สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“ESG” แนวคิดความยั่งยืนที่องค์กรควรใช้เป็นเครื่องมือ หรือแค่เทรนด์ตามกระแส

บทความ 3 มิถุนายน 2565 31,580

“ESG” แนวคิดความยั่งยืนที่องค์กรควรใช้เป็นเครื่องมือ หรือแค่เทรนด์ตามกระแส

ระยะเวลากว่า 2 ปีที่หลายประเทศทั่วทุกมุมโลกต่างก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนโลกเป็นอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าแทบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว แต่หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้ โลกของเราก็พบเจอกับวิกฤตการณ์มาหลากหลายรูปแบบที่รุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรามาอย่างยาวนาน NIA อยากชวนมาลองทำความรู้จักกับเทรนด์สุดฮิตที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ “ESG (Environmental, Social, Governance)” มาดูกันว่าทำไมเทรนด์นี้จึงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน และจะเข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนได้อย่างไร

 

ทำไมต้อง ESG

จากวิกฤตที่โลกต้องเผชิญในปัจจุบันมีปัจจัยหลักมาจากการอุปโภคบริโภคอย่างสิ้นเปลืองของผู้คนส่งผลให้ทรัพยากรทั่วโลกเข้าสู่สภาวะขาดแคลน แนวโน้มประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการเสียสมดุลทางชีวภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น การคอร์รัปชั่น รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง จากรายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 (The Global Risks Report 2021 16th Edition) ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum (WEF) เผยให้เห็นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกของเรามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรง ความล้มเหลวของการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ ซึ่งล้วนส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่ภาคประชาชนเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจอีกด้วย เมื่อการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะผลกำไรและการลดต้นทุน อาจไม่ตอบโจทย์กับบริบทของโลกยุคปัจจุบันและยุคต่อจากนี้ได้อีกต่อไป ธุรกิจจึงจำเป็นจะต้องหาทางรอดและปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตไปได้อย่างเกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายและสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิดที่ใช้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งได้เริ่มมีบทบาทและได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental : E) มิติสังคม (Social : S) และมิติธรรมาภิบาล (Governance : G) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ESG” นั่นเอง

 

E = Environment (สิ่งแวดล้อม) คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ

S = Social (สังคม) 
คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงาน ไปจนถึงลูกค้า ชุมชน และผู้ที่ทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

G = Governance (ธรรมาภิบาล) 
คือ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม

 

 

ปัญหา Climate Crisis การขาดแคลนทรัพยากรทางธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

 

สิ่งแวดล้อมคือวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสนใจ

จากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยังไม่นับรวมการตัดไม้ทำลายป่าและการเกิดไฟป่าที่ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 พุ่งทะยานสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ด้านคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ระบุว่าประชากรกว่า 420 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยต้องประสบกับภัยแล้งที่สุดในรอบ 40 ปี แต่ช่วงปลายปี 2563 ประเทศไทยกลับต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงฉับพลัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “Climate Change” ที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นสู่ “Climate Crisis” นี้เอง อาจทำให้โลกต้องเจอกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่มนุษย์เองก็ไม่อาจจินตนาการได้ ปัจจุบันนานาประเทศรวมถึงประเทศไทยเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาด้าน ‘สิ่งแวดล้อม (Environmental; E)’ มากขึ้น โดยมีไอเดียในการพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย ดังเช่นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบินและอวกาศของประเทศแคนาดาอย่าง “บอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier)” ที่ได้นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องยนต์ มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องบินเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมทั้งเป็นผู้นำในการนำแนวคิดนวัตกรรมมาใช้ออกแบบเครื่องบิน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและวัสดุขั้นสูงเพื่อปรับปรุงความทนทานและลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ทำให้สามารถลดการปลดปล่อยของมลพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ เช่นเดียวกับแนวคิดของบริษัท Alam Flora จากประเทศมาเลเซีย ที่ได้จัดตั้งศูนย์บริการแบบครบวงจร (one-stop) และ 3R on Wheels สำหรับจัดการขยะรีไซเคิล ให้ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเปลี่ยนขยะเป็นเงินสดและแลกเป็นคะแนน Petronas Mesra ซึ่งสามารถใช้เป็นสิทธิประโยชน์ภายในสถานีเติมน้ำมันได้  

 

โรงงานผลิตเครื่องบินธุรกิจระดับโลก 
ณ เมือง Downsview Toronto Ontario ประเทศแคนาดา

ศูนย์บริการแบบ one-stop และ 3R on Wheels สำหรับจัดการขยะรีไซเคิล โดย บริษัท Alam Flora

 

บุคลากรในองค์กรเป็นทรัพยากรสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม

