สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA จับมือ ส.อ.ท. โชว์ 10 ดีพเทคสตาร์ทอัพ เพิ่มดีกรีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

News 18 ธันวาคม 2566 141

NIA จับมือ ส.อ.ท. โชว์ 10 ดีพเทคสตาร์ทอัพ เพิ่มดีกรีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

FTI DeepTech Startup Connext_1.jpg

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนิน “โครงการส่งเสริมและเชื่อมโยงสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกสู่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมไทย หรือ FTI DeepTech Startup Connext” ขึ้น โดยเปิดเวทีโชว์ 10 ผลงานดีพเทคสตาร์ทอัพ ทดสอบการใช้งานกับภาคอุตสาหกรรม ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้จริง พร้อมสร้างความร่วมมือต่อยอดธุรกิจ ขยายตลาดและเปิดรับเงินลงทุน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ณ ห้อง Town Hall S ชั้น 7 อาคาร True Digital Park ฝั่ง East
 
ภายในงานมีการนำเสนอผลงานของสตาร์ทเทคโนโลยีเชิงลึกของโครงการ 10 ทีม ที่พัฒนาศักยภาพกลยุทธ์ด้านการเติบโต และสร้างโอกาสการจับคู่ธุรกิจให้ได้รับการต่อยอดร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้เกิดการทดสอบการใช้งานในลักษณะ POC (Proof of Concept) เพื่อสร้างความเข้าใจในการประยุกต์การใช้งานเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมได้จริง
 
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักในโครงการนี้ว่า “NIA มุ่งเน้นการสร้างสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และขยายให้เกิดการเติบโต เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ FTI DeepTech Startup Connext 2023 เพื่อเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกให้ตอบโจทย์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งยังมีความต้องการโซลูชั่นสำหรับนำไปแก้ปัญหาในหลากหลายประเด็น ทำให้สตาร์ทอัพสามารถขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักลงทุน ทำให้มีโอกาสได้รับเงินลงทุนขยายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มการลงทุนของทั่วโลกที่วิเคราะห์โดยบอสตันคอลซัลติ้งกรุ๊ป พบว่า ในปี 2022 การลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกมีมูลค่า 3,400,000 ล้านบาท และเกิดการระดมทุนแต่ละครั้งสูงถึง 33,000 ล้านบาท สำหรับในประเทศไทยเอง มีทั้ง VC และ CVC ที่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีเชิงลึกเช่นกัน
 
ด้าน ภก.ดร.เชิญพร เต็งอำนวย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้คัดเลือก 10 สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้งานและต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพ ให้สามารถปรับกลยุทธ์ด้านการสร้างตลาด การเตรียมข้อมูลเสนอลูกค้า การเจรจาต่อรอง รวมถึงเทคนิคการทดสอบการใช้งานลูกค้า เพื่อปิดการขายให้ประสบความสำเร็จ ไปพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพได้จับคู่และทำงานจริงร่วมกับบริษัทหรือหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้น
 
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกที่พร้อมขยายการใช้งานกับภาคอุตสาหกรรมทั้ง 10 ทีม มีดังนี้
– ด้านระบบตรวจวิเคราะห์คุณภาพของสินค้าเกษตรด้วยความแม่นยำ ได้แก่
1. Egg-E-Egg : เครื่องตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพไข่ด้วยปัญญาประดิษฐ์
– ด้านระบบบริหารจัดการกระบวนการผลิต ได้แก่
2. BeaRiOt : เซ็นเซอร์ตรวจสอบวิเคราะห์ขั้นสูงในเครื่องจักรและการปฏิบัติงานของกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT)
3. Fuyuutech OEE PAQ Up : ระบบชี้วัดค่าประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร (OEE-Overall Equipment Effectiveness)
 
– ด้านระบบบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงคาดการณ์เพื่อลดความเสียหายของเครื่องจักร ได้แก่
4. Factorium : ระบบบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของโรงงานและเทคโนโลยี Machine Learning/AI
5. Merlinium : ระบบคาดการณ์ในด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยเซ็นเซอร์และปัญญาประดิษฐ์ AIoT (Predictive Maintenance from AIoT sensor)
6. Qonnect : ระบบแจ้งเตือน Breakdown ก่อนเครื่องจักรเสีย ด้วยการใช้ Machine learning และ IoT
 
– ด้านระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูง ได้แก่
7. BioCircuit : ระบบบำบัดน้ำเสียวงจรไฟฟ้าชีวภาพ (BioCircuit) สำหรับน้ำเสียชนิดรุนแรง
8. Dialute : ระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูงและใช้ระยะเวลาสั้นด้วยกระบวนการออกซิเดชันที่กระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electro-activated Oxidation Processes)
– การเปลี่ยนกลิ่นเป็นดิจิทัลที่ตรวจวัดได้ ได้แก่
9. MUI Robotics : จมูกอิเล็กทรอนิกส์แปลงกลิ่นเป็นข้อมูลนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สัญญาณเตือนภัยจากกลิ่น
– การลดภาระงานบัญชีด้วยเทคโนโลยี ได้แก่
10. ZTRUS : เทคโนโลยี AI-OCR ที่สามารถแปลงข้อมูลจากเอกสารรูปภาพ เข้าไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล สำหรับจัดการเอกสารทางบัญชี เพื่อลดต้นทุน
 
พร้อมด้วยคุณธนพงษ์ ณ ระนอง ประธานคณะทำงาน Startup ส.อ.ท. ได้กล่าวว่า โครงการนี้ เร่งพัฒนาการเติบโตของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก ให้มีกลยุทธ์การสร้างตลาดที่นำไปต่อยอดร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบ Business to Business (B2B) ยังมีช่องว่างที่สามารถเติบโตได้อีกมาก โดยจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
 
สำหรับคณะกรรมการที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินและให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพในวันนี้ ได้แก่ 1) คุณนฤศันส์ ธันวารชร Acting CEO and head of investment บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด 2) คุณต่อตระกูล วัฒนวรกิจกุล ผู้จัดการธุรกิจนวัตกรรมและพลังงานใหม่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) 3) คุณภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ CEO & Founder at GreenRocket Impact Venture Capital 4) คุณจุฑามาศ งามวัฒนา Head of True Incube และ 5) คุณสิรพัฒน์ ชนะกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
สรุปผลการพิจารณาตัดสินรางวัล ที่ได้คะแนนสูงสุดจากคณะกรรมการ รวมกับคะแนนสะสมตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งเป็นผลงานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจที่พร้อมเติบโต ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ คือ ทีม Factorium รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ทีม Fuyuutech และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ ทีม Qonnect
 
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารของ NIA นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA และ ผู้บริหารจาก ส.อ.ท. เข้าร่วมงาน รวมถึงได้รับการตอบรับจากบริษัทชั้นนำของประเทศเข้าร่วมงานและแสดงความสนใจพูดคุยกันในรายละเอียดกันเพิ่มเติม โดยมุ่งหวังให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ และเกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง นับได้ว่าเป็นการสร้างโอกาสที่จะขยายตลาดให้เกิดการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพ อีกด้านหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานภาครัฐ ก็ได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่นจากฝีมือสตาร์ทอัพของไทย นับได้ว่าจะช่วยสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเติบโตไปด้วยกัน
 
ทั้งนี้ หากมีบริษัท นักลงทุน หรือหน่วยงานใด ที่สนใจในผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกทั้ง 10 ราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิรพัฒน์ ชนะกุล โทร 091-541 5542 อีเมล [email protected] และ คุณศิริภัสร์ สุทธิโมกข์ โทร 092-263 5600 อีเมล [email protected]