สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

The Future of Maejo ฉายภาพอนาคต MAID “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้”

บทความ 21 มีนาคม 2565 2,895

The Future of Maejo ฉายภาพอนาคต MAID  “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้”

 

อนาคตใหม่ของแม่โจ้! กับการพัฒนา “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” โดย NIA 

 

แม่โจ้ในวันนี้ที่ทุกคนรู้จัก พูดได้ว่ามีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีสถาบันการศึกษาวิจัยด้านการเกษตรมาอย่างยาวนานและครอบคลุมในหลายสาขา อีกทั้งยังมีพื้นที่เกษตรกรรมที่กว้างขวาง มีการเชื่อมโยงกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ทำให้เหมาะสมกับการต่อยอดนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก

 

ประกอบกับ NIA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา “ย่านนวัตกรรม” ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเป็นการขยายองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้มากขึ้น ล้อไปกับการพัฒนาทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน จึงนำมาสู่ภาพอนาคตใหม่ของแม่โจ้ ในชื่อว่า “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” หรือ MAID ซึ่งย่านนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงกายภาพยังไงบ้าง เราพร้อมฉายให้ทุกคนได้เห็นแล้ว 

“ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” ครอบคลุมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นศูนย์กลาง

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับแม่โจ้ในภูมิทัศน์ใหม่ เราขออธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจว่า “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” หรือในชื่อ “Maejo Agriculture Innovation District Development (MAID)” เกิดขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านนวัตกรรม เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการรวมตัวกันทั้งบุคลากรในสถาบันการศึกษา ชุมชน กลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ให้กับพื้นที่นี้มากขึ้น

 

บนพื้นที่กว่า 6.27 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,918 ไร่ ครอบคลุมเขตเทศบาลเมืองแม่โจ้ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในภาคการเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นได้จริง ผ่านการพัฒนาทั้งในเชิงนโยบาย การปรับปรุงพื้นที่ และอีกหลากหลายโครงการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว 5 ปี 10 ปี 20 ปี ตามลำดับ

สร้างพื้นที่ใหม่เน้นวิจัยนวัตกรรมที่พร้อมส่งต่อให้หน่วยงานโดยรอบ

ชาวแม่โจ้เตรียมตัวไว้เลย เพราะหนึ่งในแผนพัฒนาที่ NIA อยากให้ทุกคนได้รู้จักคือการสร้างพื้นที่ใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการพัฒนาเชิงกายภาพในระยะ 10 ปี เพื่อส่งเสริมการวิจัย ทดลองนวัตกรรม และเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานนวัตกรรม ซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มมูลค่าการลงทุนด้านนวัตกรรมให้กับพื้นที่แม่โจ้ โดยจะมีการปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นพื้นที่ดังนี้ 

 

1. “Maejo Innovation Center” ศูนย์กลางของย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ เป็นศูนย์บริการติดต่อประสานงานสำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือผู้ที่สนใจนวัตกรรม จุดเด่นของศูนย์นี้คือมีบรรยากาศที่ร่มรื่น กว้างขวาง ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 5,447 ตารางเมตร และอยู่ใกล้กับด้านหน้ามหาวิทยาลัย เดินทางมาง่าย ไม่ลึกลับซับซ้อน  
 
 2. “Transition Zone : core area” หรือพื้นที่ประลองความคิดและแสดงผลงานนวัตกรรมด้านอาหาร ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่พร้อมเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจ เพิ่มโอกาสให้ผลงานนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ด้วยขนาดพื้นที่ประมาณ 5,522 ตารางเมตร มีทั้งพื้นที่ Indoor Space และ Outdoor Space แบบกึ่งสาธารณะ (Semi Public) 


 3. “Farm for Feed” พื้นที่สำหรับการพัฒนานวัตกรรมด้านการประมง เน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์น้ำ ด้วยทัศนียภาพที่เป็นมิตรกับทุกคน เพราะพื้นที่นี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้พื้นที่โดยรอบได้ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 7,978 ตาราเมตร
 
 4. “Open Farm Space and Workshop” พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 59,353 ตารางเมตร เป็นพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรล้านนา ซึ่งทั้งสองพื้นที่จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน พื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่จะเน้นพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยี IoT Big Data เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือพลังงานทดแทนในการผลิต และมีต้นแบบโรงเรือนอัจฉริยะ Green House ส่วนพื้นที่เกษตรล้านนาจะมีการปรับปรุงโซนเดิมที่เป็นร้านกาแฟให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับกลุ่ม Young Smart Farmer 

 

โดยพื้นที่เหล่านี้พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมต่างๆ สู่การใช้งานจริงกับ Supportive Outside Area หรือหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเกษตรอำเภอสันทราย ศูนย์วิจัยพืชไร่ สถานีทดลองยาสูบแม่โจ้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการภายในย่าน 

เปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหารส่งถึงมือผู้บริโภค

ไม่จบแค่การพัฒนานวัตกรรม! เพราะการทำให้ย่านนั้นๆ ประสบความสำเร็จต้องอาศัยกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่าง การค้าขาย เพื่อเป็นการเติมเต็มรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สมบูรณ์ NIA จึงปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมเพื่อการขยายผลทางเศรษฐกิจในย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้เช่นกัน ซึ่งจะมีทั้งการสร้างพื้นที่ใหม่และปรับปรุงพื้นที่เดิมให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดคนหลายกลุ่มหลายวัยให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ดังนี้

 

1. “Organic Food Market” ตลาดสินค้าเกษตรหรือพื้นที่อาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ใหม่ใกล้พื้นที่ยอดฮิตของนักศึกษาที่เรียกกันว่าโซนเหลือง แหล่งของกินที่ตั้งอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยและเป็นจุดที่เชื่อมกับส่วนบริหารของมหาวิทยาลัยและหอพักนักศึกษา โดยมีการออกแบบพื้นที่ใหม่ที่ใส่ใจทุกคนด้วยวิธีคิด Universal Design เน้นพื้นที่สีเขียวแบบโปร่งโล่ง ทันสมัย ปลอดภัย ให้ทุกคนได้อิ่มเอมกับสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพจากคนในพื้นที่
 

2. “Gen ZY Zone” พื้นที่สีเขียวเพื่อทุกคนในชุมชน เป็นการปรับปรุงพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งปัจจุบันกำลังซบเซาจากวิกฤตโรคระบาดที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการไป โดยจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ สนามหญ้าโล่งกว้าง สนามเด็กเล่น พื้นที่ปิกนิก ลานเล่นสเก็ต พื้นที่ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงมีพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษเป็นของตัวเอง ในพื้นที่เกือบ 2 ไร่ โดยมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยดูแลพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบยั่งยืน เพิ่มชีวิตชีวาให้กับคนในพื้นที่ 

 

แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงโมเดลการพัฒนาย่านที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เห็นว่า ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้พร้อมฉายแสงด้วยนวัตกรรม ทรัพยากร บุคลากร ที่ตัวเองมีให้งอกเงยอยู่ในใจคนทั่วประเทศรวมถึงระดับโลกได้ และวันหนึ่งอาจกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่คิดถึงเรื่องการเกษตรเมื่อไหร่ก็ต้องคิดถึงที่นี่ 

 

ทำความรู้จัก “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” เพิ่มเติมได้ที่นี่ > https://www.facebook.com/MAID2021