จากข้อมูลของ MSCI ESG Research LLC ได้ทำการสำรวจนักลงทุนกลุ่ม “Millennials” หรือ “Gen Y” ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีทั้งรายได้และกำลังซื้อชี้ให้เห็นว่า ประชากรร้อยละ 95 ของคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้วยหลักการการลงทุนอย่างยั่งยืนในกลุ่ม ESG ในขณะเดียวกันผู้บริโภคในกลุ่ม “Zillennials” หรือ “Gen Z” ก็กำลังเติบโตและเริ่มเข้ามามีบทบาททั้งต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงภาคการลงทุนมากขึ้น ซึ่งผลจากการเติบโตภายใต้การศึกษาที่ดีขึ้นกว่ายุคที่ผ่านมานี้เอง ส่งผลให้ประชากรใน Gen Y Gen Z ไปจนถึง Gen Alpha มีความคาดหวังจากแบรนด์มากกว่าแค่การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคาเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้ธุรกิจมีจุดยืนที่ดีและคำนึงถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย เช่น ผู้บริโภคจะเลือกสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กร ไม่กดขี่และเอารัดเอาเปรียบพนักงาน หรือตัวอย่างนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของพนักงานด้วยบริการแพลตฟอร์ม “ฟิตเนส วีซ่า: สวัสดิการฟิตเนสสำหรับองค์กร” โดยบริษัท เทรน พีทีแอนด์ฟิตเนส พาทเนอร์ จำกัด เป็นตัวอย่างของโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำแนวคิดด้าน ‘สังคม (Social; S)’ ไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทจะรวบรวมฟิตเนสจากหลากหลายแห่งให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ให้พนักงานในองค์กรสามารถเข้าใช้บริการฟิตเนสจากสถานที่ที่ตนสะดวก ซึ่งสามารถตอบโจทย์ทั้งสุขภาพและคุณภาพของบุคลากรในองค์กร ทำให้พนักงานในองค์กรสามารถเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพที่ควรจะได้รับได้เป็นอย่างดี

 

“ฟิตเนส วีซ่า มีจุดเด่นในด้าน Convenient Location ด้วย Network ของ Local Partner มากที่สุดในประเทศไทย”

 

ยิ่งองค์กรโปร่งใสมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มที่จะรับผิดชอบต่อสังคมมากเท่านั้น

มิติ ‘ธรรมาภิบาล (Governance; G)’ อาจฟังดูไม่คุ้นเคยและเข้าถึงได้ยากที่สุดในบรรดามิติ ESG ทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วความหมายที่แท้จริงไม่ได้มีความซับซ้อนอย่างที่คิด ธรรมาภิบาลเปรียบเสมือนฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในองค์กร ให้มีความโปร่งใสเพียงพอในการตรวจสอบหากมีความผิดปกติ มีการกำกับดูแลกิจการเป็นอย่างดี มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ แน่นอนว่าการจะนำเสนอภาพต่อสาธารณชนว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ อาจจะต้องเริ่มต้นจากโครงสร้างองค์กรที่จะเป็นตัวกำหนดกรอบการดำเนินงานของธุรกิจนั้นๆ หากบริษัทมีการคอร์รัปชั่นในองค์กรหรือปฏิบัติต่อพนักงานไม่ดี สังคมก็จะไม่มีความเชื่อมั่นว่าบริษัทนี้สามารถรับผิดชอบต่อสังคมได้ ดังเช่นบทเรียนครั้งสำคัญของบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง ที่ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลว่าโกงการตรวจสอบมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ในปี 2558 ทำให้รถที่ผลิตโดยบริษัทที่ใช้น้ำมันดีเซลจำนวนกว่า 11 ล้านคัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึง 2558 สร้างมลพิษในอากาศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาธรรมาภิบาลที่คณะกรรมการบริษัทไม่ได้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารอย่างเพียงพอ ท้ายที่สุดก็ส่งผลให้ความไว้วางใจที่หน่วยงานกำกับดูแล พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ และบริษัทคู่ค้ามีต่อบริษัทหมดไป และคงใช้เวลาเยียวยาอีกค่อนข้างนานกว่าที่บริษัทจะกลับมามีสถานะความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

เมื่อ “ESG” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของโลกใบนี้

เมื่อโลกที่เราดำรงอยู่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์และปัญหารอบด้าน NIA เชื่อว่า “ESG” ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน ได้ลุกขึ้นมาร่วมมือกันยกระดับให้โลกใบนี้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญของธุรกิจที่มีพื้นฐานและสนใจเรื่องการลงทุนแบบยั่งยืนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในด้านนี้ ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก่อนโดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็ควรจะเริ่มหันมาให้ความสนใจและคำนึงถึงการนำแนวคิด ESG รวมถึงการนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องไปปรับใช้กับการทำงานของบริษัทให้มากขึ้น สำหรับ NIA เองก็ให้ความตระหนักถึงความสำคัญของ ESG และกำลังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนและวางแผนโครงสร้างกลยุทธ์ขององค์กร ที่จะผนวกแนวคิด ESG ให้เข้ากับกระบวนการทำงานภายในองค์กร เพื่อความสามารถในการผลักดัน ESG ให้เป็นวัฒนธรรมหรือค่านิยมขององค์กรต่อไป ซึ่งจะสามารถนำพาและส่งต่อโลกใบนี้ในเวอร์ชันที่ดียิ่งขึ้นให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไปได้ในอนาคต

 

“แก่นแท้การลงทุนของ ESG คือ การสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคมโดยการเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น”

- Hank Smith หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของ The Haverford Trust Company –

 

ที่มาข้อมูล

ขอบคุณรูปภาพจาก

 

บทความโดย
พิชญาภัค เพชรสีสุข (แพรว)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)