึงได้ตัดสินใจงัดไม้เด็ดเปลี่ยนของตอบแทนเป็นแบบจำลองไดโนเสาร์เท่าขนาดจริงขึ้นมา!

โดยแบบจำลองนี้มาจากฟอสซิลของ Kamuysaurus Japonicus ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในเมือง Mukawa แห่งนี้ มีความยาวอยู่ที่ 7.5 เมตร กว้าง 4.5 เมตร สูง 2.8 เมตร และสำหรับใครที่มองว่าแบบจำลองขนาดเท่าตัวจริงแบบนี้ยิ่งใหญ่อลังการเกินไปก็ไม่ต้องกลัว เพราะสามารถเลือกขนาดจำลองที่เล็กลงเหลือ 1 : 5 แทนได้เช่นกัน

เรียกได้ว่าภาษีบ้านเกิด เป็นรูปแบบภาษีที่ทำให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบและยินดีที่จะจ่ายโดยแท้จริง เพราะไม่เพียงแค่ได้รับการลดหย่อนหรือได้ของดีตอบแทนเท่านั้น แต่เรายังสามารถเลือกวัตถุประสงค์ในการบริจาคได้ด้วย เช่น เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อการแพทย์และสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ 

ด้วยความสำเร็จที่ทำให้เงินบริจาคสามารถกระจายสู่ท้องถิ่นได้อย่างมีคุณภาพนี้ ทำให้หลายประเทศได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งตอนนี้หลายๆ หน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เพราะเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.bangkokbiznews.com/business/1009769 
https://bit.ly/3VrlDJ9
https://www.tsunagulocal.com/th/44039/
https://www.marumura.com/kamuysaurus-japonicus-mukawa-hokkaido/