สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Destination for Growth? อินเดียในปีที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ความท้าทายหรือโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต

12 เมษายน 2566 2,199

Destination for Growth? อินเดียในปีที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ความท้าทายหรือโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต

สะบัดส่าหรี สะกดสายตาของนักลงทุนทั่วโลกฉบับอินเดีย
ในวันที่จำนวนประชากรขยับแซงประเทศจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก

ในที่สุดก็เป็นไปตามที่หลายสำนักคาดการณ์ เมื่อ “อินเดีย” หนึ่งในประเทศที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ สามารถโค่นจีนลงได้ด้วยจำนวนประชากรตามคาดการณ์ 1.417 พันล้านคน ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อมิติสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ไปจนถึงระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ในขณะเดียวกันก็คาดหวังไปถึงการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการจากภาครัฐที่จะมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งน้ำสะอาด อาหาร เครือข่ายไฟฟ้า ระบบสาธารณสุข รวมถึงการศึกษา

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรในอนาคต สอดคล้องกับตัวชี้วัดการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index : GII) ในเรื่อง ขนาดตลาดภายในประเทศ (Domestic Market Scale) อินเดียเป็นผู้ครองแชมป์ร่วมกับอีกหลายๆ ประเทศ เช่น จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อีกทั้ง World Population Review คาดการณ์ว่า ประชากรของอินเดียจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีกจนถึงประมาณปี 2060 ซึ่งสวนทางจากประเทศอื่นที่กำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ

อินเดียยังถูกจับตามองในฐานะประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรง เห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Products : GDP) ที่สูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2023 อยู่ที่ 6.1% จากข้อมูล Invest India ได้แสดงให้เราเห็นถึงอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Inflow) ก็ยังสูงถึง 83.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขทั้งหมดที่ว่ามาเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอินเดียที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ แต่หากจะบอกว่าเพราะจำนวนประชากรจึงทำให้อินเดียน่าสนใจ ก็คงจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด

เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้อินเดียเป็นอีกหมุดหมายสำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชีย ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับศักยภาพของคนซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้ว สังเกตได้จากหลายบริษัทระดับโลกล้วนแต่มีผู้นำเป็นชาวอินเดียทั้งสิ้น โดยเฉพาะฝั่งบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง Google Microsoft หรือ Mastercard สิ่งนี้เป็นเพราะสภาพสังคมที่บางส่วนยังคงเหลื่อมล้ำ การมีเส้นแบ่งชนชั้นวรรณะ ทำให้ผู้คนพยายามขวนขวายเอาตัวรอดผ่านการศึกษา ซึ่งวิชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็คือ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) จึงทำให้อินเดียมีนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่สำคัญสัดส่วนประชากรยังอยู่ในกลุ่มเยาวชนไปจนถึงวัยทำงาน จึงเป็นการแสดงความพร้อมในการป้อนบุคลากรที่มีศักยภาพเข้าสู่สายพานการผลิตสินค้า และสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่มีพื้นฐานการคิดเชิงตรรกะ

เมื่อทรัพยากรสำคัญอย่างทุนมนุษย์มีความพร้อมต่อความต้องการของตลาด สามารถนำไปสู่การต่อยอดเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาให้มีศักยภาพอย่างเข้มข้น อินเดียจึงมีโปรแกรมที่ชื่อว่า National Industrial Corridor Program ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองทั้ง 11 แห่ง ให้มีความพร้อมทั้งเป็นฐานการผลิตคล้ายกับโครงการย่านนวัตกรรมของประเทศไทย โดยที่หนึ่งในนั้นคือ “บังคาลอร์” ซึ่งได้ถูกวางไว้ให้เป็นเมืองต้นแบบในการส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาด้านอุตสาหกรรมไอที จนทำให้เห็นผลแห่งความสำเร็จ เพราะจากการจัดอันดับตัวชี้วัดของ GII อินเดียถือเป็นอีก 1 ประเทศที่มีการส่งออกอุปกรณ์ไอทีได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทุกหน่วยงาน ซึ่งไม่เพียงแค่ต้องสร้างคนเก่งและสังคมที่พร้อมให้โอกาส แต่ต้องมีการเกื้อหนุนจากฝั่งของภาครัฐ ตามที่ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ได้ดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง มีนโยบายที่ประกาศว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจของอินเดีย ให้ถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุนเป็นหลัก (Investment-led Growth) โดยมีการส่งเสริม โครงการ “เมค อิน อินเดีย” (Make in India) ที่เป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นการผลิตภายในประเทศผ่านหลายกลุ่มอุตสาหกรรม สู่ “นโยบาย “Buy in India” ที่ให้การสนับสนุนภาคเอกชนและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเพื่อสร้างอินเดียให้กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต

แม้ว่าเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกยังคงมีความท้าทาย แต่ด้วยแนวโน้มของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกับการสร้างผลผลิตทางนวัตกรรม ยิ่งทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่น่าติดตามต่อไปว่าจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกประเทศได้หรือไม่ แต่จากการประเมินของ GII ผ่านตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลกำไรของ VC ที่เข้ามาลงทุน ซึ่งอินเดียได้พุ่งขึ้นสู่อันดับ 6 ของโลก และจากการประเมินในภาพรวม อินเดียยังเป็นมือวางอันดับ 1 จากการจัดอันดับประเทศในกลุ่มเอเชียกลาง (Central & Southern Asia Region) อีกด้วย นับเป็นสัญญาณที่ดีที่อินเดียอาจจะกลายเป็นประเทศที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่ออีกหลากประเทศ

ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นการพัฒนาในเชิงปริมาณควบคู่ไปกับคุณภาพได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ “อินเดีย” สามารถพลิกสู่บทบาทตัวเด่นในฐานะผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น นำมาสู่การพัฒนาระบบการศึกษา และฝีมือแรงงาน โดยที่สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่แค่ความท้าทาย แต่กลับกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งถูกนำไปต่อยอดโดยการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการลงทุน เพื่อจะก้าวขึ้นมามีอำนาจในการต่อรองกับประเทศอื่นๆ ฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.youtube.com/watch?v=9yh-qV2OTRQ
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-01-18/india-s-population-overtakes-china-to-become-world-s-biggest-analysts-estimate
https://worldpopulationreview.com/countries/india-population
https://www.investindia.gov.in/why-india
https://www.nicdc.in/index.php/about/overview
https://kindconnext.com/kindnomics/bangalore-incredible/
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/122948
https://bit.ly/40Vixkw