สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“การมองอนาคต” ศาสตร์ใหม่ที่องค์กรไทยไม่ควรมองข้าม

บทความ 1 พฤศจิกายน 2564 4,342

“การมองอนาคต” ศาสตร์ใหม่ที่องค์กรไทยไม่ควรมองข้าม


ในจักรวาลมาร์เวลเราได้เรียนรู้ว่านอกจากเส้นเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ Sacred Timeline แล้ว ยังมีความเป็นไปได้ของอนาคตรูปแบบต่าง ๆ ซ่อนอยู่อีกมากมาย เมื่อกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เราจะพบว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ทำนาย (predict) ได้ยากเนื่องจากมีตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้มากมาย ทำให้แม้แต่สมการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนที่สุด หรือคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมากที่สุดก็อาจไม่สามารถคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังนั้น ในการแก้ปัญหาโลกแตกนี้ หลายองค์กรได้ประยุกต์ใช้กระบวนการมองอนาคต (Foresight) เข้ามาประกอบกับการวางแผนกลยุทธ์และเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ทั้งเหตุการณ์ที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติให้ก้าวข้ามความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

ทำความรู้จักกับการมองอนาคต

การมองอนาคต เป็นกระบวนการในการวางแผนองค์กรที่มีจุดเริ่มต้นจากการคิดภาพฉากทัศน์ (scenario) ทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้แต่ละองค์กรทบทวนแผนธุรกิจและเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด หรือ การเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดแต่ส่งผลกระทบสูง เช่น การระบาดและกลายพันธุ์ของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้น จุดเด่นของการมองอนาคต คือ การรวบรวมสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น การเกิดเทคโนโลยีใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว หรือแนวทางการวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการจัดทำภาพฉากทัศน์ในอนาคตที่เป็นไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมองภาพฉากทัศน์พร้อมกันประมาณ 3-5 ภาพ เพื่อถามตัวเองว่าบริษัท องค์กร หรือภาคประชาชน มีความพร้อมในการรับมือกับอนาคตมากน้อยแค่ไหน หากเกิดเหตุการณ์ในแต่ละภาพฉากทัศน์ขึ้น และจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดภาพฉากทัศน์ที่เราต้องการให้เป็น

การปลูกฝังการมองอนาคตในองค์กร

ศาสตราจารย์เรเน่ รอห์เบรค จากโรงเรียนธุรกิจ EDHEC ผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตให้ความเห็นไว้ว่า 

การมองอนาคตเปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจให้แก่บุคลากรในองค์กร สำหรับความเสี่ยงในเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและไม่อาจคาดเดาได้อย่างแม่นยำ โดยเริ่มจากการมองหาสัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เพื่อลดเวลาในการตอบสนองหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนั้นหากส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัท และเพื่อลดเวลาในการหาทางแก้ หรือ การออกผลิตภัณฑ์/บริการ หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสหรือเกิดผลกระทบในแง่ลบกับองค์กร

หากมองสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่าหลายประเทศมีการเตรียมพร้อมเทคโนโลยีการทำวัคซีนรูปแบบใหม่ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้สามารถผลิตและแจกจ่ายวัคซีนได้ในระยะเวลาอันสั้นหลังจากเกิดการระบาดขึ้น ทำให้เรื่องการมองอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม


คำถามสำคัญต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้องค์กรมีการปรับใช้กระบวนการมองอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งศาสตราจารย์เรเน่ ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้ ประการแรกต้องให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจขององค์กรมีส่วนร่วมในกระบวนการมองอนาคตเพื่อนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไปประกอบการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้จริง นอกจากนี้ การมองภาพอนาคตกับเรื่องที่ใกล้ตัวหรือเรื่องที่องค์กรจะต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีหรือโรงงานใหม่ ยังเป็นการฝึกให้องค์กรมีการประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นระบบอีกด้วย ยิ่งหากการตัดสินใจนั้นมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมด้วยอยู่มาก กระบวนการมองอนาคตจะช่วยสร้างผลกระทบด้านบวกให้แก่องค์กรได้อย่างมาก ท้ายสุดกระบวนการมองอนาคตไม่ควรทำเป็นครั้งคราว แต่ควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเปลี่ยนแนวคิดและนิสัยการทำงานของบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรทางธุรกิจ และนำสัญญาณการเปลี่ยนแปลงมาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือทำความเข้าใจกับคนในองค์กร เพื่อให้สามารถลองคิดหรือทดลองทำสิ่งใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในอนาคตอันใกล้


สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตนวัตกรรม โดยมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศการมองอนาคต และเพิ่มศักยภาพการมองอนาคตให้กับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยและภูมิภาค ผู้ที่สนใจศาสตร์การมองอนาคตนวัตกรรมสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ https://ifi.nia.or.th/


แหล่งที่มา


บทความโดย กฤษภาส กาญจนเมฆานันต์ (คริส) ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม