สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

การเงินสีเขียว (Green Finance) ท่ามกลางภาวะโลกเดือด

8 กันยายน 2566 6,662

การเงินสีเขียว (Green Finance) ท่ามกลางภาวะโลกเดือด

สภาวะของโลกที่เราอาศัยในปัจจุบันยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ความเปลี่ยนแปลงนี้รวมถึงอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 60 ปี เป็นความร้อนที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

 

ทุกท่านคงได้ยินคำว่า “ภาวะโลกร้อน” มานาน จนคุ้นชินกับคำนี้ และทราบดีว่าเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่คู่โลกมานาน ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไป วิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้ยังไม่เคยจางหายไป ยิ่งมีผลจากการกระทำของมนุษย์ที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้วิกฤตนี้เติบใหญ่อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะคาดคิดได้ หลายอย่างเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงการเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” ตามที่นายอันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “ขณะนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ศักราชใหม่ในยุคภาวะโลกเดือดแทน” นอกจากนี้ องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกได้รายงานว่าเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นสามสัปดาห์ที่ร้อนที่สุด ไม่เคยอุณหภูมิสูงขนาดนี้และสูงต่อเนื่องมาก่อน ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุณหภูมิโลก อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือ อุณหภูมิของมหาสมุทรและน้ำทะเลสูงที่สุดและร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกไว้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่าความร้อนเพิ่มขึ้นทั้งพื้นดินและพื้นน้ำ ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีการรณรงค์เพื่อพยายามรับมือกับภาวะนี้ แต่ยังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเลวร้าย สำหรับในประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มเผชิญกับภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภัยแล้ง และพายุ เนื่องจากความผิดปกติของสภาพอากาศ จากสถานการณ์ความร้อนที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มากขึ้น ดังนั้น การหาวิธีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน

 

จากวิกฤตสิ่งแวดล้อมภาวะโลกเดือดที่เกิดขึ้นในระดับโลก ภาคธุรกิจจึงควรเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการลดวิกฤตต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น มิใช่มุ่งเน้นเพียงแค่การเติบโตทางธุรกิจและผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการใช้หลักธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย ดังนั้น แนวคิดด้าน ESG ซึ่งย่อมาจาก E = Environment, S = Social และ G = Governance จึงเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์ และช่วยพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แนวคิด ESG จึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดสำหรับนักลงทุนที่ใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนซึ่งถูกนำไปใช้แล้วทั่วโลก

 

อีกหนึ่งเรื่องที่กำลังมาแรงและภาคธุรกิจรวมถึงบริษัทต่างๆ หันมาให้ความสำคัญก็คือ “Green Finance” เครื่องมือของ “โลกการเงิน” ที่สามารถใช้กอบกู้โลกจากวิกฤต Climate Change ได้เช่นกัน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ความหมายของ Green Finance เอาไว้ว่า เป็นการเพิ่มกระแสการเงินไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัย และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนให้ไหลไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจุดสำคัญอยู่ที่การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น คว้าโอกาสในการ “ให้ผลตอบแทน” และ “ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม” ไปพร้อมๆ กัน นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น3

 

ปัจจุบันตลาดทุนในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการระดมทุนเพื่อการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนดังกล่าว ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการออกตราสารหนี้ ดังนี้

1. ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนหรือชำระคืนหนี้สินเดิม (Re-financing) ในโครงการที่มุ่งเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน การป้องกันและควบคุมมลพิษ การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด การเกษตรที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น5 ต่อจากนี้ Green bonds น่าจะเป็นทางเลือกหลักสำหรับ Green Finance

2. ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) จะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการที่เป้าหมายในการพัฒนาสังคม เช่น โครงการเพื่อลดปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา เป็นต้น

3. ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) คือ ส่วนผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond ซึ่งมุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป5

4. ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่เงื่อนไขการให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) จะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

มีรายงานว่า มูลค่าการออก ESG Bond ในอาเซียนมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 โดยมีมูลค่ามากถึง 165.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าการออก ESG Bond ของปี 2020 ที่ 91.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ 69% ของ Green bond ออกโดยผู้ออกจากประเทศจีน, 62% ของ Social bond ออกโดยผู้ออกสัญชาติเกาหลีใต้ และ Sustainability bond ที่ออกโดยประเทศอาเซียนมีสัดส่วน 17% ของมูลค่าคงค้าง Sustainability ทั้งหมดใน ASEAN สำหรับในประเทศไทย นับตั้งแต่มีการออก ESG Bond ครั้งแรก เมื่อปี 2562 มูลค่าการออก ESG Bond ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากยอดการออกที่ 29,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาที่ 173,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 และมีขยายตัวเกือบ 6 เท่าในช่วง 3 ปี รวมทั้งผู้ออกจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้สำหรับโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากมาย เช่น การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างเครื่องมือทางการเงินส่วนหนึ่งที่ใช้สำหรับ Green Finance เช่น กองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว (Green equity funds) คือกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในโครงการที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนสามารถรวมเงินลงทุนเพื่อลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ได้ตกลงกันไว้ ใน 15 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ Green equity funds มีการใช้กันเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การกู้ยืมสีเขียว (Green loans) คือการกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้สีเขียว ถึงแม้ว่า Green bonds, Green equity funds และ Green loans จะช่วยเปิดทางให้นักลงทุนสามารถลงทุนโครงการที่มีความยั่งยืน แต่การที่จะมีเงินทุนเพียงพอกับจำนวนที่คาดว่าจะต้องใช้ จำเป็นต้องมีเครื่องมือทางการเงินอื่นเข้ามาช่วยด้วย ซึ่งเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้อาจรวมถึงสินค้าสีเขียวต่างๆ เช่น การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์สีเขียว (Green securitization) ทำให้สามารถรวมกลุ่มการกู้ยืมเงินขนาดเล็กเข้าไว้ด้วยกันเพื่อดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ และการเช่า/การเช่าซื้อสีเขียว (Green leasing/renting) เช่น การเช่าซื้อสินทรัพย์ การเช่าซื้อรถยนต์ การเช่าซื้อพลังงาน และการจำนองสีเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นเช่น การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) ประกันด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate insurance) และตราสารหนี้ที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Transition and sustainability bonds) เป็นต้น

 

เห็นได้ชัดเจนว่า Green Finance แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เรื่องนี้เป็นเทรนด์ในระดับโลกที่เดินหน้ามาอย่างยาวนานแล้วในต่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่า “โลกการเงิน” ที่เป็นเสาหลักของทุนนิยมเองก็สามารถกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยโลกแก้ไขปัญหา Climate Change ที่อาจทำให้อารยธรรมมนุษย์สูญสิ้นได้ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงภาคเอกชนที่ต้องจับมือสร้างมาตรฐานร่วมกัน ขับเคลื่อนไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ให้ได้ในปี 2050 โดยใช้ Green Finance เป็นเครื่องมือสำคัญ

 

หากท่านเป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมเกี่ยวกับด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกำลังต้องการผู้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นวัตกรรมของท่านพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศอย่างยั่งยืน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” (Focal Conductor) โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนท่านให้กลายเป็นองคาพยพสำคัญของประเทศ ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สร้างสังคมฐานความรู้อย่างยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ NIA ยังขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการรังสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนด้วยการเปิดรับสมัครโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขาด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย อ่านรายละเอียดและประกาศรับสมัครได้ที่ https://social.nia.or.th/2023/open67/

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

 

บทความโดย
อธิชา ชูสุทธิ์ (ปอม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)